เทคนิคแก้ปัญหาเรื่องกิน ในผู้สูงวัย

เทคนิคแก้ปัญหาเรื่องกิน ในผู้สูงวัย

HIGHLIGHTS:

  • ถ้าผู้สูงอายุน้ำหนักตัวลดมากกว่า 5% ภายใน 3 เดือน แนะนำให้มาพบแพทย์และนักโภชนาการ เพื่อรับการประเมินภาวะโภชนาการและรับคำแนะนำทางด้านโภชนาการ
  • การจัดอาหารให้ผู้สูงอายุควรเป็นมื้อเล็กๆ แต่เน้นรับประทานบ่อยๆ เช่น แบ่งเป็น 5-6 มื้อต่อวัน จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการกินในผู้สูงอายุได้

เทคนิคแก้ปัญหาเรื่องกิน ในผู้สูงวัย

อาหารกับผู้สูงอายุ อาจเป็นเรื่องที่ถูกมองข้าม บางท่านรับประทานอาหารได้น้อยลง ในขณะที่อีกหลายๆ ท่านอาจเพลิดเพลินกับอาหารจนลืมควบคุมน้ำหนัก เพราะเห็นว่าเมื่อผู้อาวุโสต่างก็มีอายุที่มากแล้ว ควรปล่อยให้ท่านทำตัวตามสบาย แต่ปัญหาทางโภชนาการที่เกิดจากการตามใจนั้นอาจสร้างปัญหาสุขภาพมากมายตามมาภายหลัง ซึ่งถ้าปล่อยปละให้เรื้อรังความแข็งแรงสมบูรณ์ของรางกายก็จะถดถอยลงเรื่อยๆ

สัญญาณเตือน ว่าผู้สูงอายุกำลังมีปัญหาทางโภชนาการ

  1. น้ำหนักลดลงเรื่อยๆ เพราะไม่อยากอาหาร เบื่ออาหาร หรือ ไม่ทราบสาเหตุ
  2. น้ำหนักเกิน จนเดินเหินหรือเคลื่อนไหวลำบาก
  3. ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด ความดันในเลือด
  4. มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ระบบขับถ่ายไม่เหมือนเดิม ทำให้อึดอัด ไม่อยากกิน กินได้น้อยลง
  5. มีการฟื้นตัวหลังผ่าตัดช้า หรือมีแผลแต่หายช้า หรือต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลบ่อย
  6. มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ หลงลืม ทำให้กินเกินความต้องการ หรือไม่กินเลย หรือ มีภาวะวิตกกังวลเกี่ยวกับการกิน จนจำกัดอาหารมากเกินไป
  7. มีภาวะกลืนลำบาก หรือกินอาหารทางปากได้น้อยหรือไม่ได้เลย แต่ไม่รู้ว่าควรได้อาหารประเภทไหนถึงจะเหมาะสมและได้รับสารอาหารเพียงพอ
  8. มีผู้ดูแลผู้ป่วย แต่ขาดความรู้ในการจัดอาหารที่เหมาะสมให้กับผู้สูงอายุ

วิธีแก้ปัญหาเรื่องกิน ในผู้สูงอายุ

  1. จัดอาหารให้ผู้สูงอายุครบมื้อ และในแต่ละมื้อควรมีอาหารครบ 5 หมู่ คาร์โบไฮเดรต เน้นข้าวกล้อง แป้งไม่ขัดสี และธัญพืช โปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา ไก่ ไข่ เต้าหู้ นมถั่วเหลือง รวมถึงผักและผลไม้
  2. จัดอาหารอ่อนนุ่ม เคี้ยวง่าย เช่น เนื้อสัตว์ตุ๋นนุ่ม หรือผักชิ้นเล็กเคี้ยวย่อยง่าย อาหารแบบมีน้ำซุปหรือน้ำซอสขลุกขลิก
  3. จัดอาหารเป็นมื้อเล็กๆ แต่กินบ่อยๆ เช่น แบ่งกินเป็น 5-6 มื้อต่อวัน
  4. จัดหาอาหารที่มีสีสันน่าตา น่ากิน รสชาติและกลิ่นดึงดูดใจ เลี่ยงอาหารหวาน เค็ม เปรี้ยว เผ็ดจัด หรือมีไขมันมากเกินไป
  5. เปลี่ยนบรรยากาศในการรับประทานอาหาร หรือ มีคนร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน ไม่ปล่อยให้ผู้สูงอายุ รับประทานอาหารคนเดียว
  6. หมั่นสังเกตผู้สูงอายุ ว่าหากทานอาหารได้น้อยกว่าเดิม น้ำหนักตัวลดมากกว่า 5% ภายใน 3 เดือน แนะนำให้มาพบแพทย์และนักโภชนาการ เพื่อรับการประเมินภาวะโภชนาการและรับคำแนะนำทางด้านโภชนาการเป็นรายบุคคลไป

อย่างไรก็ตามปัญหาโภชนาการในผู้สูงอายุ ในแต่ละบุคคลอาจเกิดจากหลายสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย หลายครั้งที่ปัญหาเหล่านั้นเกิดจากปัญหาทางด้านกายภาพของผู้สูงอายุเอง เริ่มตั้งแต่สภาพฟัน การเคี้ยว การกลืน ระบบการย่อยอาหารและการดูดซึมอาหารของกระเพาะอาหารและลำไส้ รวมไปถึงการขับถ่าย นอกจากนั้นปัจจัยด้านสภาพจิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม แม้แต่ยาบางตัวที่รับประทานประจำ ก็สามารถส่งผลให้รับประทานอาหารในปริมาณมากหรือน้อยเกินไปได้เช่นกัน หากผู้สูงอายุรับประทานได้น้อยลงในระยะเวลานานสะสมมาเรื่อยๆ และทำให้ได้รับพลังงานและสารอาหารไม่เพียงพอจนน้ำหนักลดหรือเจ็บป่วยได้ง่าย ส่วนในผู้ที่รับประทานมากเกินไปจนไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือด ไขมัน และความดัน สาเหตุหลักของโรคเรื้อรังอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้

ดังนั้นปัญหาภาวะโภชนาการ ในผู้สูงอายุควรได้รับการประเมินและแก้ปัญหาและตรวจติดตามโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการดูแลผู้สูงอายุและนักกำหนดอาหารเป็นรายบุคคลไป เพื่อรายละเอียดในการดูแลให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตที่มีความสุขและมีสุขภาพที่ดี

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?