กลืนลำบาก สำลักบ่อย อันตรายในผู้สูงอายุ

กลืนลำบาก สำลักบ่อย อันตรายในผู้สูงอายุ

HIGHLIGHTS:

  • สาเหตุของการกลืนลำบากในผู้สูงอายุมักมาจากโรคหลอดเลือดสมอง ภาวะสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคทางระบบประสาท โรคทางจิตเวช รวมถึงโรคที่ทำให้กล้ามเนื้อมีภาวะเกร็ง ทำให้การกลืนอาหารยากขึ้น
  • อาการที่บ่งบอกถึงภาวะกลืนลำบาก คือ ไอหรือสำลักเวลากลืน เสียงแหบ เสียงพร่าหลังจากเพิ่งกลืนอาหาร รู้สึกว่ามีอาหารติดอยู่ในลำคอหรือหน้าอก น้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ พฤติกรรมการรับประทานอาหารเปลี่ยนแปลงไป
  • ภาวะกลืนลำบากอาจทำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารเพราะกลัวการสำลักทำให้ร่างกายอ่อนแอ เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือผู้ป่วยมีความกังวลในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ทำให้ออกห่างจากสังคมเริ่มรับประทานอาหารคนเดียว นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุก็คือ ความสามารถในการกลืนอาหารนั้นลดลง และทำให้เกิดการสำลักตามมาได้ ซึ่งสามารถเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ เช่น ความผิดปกติของโครงสร้างและการทำงานของช่องปาก คอหอย หลอดอาหาร ความผิดปกติของระบบประสาทที่ควบคุมการกลืน หรือโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคทางระบบประสาท โรคทางจิตเวช รวมถึงโรคที่ทำให้กล้ามเนื้อมีภาวะเกร็ง ก็ทำให้การกลืนอาหารทำได้ยากขึ้นเช่นกัน

โดยในผู้สูงอายุที่มีภาวะหรือโรคต่างๆ เหล่านี้จะพบภาวะกลืนลำบากได้สูงถึง 50-75% และพบว่ามีภาวะสำลักเงียบร่วมตามมาด้วยได้ถึง 40 – 70 % ส่งผลให้เกิดปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรงตามมา และหากผู้สูงอายุมีภาวะปอดอักเสบติดเชื้อแล้ว จะพบมีภาวะสำลักเงียบสูงขึ้นไปถึง 71% ยิ่งไปกว่านั้น มีรายงานว่าในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี จะพบอัตราการเสียชีวิตด้วยภาวะปอดติดเชื้อจากการสำลักสูงถึงเกือบ 30%

การสังเกตผู้สูงอายุ กับปัญหาการกลืน

  • ไอหรือสำลักเวลากลืนอาหาร
  • ต้องตัดแบ่งอาหารให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้สามารถกลืนได้ตามปกติ
  • ต้องหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดเพราะทำให้สำลัก
  • เสียงแหบ เสียงพร่า หลังจากกลืนอาหารลงไป
  • รู้สึกว่ามีอาหารติดอยู่ในลำคอหรือหน้าอก
  • น้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ
  • พฤติกรรมการรับประทานอาหารเปลี่ยนแปลง

อาการเหล่านี้ เป็นตัวอย่างของภาวะกลืนลำบาก ซึ่งทำให้การรับประทานอาหารมีความปลอดภัยลดลง มักจะพบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากโครงสร้างของช่องปาก คอหอย กล่องเสียง หลอดอาหาร รวมถึงกลไกของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานต่างๆ ของร่างกายเสื่อมลงเมื่อมีอายุมากขึ้น ส่งผลให้ความสามารถของการกลืนลดลงจนแสดงอาการต่างๆดังกล่าว โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีโรคทางระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง พาร์กินสัน ภาวะบาดเจ็บทางสมอง ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือโรคที่มีพยาธิสภาพของโครงสร้างที่เกี่ยวกับการกลืน ควรได้รับการประเมินและรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อส่งเสริมความสามารถในการกลืนให้มีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะปอดอักเสบจากการสำลัก ทั้งนี้ ภาวะกลืนลำบากส่งผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ดังนี้

กลืนลำบาก ส่งผลต่อสุขภาพผู้สูงอายุอย่างไร

ทางร่างกาย : ผู้ป่วยมักหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารเพราะกลัวการสำลักหรือรู้สึกว่ากลืนลำบาก ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ขาดอาหาร รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่ทำให้ร่างกายขาดน้ำ ขาดสารอาหาร น้ำหนักลด ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมโรคเดิมที่เป็นอยู่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะภาวะติดเชื้อในปอดและระบบทางเดินหายใจจากการสำลักน้ำหรืออาหาร

ทางสังคมและจิตใจ : ผู้ป่วยมักมีความกังวลในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ทำให้ออกห่างจากสังคมเริ่มรับประทานอาหารคนเดียว นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า หดหู่ มีผลทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ไม่อยากอาหาร ยิ่งส่งผลให้สุขภาพโดยรวมทรุดโทรมลงไปอีก

แบบทดสอบ ปัญหาการกลืนลำบาก

คุณมีปัญหาการกลืนตามหัวข้อต่อไปนี้ในระดับใด

น้อย      →     มาก

0

1

2

3

4

  1.  ปัญหาการกลืนทำให้น้ำหนักตัวฉันลดลง

 

 

 

 

 

  1.  ปัญหาการกลืนรบกวนการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านของฉัน

 

 

 

 

 

  1.  ฉันต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติเพื่อกลืนของเหลว

 

 

 

 

 

  1.  ฉันต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติเพื่อกลืนอาหาร

 

 

 

 

 

  1.  ฉันต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติเพื่อกลืนยาเม็ด

 

 

 

 

 

  1.  ฉันรู้สึกเจ็บขณะกลืน

 

 

 

 

 

  1.  การกลืนของฉันส่งผลต่อความพึงพอใจในการรับประทานอาหาร

 

 

 

 

 

  1.  ฉันรู้สึกเหมือนมีอาหารติดค้างในลำคอเมื่อกลืน

 

 

 

 

 

  1.  ฉันไอเมื่อรับประทานอาหาร

 

 

 

 

 

  1.  การกลืนทำให้ฉันรู้สึกเครียด

 

 

 

 

 

รวมคะแนน

____/40

* แนะนําให้ปรึกษาแพทย์หากได้คะแนนรวมตั้งแต่ 3 คะแนนขึ้นไป เนื่องจากอาจมีปัญหาการกลืนที่ผิดปกติ ไม่ปลอดภัย และเสี่ยงต่อการสำลักอาหารได้

ที่มา

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?