น้ำหนักเกินตรงไหน เอาปากกามาวง

น้ำหนักเกินตรงไหน เอาปากกามาวง

Highlight:

  • การประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักนั้น ต้องรู้สาเหตุของภาวะโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐานว่าแท้จริงแล้วเกิดจากอะไร บางครั้งการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายที่ถูกต้องเหมาะสมเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถตอบโจทย์การลดน้ำหนักได้ในคนบางกลุ่ม  
  • ปัญหาการลดน้ำหนักไม่ลงหรือภาวะความอ้วนเป็นปัญหาที่มีสาเหตุร่วมจากหลายปัจจัย และบ่อยครั้งนั้นเกิดจาก "พันธุกรรม" รวมถึงระดับฮอร์โมนบางประเภทในร่างกาย ยา และโรคประจำตัวบางอย่าง  
  • ปัจจุบัน มีการตรวจร่างกายโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วนเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและการตรวจเพื่อดูความสมดุลของร่างกายแบบองค์รวม โดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการและนักโภชนาการ 

ปัจจุบัน พบผู้ที่มีภาวะโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มมากขึ้นทั้งในและและต่างประเทศทั่วโลก ซึ่งภาวะโรคอ้วนนี้มีความอันตรายและนำมาสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง ข้อเข่าเสื่อม กรดไหลย้อน ไขมันพอกตับ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคทางนรีเวช ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และโรคหลอดเลือดสมอง 

อันที่จริงแล้ว มีคนจำนวนมากที่ลดน้ำหนักแล้วประสบความสำเร็จ แต่เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ว่าจะพยายามอย่างไร ก็ "ลดน้ำหนัก" ไม่ลงสักที  รู้หรือไม่ว่า ปัญหาการลดน้ำหนักไม่ลงหรือภาวะความอ้วนเป็นปัญหาที่มีสาเหตุร่วมจากหลายปัจจัย หลายครั้งนั้นมีสาเหตุมาจากการมีระดับ “ฮอร์โมน” ไม่สมดุล และบ่อยครั้งก็เกิดจาก "พันธุกรรม" โดยมียีนและโครโมโซมเป็นตัวกำหนด 

น้ำหนักตัวเท่าไหร่ ถึงเรียกน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน

ค่าดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI) เป็นค่าที่ใช้ชี้วัดว่าร่างกายมีความสมดุลกันของน้ำหนักตัวเทียบกับส่วนสูงหรือไม่ โดยสามารถใช้เป็นเกณฑ์คัดกรองได้ในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ดังนี้

BMI มาตรฐานสากล (ยุโรป) BMI มาตรฐานอาเซียน (เอเชีย) การแปลผล
< 18.5 < 18.5 น้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน
18.5-24.9 18.5-22.9 ปกติ
25-29.9 23-24.9 อ้วนระดับ 1
30-34.9 25-29.9 อ้วนระดับ 2
35-39.9 มากกว่าหรือเท่ากับ 30 อ้วนระดับ 3
มากกว่าหรือเท่ากับ 40 - อ้วนระดับ 4

ปัจจัยการเกิดโรคอ้วน หรือน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน

นอกจากปัจจัยด้านการรับประทานอาหาร การใช้ชีวิต การออกกำลังกาย อายุ รวมไปถึงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมอย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีผลกับภาวะน้ำหนักเกินและการลดน้ำหนัก แต่จริงๆ แล้วปัจจุบันพบว่ายังมีปัจจัยด้านอื่นๆ ที่ส่งผลให้การลดน้ำหนักนั้นไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น ปัจจัยเหล่านี้ ได้แก่ 

  1. พันธุกรรม
    บุคคลบางกลุ่มอาจมีปัญหาความอ้วนที่ "ลดน้ำหนัก" ไม่ลง และความผิดปกติด้านการเผาผลาญสารอาหารบางชนิด ซึ่งเป็นผลมาจากเรื่องของพันธุกรรมหรือยีนเป็นตัวหลักที่เด่นเหนือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ โดยอาจเป็นยีนโรคอ้วนที่ได้รับมาจากพ่อแม่ที่เป็นโรคอ้วน หรือยีนในร่างกายมีการทำงานผิดปกติไปก็เป็นได้ เช่น ยีนควบคุมความอิ่มเสียไป ยีนที่ควบคุมการสร้างไขมันในร่างกายผิดปกติ ยีนโรคเบาหวาน
    รวมไปถึงการที่ในร่างกายของแต่ละคนนั้นมีประสิทธิภาพการเผาผลาญไขมันแล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ไม่เท่ากัน พันธุกรรมจึงอาจส่งผลต่อปริมาณไขมันที่สะสมในร่างกาย อีกทั้งยังมีโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้มีภาวะอ้วนหรือมีรูปร่างอ้วนขึ้นอย่างชัดเจน เช่น พราเดอร์-วิลลี่ ซินโดรhttps://www.nhs.uk/conditions/prader-willi-syndrome/ม (Prader-Willi Syndrome) ผู้ป่วยจะมีอาการกินไม่หยุด กินจุ และมีพัฒนาการช้า
  2. โรคประจำตัวบางอย่าง ยาบางประเภท และภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล
    ภาวะความผิดปกติของร่างกาย การเจ็บป่วย หรือโรคบางโรคอาจส่งผลต่อน้ำหนักตัวและภาวะอ้วนได้ เช่น ภาวะ ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนน้อยเกินไปทำให้เกิดโรคไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroidism) ส่งผลให้การเผาผลาญพลังงานของร่างกายต่ำลงได้ หรือ โรคบางโรค เช่น คุชชิ่งซินโดรม (Cushing’s Syndrome) ทำให้ร่างกายมีฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง ส่งผลให้ร่างกายสะสมไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกายมากกว่าคนทั่วไป
    การรับประทานยาคุมกำเนิดบางชนิดก็ส่งผลให้ร่างกายเกิดการสะสมไขมันมากกว่าคนปกติทั่วไป ยาต้านอาการซึมเศร้าและยาสเตียรอยด์เช่นกัน รวมไปถึงภาวะฮอร์โมนไม่สมดุลในคุณแม่หลังคลอดหรือผู้ที่เข้าสู่วัยทองบางราย ปัจจัยเหล่านี้ต่างทำให้การลดน้ำหนักไม่ประสบความสำเร็จมากเท่าที่ควร

การตรวจวินิจฉัยโรคอ้วน เพื่อหาสาเหตุว่าทำไมจึงลดน้ำหนักไม่ลง

สาเหตุดังกล่าวข้างต้นนั้น นอกจากต้องอาศัยการซักประวัติและการตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้ชำนาญการแล้ว การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมนั้นก็เป็นสิ่งจำเป็นและขาดไม่ได้เช่นกัน 

  1. การตรวจพันธุกรรม
    การตรวจทางพันธุกรรมในปัจจุบันมีความก้าวหน้ามากขึ้น การพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดเกี่ยวกับยีนหรือพันธุกรรม สามารถตรวจค้นพบยีนหลายชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคอ้วน รวมถึงยีนที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหิวและรับประทานอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคอ้วนรุนแรงตั้งแต่เด็ก อีกทั้งผู้ป่วยเหล่านี้ยังมีลักษณะอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีความผิดปกติของระดับฮอร์โมนและระบบประสาท เป็นต้น
    การค้นพบสาเหตุทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดโรคอ้วน นำไปสู่การพัฒนายาที่ใช้ในการรักษา รวมไปถึงการดูแลด้านโภชนาการ กายภาพบำบัด การออกกำลังกาย และการฟื้นฟูสภาพจิตใจ หากตรวจยีนแล้วพบว่ามีพันธุกรรมที่ผิดปกติและมีผลต่อโรคอ้วนหรือการลดน้ำหนัก เช่น การเผาผลาญไขมันหรือน้ำตาลผิดปกติ หรือยีนที่ควบคุมการสร้างไขมันในร่างกายผิดปกติ ก็สามารถหาทางรักษาหรือทางเลือกในการลดน้ำหนัก และวางแผนอย่าง “จริงจัง” ในการปรับเรื่อง “พฤติกรรม” เพื่อต่อสู้กับ “พันธุกรรม” ได้
  2. การตรวจสมดุลฮอร์โมน
    ระดับฮอร์โมนบางประเภทในร่างกายมีผลกับการลดน้ำหนัก ผู้ที่มีน้ำหนักเกินบางคนอาจอ้วนเพราะดื้อต่อฮอร์โมนอิ่ม ซึ่งเกิดจากการมีระดับของฮอร์โมนอิ่มมากกว่าปกติ ยิ่งมีฮอร์โมนอิ่มมาก เซลล์ไขมันจะยิ่งดื้อไม่ส่งสัญญาณอิ่มเข้าสู่สมอง จึงส่งผลให้หิวและกินต่อไปแบบไม่หยุดยั้ง หรือบางคนอาจมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ จึงส่งผลให้การเผาผลาญพลังงานของร่างกายน้อยลงได้

การรักษาโรคอ้วน

การรักษาภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนนั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธี หากผู้ป่วยที่มีภาวะโรคอ้วนนั้นเกิดมาจากโรคอื่นๆ แพทย์จะแนะนำให้รักษาที่โรคนั้นๆ ก่อน แต่หากมีภาวะอ้วนจากเหตุปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ก็สามารถให้การรักษาได้ ดังนี้ 

  1. การปรับเรื่องการรับประทานอาหารอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายที่เหมาะสมอย่างเพียงพอในแต่ละสัปดาห์ และอาจต้องมีการใช้ยาตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วยเช่นกัน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะช่วยลดน้ำหนัก รวมถึงลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและโรคร้ายแรงอันเป็นผลจากภาวะอ้วนลงได้ อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษากลุ่มโรคอ้วนนี้ส่วนใหญ่แล้วยังอยู่ในระหว่างการศึกษาและวิจัย และจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทั้งด้านวิธีการตรวจและการรักษาต่อไป 
  2. การใช้ปากกาลดน้ำหนัก
    ปัจจุบัน ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวไกล จึงมีทางเลือกสำหรับผู้ที่มีปัญหาน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานและต้องการลดน้ำหนักโดยใช้ปากกาลดน้ำหนัก ควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลดน้ำหนักในระยะยาว  
  3. การดูแลและปรับสมดุลฮอร์โมน รวมถึงการปรับสมดุลร่างกายแบบองค์รวม 
  4. การใช้ยาลดน้ำหนัก และการผ่าตัด 

จะเห็นได้ว่า การที่จะประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักนั้น เราควรเข้าใจร่างกายของเราจากภายในก่อนว่า สาเหตุของภาวะโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐานนั้น แท้จริงแล้วเกิดจากสาเหตุใด บางครั้งการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายที่ถูกต้องเหมาะสมเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถตอบโจทย์การลดน้ำหนักได้ในคนบางกลุ่ม และอาจนำไปสู่การถอดใจและล้มเลิกกลางคันได้ อย่างไรก็ตาม การดูแลร่างกายและจิตใจ เช่น การรับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ การออกกำลังกายอย่างถูกต้องเหมาะสม การดื่มน้ำและการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด ก็ยังคงเป็นหัวใจหลักของการดูแลสุขภาพที่ดี ช่วยให้ไปถึงเป้าหมายการควบคุมน้ำหนักได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน  

ในปัจจุบัน มีการตรวจร่างกายโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วนทั้งการตรวจลึกถึงระดับยีนเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและการตรวจเพื่อดูความสมดุลของร่างกายแบบองค์รวม โดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการและนักโภชนาการที่คอยเป็นเสมือนโค้ชด้านสุขภาพให้คุณ คลิก

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?