ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง (Bunion)

ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง (Bunion)

HIGHLIGHTS:

  • ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง ทำให้เกิดความไม่สวยงาม หารองเท้าใส่ยาก เกิดการเสียดสีของปุ่มกระดูกที่นูนออกมา ทำให้มีอาการปวดขณะเดิน หรือปวดเป็นพักๆ รวมถึงชาปลายนิ้วเท้าได้
  • ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน เช่น ถุงน้ำอักเสบ นิ้วเท้าหงิกงอผิดปกติ ตาปลา
  • การรักษาภาวะนิ้งโป้งเท้าเอียง ทำได้ 2 วิธีคือการรักษาแบบประคับประคอง และ การรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามอาการของแต่ละคน

บางท่านอาจเคยสังเกตเห็นความผิดปกติบริเวณเท้า ที่มีลักษณะของนิ้วหัวแม่เท้าเอนเอียงเข้าไปชิดกับนิ้วชี้ ร่วมกับการที่กระดูกบริเวณข้อต่อของโคนนิ้วหัวแม่เท้าด้านในปูดนูนออกมา และบางครั้งอาจมีสีแดงระเรื่อบริเวณกระดูกที่ปูดนูนขึ้นมาอีกด้วย เรียกเท้าที่มีลักษณะนี้ว่า ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง หรือ Bunion จะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย พบมากเมื่ออายุมากขึ้น และส่วนมากจะพบที่เท้าทั้ง 2 ข้างมากกว่าพบที่เท้าข้างเดียว

สาเหตุการเกิดภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง

  • ภาวะเท้าแบน
  • ข้อต่อบริเวณนิ้วหัวแม่เท้ายืดหยุ่นมากกว่าปกติ
  • พันธุกรรม การมีนิ้วหัวแม่เท้าชี้ออกไปด้านนอกตั้งแต่แรกเกิด
  • การบาดเจ็บบริเวณนิ้วหัวแม่เท้าทำให้เอ็นด้านในขาด พบบ่อยในนักกีฬา หรือการประสบอุบัติเหตุ
  • ภาวะเท้าผิดรูปตั้งแต่กำเนิด
  • อาจเกิดจากการใส่รองเท้าส้นสูง ปลายรองเท้าแคบ

ปัจจัยกระตุ้นการเกิดภาวะนิ้วโป้งเท้าเอียง

อาการของภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง

  • โคนนิ้วหัวแม่เท้าด้านใน บวม แดง ปวด
  • โคนนิ้วหัวแม่เท้าด้านในปูดนูนออกมา
  • หนังบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้าด้านในมีลักษณะหนาตัวขึ้น
  • นิ้วหัวแม่เท้าชี้ออกไปด้านนอก (ด้านนิ้วเท้าอื่นๆ)
  • มีอาการปวดเท้าเป็นพักๆ หรือปวดเมื่อใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม
  • ชาปลายนิ้วเท้า
  • หากมีอาการรุนแรง นิ้วหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้จะมีการเกยกัน

การวินิจฉัยภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง

  • การตรวจร่างกาย: แพทย์จะทำการตรวจบริเวณเท้าว่ามีรอยแดงบริเวณที่มีปุ่มกระดูกปูดนูนออกมา หากรุนแรงอาจพบว่านิ้วหัวแม่เท้าและนิ้วชี้มีการเบียดลอยขึ้นไปเกยกัน
  • การเอกซเรย์: แพทย์อาจสั่งให้เอกซเรย์เพิ่มเติม เพื่อประเมินระดับความรุนแรงของโรค โดยการวัดมุมบริเวณนิ้วหัวแม่เท้าที่เบนออกไป

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์

  • อาการปวดเป็นเวลานาน รักษาแบบประคับประคองประมาณ 6 เดือนแล้วไม่หาย
  • อาการปวดทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันเดิมได้
  • อาการของภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงแย่ลง เอียงมากขึ้น หรือนิ้วหัวแม่เท้าขึ้นไปเกยบนนิ้วชี้
  • หากเป็นโรคเบาหวาน อาจทำให้อาการผิดปกติที่เท้าแย่ลง ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาจะดีที่สุด

ภาวะแทรกซ้อน

  • ถุงน้ำอักเสบ (Bursitis) คือ ถุงน้ำที่เป็นตัวรองรับการเสียดสีบริเวณกระดูก เอ็น และกล้ามเนื้อใกล้ข้อต่อเกิดการอักเสบ ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณเท้าได้
  • นิ้วเท้าหงิกงอผิดปกติ (hammer toe) โดยมีสาเหตุจากข้อต่อตรงกลางนิ้วโค้งงอผิดปกติ ทำให้ปวดและมีแรงกด
  • กลุ่มอาการปวดบริเวณฝ่าเท้าด้านหน้า (Metatarsalgia) ก่อให้เกิดอาการปวดและการอักเสบที่ฝ่าเท้าและจมูกเท้า
  • ตาปลา (Callus) ขึ้นบริเวณฝ่าเท้า ใต้กระดูกนิ้วเท้า

การรักษาภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง

การรักษาภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงนั้นขึ้นอยู่กับระดับความปวดและระดับความรุนแรงของภาวะนี้

1.การรักษาแบบประคับประคอง

  • หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง รองเท้าหน้าแคบ รองเท้าที่คับแน่นจนเกินไป
  • สวมใส่รองเท้าที่เหมาะสม ทั้งสำหรับใส่ในชีวิตประจำวันและการออกกำลังกาย เช่น รองเท้าหน้ากว้าง ไม่บีบเท้า เหลือช่องว่างระหว่างปลายเท้ากับปลายรองเท้าประมาณ 0.5 นิ้ว
  • รับประทานยาแก้ปวดหากมีอาการปวด
  • ใส่อุปกรณ์ซิลิโคนที่ช่วยถ่างนิ้วโป้ง หรือ bunion pads (แผ่นนุ่มๆ แปะบริเวณปุ่มกระดูกเพื่อป้องกันการเสียดสี)
  • การใช้น้ำแข็งประคบเพื่อบรรเทาอาการปวด บวม แดง หรืออักเสบ
  • ไม่แนะนำให้ฉีดสเตียรอยด์ (steroid) เพราะอาจทำให้เส้นเอ็นเปื่อยขาดได้

2.การรักษาโดยการผ่าตัด

  • แพทย์จะพิจารณาการรักษาโดยการผ่าตัดเมื่อทำการรักษาแบบประคับประคองมาเป็นเวลาประมาณ 6 เดือนแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น
  • ทำได้โดยการผ่าตัดเอากระดูกที่ยื่นออก และปรับแนวกระดูก รวมไปถึงการผ่าตัดปรับเส้นเอ็นรอบข้อนิ้วเท้าให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม

การป้องกันภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง

  • สวมใส่รองเท้าที่เหมาะสม ทั้งสำหรับใส่ในชีวิตประจำวันและการออกกำลังกาย เช่น รองเท้าหน้ากว้าง ไม่บีบเท้า เหลือช่องว่างระหว่างปลายเท้ากับปลายรองเท้าประมาณ 0.5 นิ้ว
  • หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง รองเท้าหน้าแคบ รองเท้าที่คับแน่นจนเกินไป
  • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

หากมีภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง ไม่ต้องกังวลใจ เพียงปฏิบัติตามข้อแนะนำในการดูแลตัวเองเบื้องต้น ก็สามารถลดความเสี่ยงไม่ให้อาการเป็นมากขึ้นจนรบกวนชีวิตประจำวันได้

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?