อย่าให้เรื่องท้องเสียกวนใจ เมื่อต้องไกลบ้าน

อย่าให้เรื่องท้องเสียกวนใจ เมื่อต้องไกลบ้าน

HIGHLIGHTS:

  • เมื่อท้องเสียเฉียบพลัน ให้ดื่มน้ำสะอาดมากๆ หรือน้ำผสมเกลือแร่ (Oral rehydration salts, ORS) โดยจิบบ่อยๆ ในปริมาณน้อยๆ
  • ไม่ควรกินยาหยุดท้องเสียทันที เพราะจะทำให้เชื้อโรคยังคงสะสมอยู่ในลำไส้
  • ควรรีบพบแพทย์เมื่อ มีอาการปวดท้องมาก อ่อนเพลีย หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้สูงเกินกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ปากแห้ง หน้ามืด ถ่ายมากกว่า 3-4 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายเหลวเป็นมูกเลือด

อย่าให้เรื่องท้องเสียกวนใจ เมื่อต้องไกลบ้าน

ปัญหากวนใจของคนชอบเดินทางท่องเที่ยวไปในที่แปลกๆ หรือแม้แต่ในสถานที่ทันสมัย แต่การใช้ชีวิต การรับประทานอาหารที่ต่างไปจากเดิม รวมถึงสุขอนามัยที่ไม่ดีพอ อาจทำให้ “ท้องเสีย” ตัวการทำให้การเดินทางหมดสนุกได้

ท้องเสีย (Diarrhea) คือ การถ่ายอุจจาระมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน มีลักษณะถ่ายเหลวเป็นน้ำ หากมีอาการติดเชื้อรุนแรงอาจถ่ายเป็นมูกเลือด อาการอื่นๆ ที่อาจพบร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง อ่อนเพลีย ในบางรายอาจมีไข้ รวมถึงอาการสำคัญที่สุดและอาจทำให้เสียชีวิตได้ คือ ร่างกายขาดน้ำและสูญเสียเกลือแร่อย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงไม่ความมองข้ามหรือคิดว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น

ทำไม… ท้องเสีย

เชื้ออีโคไล (E. coli) เป็นแบคทีเรียสาเหตุท้องเสียที่พบบ่อยที่สุด นอกจากนี้ยังมีเชื้อบิด (บิดมีตัว) หรือติดเชื้อพยาธิ รวมถึงเชื้อไวรัสโรตา (Rotavirus) ที่มักพบในเด็กเล็ก ปัจจุบันสามารถพบในผู้ใหญ่

เชื้อเหล่านี้มักปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำดื่ม หรือล้างมือไม่สะอาดหลังการใช้ห้องน้ำ เมื่อหยิบจับอาหารหรือดื่มน้ำอาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงขั้นตอนการปรุงอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะก็อาจเป็นสาเหตุของท้องเสียได้ทั้งสิ้น ซึ่งท้องเสียจากการติดเชื้อมักเป็นท้องเสียแบบเฉียบพลัน

บ๊ายบาย ท้องเสีย ต้องรู้จักเลือกและเลี่ยง

เลือก

  • ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการเดินทาง ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบางชนิด รวมถึงอย่าลืมนำเกลือแร่สำหรับท้องเสียติดตัวไปด้วย
  • เลือกรับประทานอาหารจานร้อน หรืออาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ
  • ดื่มน้ำจากขวดที่ปิดสนิท
  • ล้างมือให้สะอาด หรือพกทิชชูเปียกไปด้วยเพื่อความสะอาดหลังการเข้าห้องน้ำ หรือใช้ทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับอาหาร

เลี่ยง

  • อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารรสจัด และอาหารที่ปรุงสำเร็จวางขายไว้ตลอดวัน
  • ผลไม้ที่ปอกเปลือกไว้แล้ว หรือสุกมากเกินไปจนมีรอยช้ำ
  • น้ำดื่มจากก๊อกสาธารณะ หรือจากขวดที่ไม่แน่ใจเรื่องความสะอาด รวมถึงควรเลี่ยงน้ำแข็งด้วย
  • การใช้อุปกรณ์ในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
  • นม หรือผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อโรค

ท้องเสียเฉียบพลัน เป็นแล้วทำไงดี

  • พักผ่อน งดกิจกรรมผาดโผน หรือต้องใช้แรงมากๆ
  • รับประทานอาหารอ่อน รสไม่จัด รับประทานครั้งละน้อยๆ โดยแตกย่อยออกเป็นมื้อเล็กๆ 5 – 6 มื้อตลอดวัน
  • ดื่มน้ำสะอาดมากๆ หรือน้ำผสมเกลือแร่ (Oral rehydration salts, ORS) โดยจิบบ่อยๆ ในปริมาณน้อยๆ และควรเปลี่ยนน้ำผสมเกลือแร่ หากเตรียมแล้วใช้ไม่หมดภายใน 24 ชั่วโมง
  • ไม่ควรกินยาหยุดท้องเสียทันที เพราะจะทำให้เชื้อโรคยังคงสะสมอยู่ในลำไส้ แต่หากมีไข้อาจกินยาลดไข้ หรือบรรเทาอาการปวดท้อง

ท้องเสีย ควรรีบพบแพทย์เมื่อ

  • ปวดท้องมาก อ่อนเพลีย หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • มีไข้สูงเกินกว่า 38.5 องศาเซลเซียส
  • ร่างกายขาดน้ำ กระหายน้ำ ปากแห้ง หน้ามืด
  • ถ่ายมากกว่า 3-4 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายเหลวเป็นมูกเลือด
  • เมื่ออาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 1 – 2 วัน โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำหรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง

แม้ท้องเสียจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ หากติดเชื้อที่ไม่อันตรายหรือติดเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายเป็นเชื้อร้ายและรุนแรง อาจทำให้ถึงขั้นขาดน้ำจนเสียชีวิตได้ ทางที่ดีควรเตรียมตัวก่อนเดินทาง และรู้จักป้องกันในขณะเดินทางเสมอ เพื่อความสนุกและประทับใจในทุกการท่องเที่ยว แต่หากอาการท้องเสียเป็นแบบเรื้อรังควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุต่อไป


วิดีโอคอลปรึกษาหมอออนไลน์ คลิกอ่านเพิ่มเติม


คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?