ข้อเข่าเสื่อม ปัญหาที่รักษาได้

ข้อเข่าเสื่อม ปัญหาที่รักษาได้

HIGHLIGHTS:

  • ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวไกล ทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาอาการข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีต่างๆ มากขึ้น เช่น ฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าเทียม ฉีดด้วยเกล็ดเลือดเข้มข้น การผ่าตัดส่องกล้อง และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน
  • การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ปรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต เลือกออกกำลังกายที่เหมาะกับวัยและสภาพของข้อเข่า หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการปะทะหรือมีแรงกระแทกต่อข้อเข่า จะช่วยลดและชะลอปัญหาข้อเข่าเสื่อมได้
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Arthroplasty) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดอาการปวด เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมได้ หลังจากผ่าตัดสามารถใช้ข้อเข่าเทียมไปได้อีก 10-20 ปี โอกาสที่จะต้องผ่าตัดซ้ำเกิดขึ้นน้อยมาก

โดยปกติแล้ว อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมสามารถบรรเทาลงได้ แม้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับข้อเข่าจะไม่สามารถรักษาให้คืนกลับไปสภาพเดิมได้ก็ตาม ซึ่งวิธีการดูแลเพื่อบรรเทาอาการของโรคนี้นั้นมีหลายระดับ สิ่งที่ทำได้โดยผู้ป่วยเอง เช่น การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่สมดุลตามคำแนะนำของแพทย์ หรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการกระแทก สิ่งเหล่านี้คือตัวช่วยชะลอการลุกลามของโรคข้อเข่าเสื่อมไม่ให้รุนแรงกว่าเดิม และช่วยลดอาการปวดของผู้ป่วยได้ แต่หากอาการปวดเข่านั้นยังไม่บรรเทาลง ควรรีบมาพบแพทย์

วิธีรักษาข้อเข่าเสื่อมที่เหมาะสม

เมื่อแพทย์ประเมินระดับความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อมแล้ว จะแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับระดับความรุนแรงของโรคของผู้ป่วยเอง โดยจะพิจารณาการรักษาแตกต่างกันเป็นรายบุคคลไป เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีข้อบ่งชี้และข้อจำกัดที่ไม่เหมือนกัน

1. การปรับพฤติกรรมและการออกกำลังกาย

เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อต้นขาและกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า เพราะกล้ามเนื้อที่แข็งแรงจะช่วยพยุงข้อเข่า และถ่ายเทน้ำหนักจากข้อเข่ามาที่กล้ามเนื้อได้ดี ทำให้ข้อเข่าไม่ต้องรับน้ำหนักมากจนเกินไป แนะนำให้ผู้สูงวัยออกกำลังกายประเภทที่มีแรงกระแทกต่อข้อเข่าน้อย (Low-Impact Exercise) เช่น ว่ายน้ำ การปั่นจักรยานอยู่กับที่ การเต้นแอโรบิกที่ไม่มีท่ากระโดด การเต้นแอโรบิกในน้ำ หรือการเดิน เป็นต้น

แต่หากท่านยังอายุไม่มากนัก หรือออกกำลังกายเป็นประจำ ก็อาจจะเลือกเป็นการวิ่งจ๊อกกิ้ง การเดินเร็ว การเต้นแอโรบิกได้ หรือการออกกำลังแบบบอดี้เวทเทรนนิ่ง (Body Weight Training) คลิกดูตัวอย่างท่าออกกำลังกายเพื่อป้องกันอาการปวดเข่าได้ ที่นี่

2. การรักษาด้วยการใช้ยา

วิธีนี้แพทย์จะพิจารณาให้ยาแก้ปวด ยาต้านการอักเสบ และ/หรือยาบำรุงข้อเข่าแก่ผู้ป่วย เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) กลูโคซามีน(Glucosamine) ไดอะเซอรีน (Diacerein)  ยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นต้น เพื่อลดอาการปวดข้อเข่าที่รบกวนชีวิตประจำวันของผู้ป่วย อาจจะเป็นแบบเม็ด หรือแบบฉีดก็ได้ ทั้งนี้ อาจรวมไปถึงการฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ในบางกรณีที่จำเป็น

3. การทำกายภาพบำบัด

เพื่อบรรเทาอาการปวดบริเวณข้อเข่า เช่น การทำอัลตราซาวด์ การใช้เลเซอร์รักษา การรักษาด้วยคลื่นสั้น (Shortwave Therapy) การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Electrical Stimulation) การประคบด้วยแผ่นร้อนและแผ่นเย็น รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด ซึ่งอาจรวมไปถึงการเสริมสร้างความแข็งแรงและเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าด้วยเช่นกัน

4. การรักษาทางชีวภาพ หรือ Biological Therapy

ซึ่งเป็นเทคนิคทางการแพทย์ที่ใช้ในการรักษาอาการผิดปกติของกระดูกอ่อนและน้ำเลี้ยงข้อเข่า โดยสามารถทำได้โดยวิธีดังต่อไปนี้

4.1) การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าเทียม (Hyaluronic acid)

ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับเป็นสารหล่อชนิดหนึ่งเข้าไป เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดอาการฝืดตึงของข้อเข่า โดยมุ่งเน้นรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม ด้วยการเพิ่มน้ำหล่อลื่นและกระตุ้นสารตั้งต้นผิวข้อเข่า เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม และรักษาด้วยยาแล้วไม่หาย แต่ก็ยังไม่ได้อยู่ในระยะรุนแรงถึงขั้นต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม ในด้านผลการรักษา จะเห็นผลจากประสิทธิภาพจริงที่ประมาณ 4-6 สัปดาห์ หรืออาจจะนานได้ถึง 6 เดือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคเป็นรายๆ ไป แต่หากมีภาวะข้อเข่าเสื่อมมากๆ แล้วนั้น การรักษาอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

นอกจากการใช้กับผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการผ่าตัดแล้ว ยังสามารถใช้ร่วมกับการผ่าตัดผิวข้อเข่าเทียมได้ด้วย เพื่อช่วยปรับสมดุลน้ำในข้อเข่าหลังการผ่าตัดและช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยให้สามารถกลับมาใช้ข้อเข่าที่บาดเจ็บได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากการรักษาด้วยวิธีนี้มีข้อบ่งชี้และข้อห้ามในการใช้อยู่ จึงควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อก่อนจะดีที่สุด

4.2) การฉีด Platelet Rich Plasma (PRP)

หรือสารสกัดเกล็ดเลือด จากเลือดของผู้ป่วยเองที่มีความเข้มข้นของ growth factor หรือสารที่ช่วยเร่งกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อโดยธรรมชาติ ช่วยให้บริเวณที่มีการบาดเจ็บดีขึ้น เป็นวิธีที่ได้ผลดี ปลอดภัย มีประสิทธิภาพสูง และมีผลข้างเคียงต่ำ เนื่องจากเป็นสารสกัดจากเลือดของผู้ป่วยเอง เหมาะกับผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม หรือมีการบาดเจ็บของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณข้อเข่า

สามารถเห็นผลของการรักษาได้ตั้งแต่ 4-6 สัปดาห์ขึ้นไป ทั้งนี้ เนื่องจากการรักษาด้วยวิธีนี้มีข้อบ่งชี้และข้อจำกัดอยู่ จึงควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อก่อนรับการรักษา

5. การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง (Arthroscopic Surgery)

คือ การผ่าตัดรูปแบบหนึ่งของการผ่าตัดแบบแผลเล็กเจ็บน้อย ซึ่งมีข้อดีคือแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อข้างเคียง ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวไว ทำให้การดูแลหลังการผ่าตัด รวมถึงการทำกายภาพบำบัดทำได้ง่ายกว่าเดิม ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น การผ่าตัดส่องกล้องนั้นทำได้โดยใช้กล้องวิดีโอขนาดเล็กสอดเข้าไปในข้อเข่า และเชื่อมต่อสัญญาณเข้ากับจอภาพทีวี ทำให้เห็นส่วนต่างๆ ภายในข้อเข่าได้อย่างชัดเจน จึงช่วยให้แพทย์ทำการรักษาได้ง่ายขึ้น และรักษาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

การผ่าตัดส่องกล้องนี้มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการของหมอนรองข้อเข่าฉีกขาด เอ็นข้อเข่าขาด กระดูกอ่อนแตก หรือข้อเข่าล็อค เป็นต้น การผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่านั้นไม่ได้น่ากลัวแต่อย่างใด และยังช่วยตอบโจทย์ผู้คนในปัจจุบันมากขึ้น เพราะไลฟ์สไตล์ของผู้คนในยุคปัจจุบันนั้นมีความเร่งรีบ การหยุดงานหลายๆ วันหลังผ่าตัดข้อเข่าจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยควรทำหลังผ่าตัดเลยก็คือ ต้องระมัดระวังและป้องกันตนเองอย่างดี ทำกิจกรรมต่างๆ ตามศักยภาพของตัวเองเท่าที่ทำได้ ไม่ออกกำลังกายหนักจนเกินไป และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

6. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Arthroplasty)

เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดอาการปวด เพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของข้อเข่า และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมได้ โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดเอาพื้นผิวข้อเข่าที่เสียหายหรือเสื่อมสภาพออก แล้วแทนที่ด้วยชิ้นส่วนโลหะอัลลอยด์ และคั่นระหว่างโลหะด้วยแผ่นโพลีเอทิลีน ทั้งนี้ ก็มีโอกาสที่ข้อเข่าเทียมอาจจะมีสภาพสึกหรอในวันข้างหน้าและทำให้ต้องกลับมาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมอีกครั้ง ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น การใช้ชีวิตหลังจากผ่าตัด เป็นต้น

แต่จากงานวิจัยแล้ว สามารถใช้ข้อเข่าเทียมไปได้อีก 10-20 ปี และโอกาสที่จะต้องผ่าตัดซ้ำอีกครั้งนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก ทั้งนี้ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ปัจจุบันทำได้ 2 วิธี ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อบ่งชี้และข้อจำกัดแตกต่างกันออกไป คือ

6.1 การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด (Total Knee Arthroplasty: TKA)

เป็นการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยการผ่าตัดเอาผิวข้อเข่าส่วนที่เสียหรือเสื่อมสภาพออกทั้งหมด ทั้งส่วนปลายของกระดูกต้นขา (Femur) และส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) ทั้งฝั่งด้านในและด้านนอก (Medial and Lateral Compartment) แล้วแทนที่ด้วยผิวข้อเข่าเทียมที่ทำจากโลหะอัลลอยด์ครอบหรือคลุมกระดูกส่วนที่เฉือนออกไป และมีแผ่นโพลีเอทิลีนชนิดพิเศษกั้น

6.2 การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (Unicompartment Knee Arthroplasty: UKA)

เป็นการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยการผ่าตัดเอาผิวข้อเข่าเฉพาะส่วนที่เสียหายหรือเสื่อมสภาพออก นั่นคือเฉพาะฝั่งด้านในหรือด้านนอกเพียงด้านเดียว (Medial and Lateral Compartment) ผิวข้อเข่าที่เสื่อมจะถูกแทนที่ด้วยผิวโลหะอัลลอยด์ โดยมีแผ่นโพลีเอทิลีนซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวรองรับ แทนที่หมอนรองกระดูกเดิม กั้นระหว่างโลหะ วิธีนี้ถือเป็นนวัตกรรมใหม่และเป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดแผลเล็ก ที่ช่วยเก็บผิวข้อเข่ารวมถึงเอ็นและเนื้อเยื่อเดิมที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้เกิดความรู้สึก เสมือนธรรมชาติ หลังการผ่าตัด ซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญของการผ่าตัดด้วยวิธีนี้

จะเห็นได้ว่าด้วยวิวัฒนาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวไกล ทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาอาการข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีต่างๆ มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งการผ่าตัดเป็นทางออกเสมอไป อย่างไรก็ตาม การป้องกันและดูแลตัวเองก็ยังถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ผู้ป่วยสามารถเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ปรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตให้เหมาะกับสภาวะร่างกายของตนเอง ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกดและแรงกระแทกที่เข่า เช่น การนั่งคุกเข่า การนั่งยองๆ หรือการยกของหนัก เลือกออกกำลังกายที่เหมาะกับวัยและสภาพของข้อเข่า รวมถึงหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการปะทะหรือมีแรกกระแทกต่อข้อเข่า โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ซึ่งมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บต่อข้อเข่าได้มาก เพียงเท่านี้ก็สามารถถนอมข้อเข่าให้อยู่กับเราไปได้อีกนาน

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?