ท้องผูก

ท้องผูก
  • อาการท้องผูก ในแต่ละบุคคลอาจมีความหมายแตกต่างกันไป บางคนถ่ายอุจจาระยาก อุจจาระแข็ง หรือระยะเวลาถ่ายแต่ละครั้งห่างกันนาน โดยทั่วไปอาการท้องผูกจะอธิบายว่ามีการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งพบบ่อยในคนทั่วไปประมาณ 10 % และในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า
  • ภาวะแทรกซ้อนของอาการ ท้องผูก ได้แก่ ริดสีดวงทวาร แผลปริที่ขอบทวารหนัก ภาวะอุจจาระอุดตัน และลำไส้ยื่นออกมาจากทวารหนัก
  • การรักษาอาการท้องผูก ทำได้เหลายวิธี เช่น การฝึกกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเบ่งถ่ายให้ทำงานถูกต้อง ปรับพฤติกรรมออกกำลังกายสม่ำเสมอการใช้ยาระบาย การผ่าตัดลำไส้ใหญ่ออก ซึ่งควรให้แพทย์เป็นผู้แนะนำเพื่อการรักษาอย่างถูกต้อง

ท้องผูก อาการเป็นอย่างไร

  • ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
  • อุจจาระเป็นก้อนแข็ง
  • อุจจาระลำบาก ต้องใช้แรงเบ่ง
  • รู้สึกคล้ายมีสิ่งอุดตันในทวารหนัก ที่ขัดขวางการเคลื่อนไหวของลำไส้
  • รู้สึกเหมือนถ่ายอุจจาระไม่สุด
  • ขณะอุจจาระ ต้องใช้มือกดหน้าท้อง หรือใช้นิ้วล้วงอุจจาระออกจากทวารหนัก

หากพบอาการท้องผูกที่กล่าวมาข้างต้นตั้งแต่ 2 อาการขึ้นไป ในช่วง 3 เดือน ถือว่ามีภาวะท้องผูกเรื้อรัง หรือกรณีพบว่าพฤติกรรมการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงโดยไม่สามารถอธิบายได้และเป็นอย่างต่อเนื่อง ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย และทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป


ปัญหาเรื่องการขับถ่ายไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย หากละเลยไม่ใส่ใจจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังอาจส่งผลถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ตลอดจนอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคอันตรายอย่างมะเร็งลำไส้ได้อีกด้วย และด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคม อาหาร และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในปัจจุบัน ส่งผลทำให้เกิดปัญหาท้องผูก (Constipation) ซึ่งพบมากกว่าร้อยละ 30 ของประชาชนทั่วไป และมักพบในผู้สูงอายุ รวมถึงพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า แม้การมีอาการท้องผูกบ้างเป็นครั้งคราวจะเป็นเรื่องปกติ แต่หากภาวะท้องถูกไม่ได้รับการแก้ไข อาจนำไปสู่อาการท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งส่งผลต่อความเครียดและการใช้ชีวิตประจำวันได้


สาเหตุของอาการท้องผูก

อาการท้องผูกมักเกิดขึ้นเมื่อของเสียหรืออุจจาระเคลื่อนผ่านทางเดินอาหารช้าเกินไป หรือไม่สามารถกำจัดออกจากทวารหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจทำให้อุจจาระแข็งและแห้ง อาการท้องผูก มีหลายสาเหตุ ดังนี้

1. การอุดตันในลำไส้ใหญ่ หรือ ทวารหนัก

การอุดตันในลำไส้ใหญ่หรือทวารหนักอาจทำให้การเคลื่อนไหวของอุจจาระช้าลงหรือหยุดการทำงาน โดยปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • แผลปริที่ขอบทวารหนัก (anal fissure) เป็นรอยฉีกหรือแผลเปิดขนาดเล็กบริเวณเยื่อบุทวารหนัก ทำให้เกิดอาการเจ็บบริเวณทวารหนักหรือมีเลือดออกเมื่อถ่ายอุจจาระ
  • การอุดตันในลำไส้ (bowel obstruction)
  • มะเร็งลำไส้ การตีบตันของลำไส้ใหญ่ (bowel stricture)
  • มะเร็งช่องท้องอื่น ๆ ที่กดทับลำไส้ใหญ่
  • มะเร็งช่องทวารหนัก
  • ไส้ตรงนูนผ่านผนังด้านหลังของช่องคลอด (rectocele)

2. ปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาทบริเวณลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

ปัญหาทางระบบประสาทอาจส่งผลต่อเส้นประสาทที่ทำให้กล้ามเนื้อในลำไส้ใหญ่และทวารหนักหดตัวและการเคลื่อนอุจจาระผ่านลำไส้ มีปัจจัยดังนี้

  • เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย (autonomic neuropathy)
  • โรคปลอกประสาทอักเสบ หากเกิดที่ไขสันหลังหรือสมองผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนแรง สูญเสียความสามารถในการทรงตัว รวมถึงปัสสาวะหรืออุจาระผิดปกติ
  • โรคพาร์กินสัน
  • การบาดเจ็บที่ไขสันหลัง
  • โรคหลอดเลือดสมอง (stroke)

3. ภาวะการควบคุมกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานบกพร่อง

ความสามารถในการควบคุมกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของลำไส้อาจทำให้เกิดอาการท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาดังนี้

  • หูรูดลำไส้ทำงานผิดปกติ (anismus) ไม่สามารถผ่อนคลายกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเพื่อให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้
  • การบีบตัวของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักไม่ประสานกับการเบ่ง (dyssynergia)
  • กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานไม่แข็งแรง

4. สภาวะที่ส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย

ฮอร์โมนช่วยให้ของเหลวในร่างกายสมดุล โรคและภาวะต่างๆ ที่ทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุลอาจทำให้ท้องผูก ได้แก่

  • โรคเบาหวาน
  • ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน (hyperparathyroidism)
  • การตั้งครรภ์
  • ไทรอยด์ทำงานน้อย (พร่อง)

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อาการท้องผูก

ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการท้องผูก ได้แก่

  • อายุที่มากขึ้น
  • เป็นผู้หญิง
  • ดื่มน้ำน้อย
  • การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยต่ำ
  • ออกกำลังกายน้อยหรือไม่ออกเลย
  • รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาระงับประสาท ยาแก้ปวด ยากล่อมประสาทบางชนิด หรือยาลดความดันโลหิต
  • มีภาวะสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรคการกินผิดปกติ

ภาวะแทรกซ้อนของอาการท้องผูก

  • ริดสีดวงทวาร การเบ่งถ่ายอุจจาระอาจทำให้เส้นเลือดดำภายในและบริเวณรอบทวารหนักบวมได้
  • แผลปริที่ขอบทวารหนัก อุจจาระก้อนใหญ่หรือแข็งอาจทำให้ผิวหนังที่ขอบทวารหนักฉีกขาด
  • ภาวะอุจจาระอุดตัน อาการท้องผูกเรื้อรังอาจทำให้เกิดการสะสมของอุจจาระที่แข็งและติดอยู่ในลำไส้
  • ลำไส้ยื่นออกมาจากทวารหนัก (rectal prolapse) การเบ่งอุจจาระอาจทำให้ไส้ตรงยืดและยื่นออกมาจากทวารหนักได้เล็กน้อย

การวินิจฉัยอาการท้องผูก

  • แพทย์ทำการซักประวัติ พฤติกรรมการขับถ่าย
  • ตรวจร่างกายทั่วไป
  • ตรวจทางทวารหนัก (rectal examination) ด้วยนิ้วมือ
  • ส่องกล้องตรวจภายในลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) เพื่อแยกภาวะอุดกั้นหรือตีบแคบของลำไส้
  • ตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อในการขับถ่ายและการรับรู้ความรู้สึกของลำไส้ตรง (anorectal manometry test) ได้แก่ ตรวจดูการรับรู้ความรู้สึกของลำไส้ตรงขณะที่อุจจาระลงมา รวมถึงการตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่าย
  • การตรวจการเคลื่อนไหวของลำไส้ โดยการกลืนแคปซูล เพื่อวัดการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร

การรักษาอาการท้องผูก

  • ฝึกการขับถ่าย (biofeedback training)

การฝึกกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเบ่งถ่ายให้ทำงานถูกต้องและสามารถให้ผลดีในระยะยาว โดยทำการฝึกทั้งหมด 6 ครั้ง ครั้งละประมาณ 30 – 40 นาที

  • ปรับพฤติกรรม

ได้แก่ ขับถ่ายอุจจาระเมื่อรู้สึกครั้งแรก นั่งขับถ่ายในท่านั่งที่เหมาะสม รับประทานผัก ผลไม้ที่มีกากใย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ

  • การใช้ยาระบาย

เช่น ยาระบายในกลุ่มกระตุ้นกล้ามเนื้อลำไส้บีบตัว ยาระบายที่ออกฤทธิ์ดูดซึมน้ำเพื่อให้อุจจาระมีปริมาณน้ำมากขึ้นและไหลกลับเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ และยาเหน็บหรือยาสวนทวาร ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา ผู้ที่มีอาการท้องผูกไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาด

  • ผ่าตัดลำไส้ใหญ่ออก

กรณีที่ผู้ป่วยท้องผูกจากภาวะที่ลำไส้เคลื่อนไหวช้าที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล รวมถึงมีความผิดปกติชัดเจนของกล้ามเนื้อและระบบประสาทของลำไส้ )


การป้องกันอาการท้องผูก

สิ่งต่อไปนี้สามารถช่วยป้องกันอาการท้องผูกเรื้อรังได้

  • อาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ถั่ว ผัก ผลไม้ ซีเรียลโฮลเกรน และรำข้าว
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกากใยน้อย เช่น อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากนมและเนื้อสัตว์
  • ดื่มน้ำมากๆ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • จัดการกับความเครียด

พยายามสร้างตารางการขับถ่ายให้เป็นปกติ แม้ภาวะท้องผูกไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่หากละเลยปล่อยไว้จนเป็นภาวะเรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและสร้างความเครียดขึ้นได้ ดังนั้นหากพบอาการท้องผูกควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือเข้ารับการตรวจเช็กและพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับคำแนะนำและรักษา


วิดีโอคอลปรึกษาหมอออนไลน์ คลิกอ่านเพิ่มเติม


คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?