ฆ่ามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันตัวเอง

ฆ่ามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันตัวเอง

HIGHLIGHTS :

  • สิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมการใช้ชีวิต เป็นสาเหตุหลักที่ยังทำให้โรคมะเร็งไม่มีแนวโน้มลดลง และมากกว่าร้อยละ 50 ของผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งอยู่ในทวีปเอเชีย
  • การรักษามะเร็งด้วย ภูมิคุ้มกันบำบัด สร้างความแตกต่างอย่างชัดเจนต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น อีกทั้งมีผลข้างเคียงน้อย

มนุษย์เราต่อสู้กับโรคมะเร็งมายาวนาน เทคโนโลยีการแพทย์ ในปัจจุบันทำให้เราตรวจพบโรคมะเร็งได้ไวขึ้นกว่าเมื่อก่อน จึงสามารถรักษาได้ทันและหายได้หากพบตั้งแต่ระยะแรก

องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง หรือ IARC ขององค์การอนามัยโลกเผยรายงานสถานการณ์มะเร็งทั่วโลกประจำปี 2018 ประมาณการณ์ตัวเลขผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 18  ล้านคน และจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเพิ่มสูงขึ้นเป็น 9.6 ล้านคนภายในปีนี้ ที่น่าตกใจคือ มากกว่าร้อยละ 50 ของผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งอยู่ในทวีปเอเชีย  ซึ่งสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ที่ไม่ได้ตระหนักและให้ความสำคัญเท่าที่ควร

  • การรักษาโรคมะเร็งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
  • ภูมิคุ้มกันในร่างกาย กับการฆ่าเซลล์มะเร็ง
  • หลักการทำงานของภูมิคุ้นกันบำบัด
  • ความแตกต่างระหว่างยาเคมีบำบัด ยาออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง และยาภูมิคุ้มกันบำบัด
  • โรคมะเร็ง ที่สามารถรักษาได้ด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด
  • ประสิทธิภาพของการรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด

การรักษาโรคมะเร็งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

  • การผ่าตัด
  • การฉายรังสี
  • การให้ยาเคมีบำบัดหรือยาคีโม
  • การให้ยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง
  • ภูมิคุ้มกันบำบัด

ภูมิคุ้มกันในร่างกาย กับการฆ่าเซลล์มะเร็ง

ปัญหาที่สำคัญของมะเร็งบางชนิดคือ สามารถกดสัญญาณการระดมภูมิคุ้มกันหรือสั่งห้ามไม่ให้ เม็ดเลือดขาว ที่เปรียบเสมือนทหารประจำตัวของร่างกาย เข้ามาทำลายเซลล์มะเร็งได้ เซลลมะเร็งจึงสามารถหลบซ่อน และแพร่กระจายไปอย่างไม่จบสิ้น จึงเป็นที่มาของยามะเร็งที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน

หลักการทำงานของภูมิคุ้นกันบำบัด

เมื่อเซลล์เกิดความผิดปกติจนกลายเป็นมะเร็ง จะมีผิวเซลล์แตกต่างออกไป ซึ่งเม็ดเลือดขาวสามารถแยกแยะได้และคอยฆ่าสิ่งแปลกปลอมก่อนที่จะโตขึ้นมาเป็นก้อน แต่หากเซลล์มะเร็งแข็งแรงขึ้นหรือภูมิคุ้มกันร่างกายแย่ลง เซลล์มะเร็งจะสามารถพัฒนาตัวเองสร้างสารขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เม็ดเลือดขาวมองเห็นว่ามะเร็งเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงไม่เกิดการทำลายเซลล์มะเร็ง แต่ยาภูมิคุ้มกันบำบัดจะเข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพให้เม็ดเลือดขาวสามารถมองเห็นว่าเซลล์มะเร็งเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงสามารถฆ่ามะเร็งได้สำเร็จ

ความแตกต่างระหว่างยาเคมีบำบัด ยาออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง และยาภูมิคุ้มกันบำบัด

ยาเคมีบำบัดออกฤทธิ์ทำลายทั้งเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็ง ส่วนยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (molecular targeted therapy)  เป็นการรักษาเฉพาะแต่ละบุคคล แพทย์จะต้องทำการตรวจว่าคนไข้แต่ละคนเหมาะสมกับยาชนิดใด

สำหรับยาคุ้มกันบำบัดมีกลไกการออกฤทธิ์ ทำให้เม็ดเลือดขาวมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีผลข้างเคียงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด แต่การที่เม็ดเลือดขาวมีความสามารถมากเกินไปบางครั้งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวเป็นผื่น  ลำไส้อักเสบ ท้องเสีย  ปอดอักเสบรวมถึงอาจส่งผลกระทบให้ไทรอยด์ทำงานมากหรือน้อยเกินไป หรือน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้  ฯลฯ

นอกจากแพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ยาตามชนิดของมะเร็งแล้ว ระยะของมะเร็งก็มีผลต่อการเลือกใช้ยาเช่นกัน  โดยยาออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง และยาภูมิคุ้มกันบำบัดเหมาะสำหรับการใช้รักษามะเร็งระยะ 3-4

โรคมะเร็ง ที่สามารถรักษาได้ด้วย ภูมิคุ้มกันบำบัด

ดังต่อไปนี้

  • มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด
  • มะเร็งปอด
  • มะเร็งศีรษะและลำคอ
  • มะเร็งในกระเพาะปัสสาวะและระบบทางเดินปัสสาวะ
  • มะเร็งไต
  • มะเร็งตับ
  • มะเร็งเต้านมบางชนิด
  • มะเร็งกระเพาะอาหารที่ดื้อต่อยาเคมีบำบัด
  • มะเร็งลำไส้บางชนิด

ประสิทธิภาพของการรักษาด้วยยา ภูมิคุ้มกันบำบัด

การรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด สามารถใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น หรือใช้เดี่ยวๆ ก็ได้ ขึ้นกับอาการของโรคมะเร็ง จากสถิติการรักษาพบว่า ก่อนที่จะมีการค้นพบการรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด ผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา มีอัตราการอยู่รอด 3 ปี โดยเฉลี่ยประมาณ  5% แต่เมื่อมีการใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดทำให้อัตราการอยู่รอด 3 ปี  เพิ่มขึ้นเป็น 42% เช่นเดียวกับอัตราการอยู่รอด 5  ปี ในผู้ป่วยมะเร็งปอดแต่เดิมมีอัตราการอยู่รอดเพียง 6% ก็เพิ่มขึ้นเป็น 15%  ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาระยะ 4  ซึ่งเซลล์มะเร็งกระจายไปยังปอด ตับ และกระดูก ได้รับยาภูมิคุ้มกันบำบัดประมาณ 1 ปีครึ่ง สามารถควบคุมให้โรคสงบ โดยไม่มีผลข้างเคียง และกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ เช่นเดียวกับผู้ป่วยมะเร็งไตที่ได้รับการรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัดประมาณ 1 ปี ก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้โดยไม่มีอาการแทรกซ้อน การรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัดนับเป็นวิธีรักษามะเร็งด้วยยาที่มีประสิทธิภาพมาก

การรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด สร้างความแตกต่างอย่างชัดเจนต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทำให้การรักษาดีขึ้น อีกทั้งมีผลข้างเคียงน้อย

อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคมะเร็งในแต่ละชนิดมีความจำเพาะเจาะจงสูง ผู้ป่วยควรเข้ารับคำปรึกษาและตรวจร่างกายกับแพทย์เฉพาะทางอย่างละเอียด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีที่สุด

การตรวจพบมะเร็งยิ่งเร็ว ยิ่งมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นจึงไม่ควรละเลยการตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงการตรวจเพิ่มเติมตามอายุ ซึ่งจะช่วยให้พบความผิดปกติของร่างกาย โดยเฉพาะมะเร็งซึ่งเป็นโรคร้ายแรงที่สามารถรักษาให้หายขาดหากพบในระยะเริ่มต้น ในกรณีที่พบในระยะ 4 หรือระยะลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ก็ยังสามารถควบคุมให้โรคสงบและผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?