ศูนย์แก้ไขการกลืนและสำลัก

ชั้น 3 9:00-17:00 น 66 (0) 2 0-222-222 info@samitivej.co.th

ศูนย์แก้ไขการกลืนและสำลัก  ให้บริการดูแลเรื่องอาการกลืนลำบาก  ตั้งแต่การวินิจฉัย ไปจนถึงการฝึกกลืน   เพื่อป้องกันการสำลักที่อาจเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ   

อาการกลืนลำบากเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ และอาจร้ายแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีโรคทางระบบประสาท หรือความผิดปกติของกล้ามเนื้อการกลืน จึงต้องมีการประเมินเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลและรับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยในบางกรณีอาจจำเป็นต้องตรวจประเมินด้วยเครื่องมือพิเศษ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบุความผิดปกติในการกลืนที่เกิดขึ้นในระดับต่างๆ รวมถึงระบุความเสี่ยงของการสำลักโดยเฉพาะการสำลักเงียบ  สามารถให้ข้อมูลคำแนะนำและช่วยในการวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม  โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์  มีการตรวจพิเศษสำหรับการกลืน 2 แบบคือ

บริการของเรา

การตรวจการกลืนผ่านภาพทางรังสี Videofluoroscopic Swallow Study (VFSS)

เป็นการตรวจเพื่อดูการทำงาน และโครงสร้างรวมถึงการเคลื่อนไหวของอวัยวะที่ใช้ในการกลืน    และสาเหตุของความผิดปกติของการกลืน โดยให้ผู้เข้ารับบริการตรวจโดยการกลืนแป้งซึ่งเป็นสารทึบรังสี เช่น แบเรียมซัลเฟต (Barium Sulfate)  ร่วมกับการเอกซเรย์ (X-Ray) เพื่อดูความผิดปกติของการกลืนในระยะช่องปาก  ระยะคอหอย และระยะหลอดอาหาร   การตรวจจะในห้อง X-ray โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้แก่  แพทย์ พยาบาล นักกิจกรรมบำบัด นักรังสีเทคนิค โดยป้อนอาหารและน้ำดื่มผสมแบเรียม ที่มีปริมาณ ความหนืด ลักษณะเนื้ออาหาร แตกต่างกัน เพื่อประเมินการกลืน  ความผิดปกติทางสรีรวิทยา  รวมไปถึงการหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละวัย  นอกจากนี้ยังการปรับใช้เทคนิคพิเศษสำหรับการกลืน รวมถึงการปรับเปลี่ยนท่าทางของผู้ป่วยในขณะตรวจประเมินได้อีกด้วย  ข้อจำกัดคือ ไม่สามารถประเมินเสมหะ หรือ สารคัดหลั่งในช่องคอหอยก่อนทำการประเมิณกลืนได้   

คำแนะนำหลังการตรวจ  

  • สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ
  • หลังจากตรวจเสร็จ นักกิจกรรมบำบัดจะช่วยทำความสะอาดช่องปาก เนื่องจากแป้งแบเรียมซัลเฟตอาจติดอยู่ตามซอกฟัน ซอกเหงือก กระพุ้งแก้ม และผิงลิ้น
  • กรณีที่ท้องผูกหรือ ถ่ายลำบาก แพทย์อาจให้รับประทานยาระบายก่อนนอนเพื่อช่วยในการขับถ่าย ปกติแล้วร่างกายจะสามารถขับแป้งแบเรียมซัลเฟตที่กลืนไปออกมาพร้อมกับอุจจาระได้ในเวลา 1-2 วัน และจะไม่ถูกดูดซึมหรือตกค้างอยู่ในร่างกาย

การตรวจการกลืนด้วยวิธีส่องกล้อง Videoendoscopic Swallow Study (VESS)    

การตรวจการกลืนด้วยวิธีส่องกล้องในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น สามารถทำการตรวจได้ทั้งภายในห้องตรวจแพทย์และในห้องพักผู้ป่วย กรณีที่ผู้รับการตรวจเป็นผู้ป่วยใน โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะใช้กล้องเอ็นโดสโคปที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก มีเลนส์และแสงไฟที่ปลายท่อ สอดเข้าทางจมูกไปยังช่องคอหอย ซึ่งตัวท่อจะมีความยืดหยุ่นสามารถควบคุมปรับให้โค้งงอไปตามทิศทางที่ต้องการได้ ภาพที่กล้องจะถูกขยายมาปรากฏขึ้นบนจอ ทำให้มองเห็นความผิดปกติของหน้าที่การกลืน และโครงสร้างเนื้อเยื่อในส่วนคอหอยและกล่องเสียง  โดยผู้ป่วยไม่ต้องรับรังสีเอกซ์เรย์ (X-ray) จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถประเมินด้วยวิธีกลืนแบเรียม  การตรวจด้วยวิธีนี้มีข้อจำกัดคือไม่สามารถตรวจประเมินการกลืนในระยะช่องปาก และระยะหลอดอาหาร  

คำแนะนำหลังการตรวจ    

  • ผู้เข้ารับการตรวจอาจรู้สึกไม่ค่อยสบายตัวอยากอาเจียน หรือเจ็บบริเวณจมูก และช่องคอ
  • ควรมีญาติมาส่งและรอรับกลับเพื่อความปลอดภัย เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพควรรับการตรวจตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง

การเตรียมตัวและขั้นตอนการตรวจ

แจ้งข้อมูลให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา/สารเคมี ยาที่รับประทานเป็นประจำ และประวัติการผ่าตัดถ้ามี นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ก่อนเข้ารับการตรวจ และอาจจะต้องงดทานยาบางชนิดก่อนเข้ารับการตรวจขึ้นกับอาการของผู้ป่วยแต่ละท่าน  บางรายอาจจะต้องงดน้ำและงดอาหาร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์   ควรไปถึงโรงพยาบาลก่อนเวลานัดตรวจประมาณ 30 นาที เพื่อเตรียมความพร้อม แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ไม่มีโลหะ ในกรณีที่ตรวจด้วยวิธี  (Videofluoroscopic Swallow Study) และสะดวกในการผลัดเปลี่ยนชุด

ข้อบ่งชี้: แพทย์จะส่งตรวจ Videofluoroscopic หรือ Videoendoscopic Swallow Study ในผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบาก (Dysphagia) หรือมีความเกี่ยวข้องกับภาวะต่างๆดังต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยที่มีอาการไอ หรือสำลักในขณะรับประทานอาหาร/ดื่มน้ำ
  • ผู้ป่วยที่มีเสียงเหมือนมีน้ำเครือๆในคอ  หรือแหบพร่าหลังจากกลืน (Wet – hoarse voice)
  • มีอาการหายใจหอบเหนื่อยหรือมีการเปลี่ยนแปลงของการหายใจในขณะหรือหลังรับประทานอาหาร/ดื่มน้ำ
  • มีประวัติการติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อยครั้ง
  • ผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัย หรือสงสัยว่ามีอาการปอดอักเสบจากการสำลัก (Aspiration pneumonia )
  • โรคทางระบบประสาท  และกล้ามเนื้อ (Neuromuscular diseases) ที่ส่งผลต่อการกลืน  

การฝึกกิจกรรมบำบัดในผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบาก

หลังจากที่แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูประเมินความผิดปกติ และวางแผนการรักษาที่เหมาะสม และจะทำการส่งต่อผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบากแก่นักกิจกรรมบำบัดแล้ว นักกิจกรรมบำบัดจะต้องทำการตรวจประเมิน เพื่อวางแผนการรักษา ปรับระดับอาหาร แนะนำเทคนิครวมถึงการจัดท่าในการรับประทานอาหารแก่ผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบากให้กลืนได้อย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

แนวทางการรักษาภาวะกลืนลำบากเบื้องต้น  

  1. การจัดท่าทางขณะกลืน นั่งตัวตรง หรือเอนตัวตามเหมาะสม เท้าวางราบกับพื้น ไม่ควรให้ศีรษะหงายไปด้านหลัง ลดสิ่งเร้าภายนอก เช่น ปิดโทรทัศน์ ลดเสียงรบกวนจากภายนอก จะช่วยให้ผู้สูงอายุจดจ่อกับการรับประทานอาหารได้ดีขึ้น และช่วยลดอัตราเสี่ยงจากการสำลักอาหาร
  2. การปรับอาหาร อาหารที่เหมาะกับผู้สูงอายุ ควรได้รับการปรุงให้เปื่อยนุ่ม ง่ายต่อการเคี้ยว และการย่อยอาหาร มีการจัดแต่งอาหารให้มีสีสันน่ารับประทาน และควรปรุงสุกใหม่ทุกมื้อ  
  3. การออกกำลังกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน เช่น ริมฝีปาก, ลิ้น, แก้ม, ขากรรไกร และกล้ามเนื้อคอหอย
  4. เทคนิคการกลืนแบบพิเศษ มีจุดประสงค์เพื่อให้มีความปลอดภัยในการกลืน หรือเพิ่มประสิทธิภาพของการกลืน เช่น Shaker exercise, Masako exercise, Effortful swallow, Super Supraglottic swallow เป็นต้น ซึ่งการเลือกใช้จะขึ้นอยู่กับความบกพร่องของกลไกการกลืนในผู้ป่วยแต่ละราย จึงต้องได้รับการประเมินจากแพทย์และนักกิจกรรมบำบัดโดยเฉพาะ