โรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome : MERS)

โรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome : MERS)

โรคเมอร์สคืออะไร?

โรคเมอร์ส คือโรคซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โคโรน่า (MERS Corona Virus : MERS-CoV) ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะเยื่อหุ้มปอดและหลอดลม เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้ถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศซาอุดิอาระเบียในปี ค.ศ. 2012 และต่อมาได้แพร่ระบาดไปยังประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี จอร์แดน ตูนีเซีย และกาตาร์ ก่อนพบผู้ติดเชื้อ MERS-CoV คนแรกของประเทศไทยในปี ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นชายชาวต่างชาติที่เพิ่งเดินทางมาจากประเทศโอมาน ในการระบาดช่วงแรกๆ นั้นพบว่า ผู้ป่วยโรคเมอร์สมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้ว่าปัจจุบันได้ลดลงเหลือประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์แล้วก็ตาม แต่ก็ยังนับว่าเชื้อไวรัส MERS-CoV ก่อให้เกิดโรคติดต่อที่อันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในครอบครัวผู้ป่วยหรือบุคลากรในโรงพยาบาล

อาการของโรคเมอร์สจะเป็นอย่างไร?

เชื้อไวรัส MERS-CoV มีระยะฝักตัวและแสดงอาการประมาณ 10-14 วันหลังได้รับเชื้อ โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักมีอาการดังต่อไปนี้ :

  • มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หากอาการรุนแรงจะมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก เป็นต้น
  • มีอาการขาดออกซิเจน คล้ายเป็นโรคระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ในบางรายอาจพบปัญหาด้านระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ และอาเจียน หรืออาจพบอาการไตวายด้วยเช่นกัน

ใครบ้างเสี่ยงติดเชื้อ MERS-CoV?

การติดเชื้อไวรัส MERS-CoV มีสาเหตุได้จากหลายปัจจัย หากคุณพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างตกอยู่ในปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ กรุณาพบแพทย์โดยด่วน

  • มีประวัติการเดินทางไปยังประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรค เช่น ประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งผู้ป่วยโรคเมอร์สส่วนมากจะเริ่มแสดงอาการภายใน 14 วันหลังจากเดินทางกลับ
  • ติดต่อใกล้ชิดกับนักเดินทางที่มาจากประเทศทางตะวันออกกลางหรือประเทศอื่นๆ ซึ่งพบการแพร่ระบาด
  • มีการติดต่อใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเมอร์สหรือผู้เสี่ยงติดเชื้อคนอื่นๆ
  • มีประวัติเข้าไปในสถานที่ที่มีสัตว์อยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ ฟาร์มปศุสัตว์ หรือสวนสัตว์ เป็นต้น เนื่องจากเชื้อไวรัส MERS-CoV ถูกค้นพบในอูฐและผู้มีประวัติสัมผัสอูฐ
  • รับประทานเนื้อสัตว์แบบดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ
  • ผู้ป่วยโรคปอดบวมซึ่งเดินทางไปยังประเทศซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรค หรือมีการติดต่อใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือผู้เสี่ยงเป็นโรคเมอร์ส
  • ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน
  • ผู้ป่วยเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ

จะป้องกันโรคเมอร์สได้อย่างไร?

จนถึงขณะนี้ วงการแพทย์ยังไม่สามารถคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคเมอร์สได้ อีกทั้งยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ สามารถทำได้เพียงการรักษาแบบประคับประคองอาการเท่านั้น ดังนั้นการป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งคุณสามารถทำได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หรือเจลล้างมือแอลกอฮอล์
  • ปิดปากและจมูกด้วยกระดาษทิชชู่เมื่อไอหรือจาม และทิ้งกระดาษทิชชู่ทันทีหลังใช้เสร็จ
  • หลีกเลียงการไปฟาร์มปศุสัตว์ สวนสัตว์ หรือสถานที่ที่เต็มไปด้วยสัตว์
  • รับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น
  • หลีกเลี่ยงการจับใบหน้า จมูก หรือปากด้วยมือที่สกปรก
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสอย่างใกล้ชิด เช่น การจูบหรือการกอด กับผู้อื่น รวมถึงไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ จานชาม หรือช้อนส้อมร่วมกัน
  • ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวสัมผัสต่างๆ เช่น ลูกบิดประตู โต๊ะกินข้าว หรือชั้นวางของ
  • ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้านหรืออยู่ท่ามกลางฝูงชน
  • เมื่อต้องหยิบจับสิ่งสกปรก ควรใส่ถุงมือและล้างมือให้สะอาดทันที
  • พบแพทย์ทันทีหากอาการผิดปกติหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพื่อตรวจวินิจฉัยให้มั่นใจว่าคุณปลอดภัยจากโรคนี้หรือไม่

อ้างอิงจาก

  1. Centers for Disease Control and Prevention – Middle East Respiratory Syndrome (MERS). Available from http://www.cdc.gov/coronavirus/mers/index.html. Accessed on June 22, 2015.
  2. Bureau of Epidemiology, Thailand – MERS. Available from http://www.boe.moph.go.th/files/news/corona_virus/guidelines_for_surveillance.pdf. Accessed on June 22, 2015.
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?