การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (Unicompartment Knee Arthroplasty: UKA)

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน  (Unicompartment Knee Arthroplasty: UKA)

HIGHLIGHTS:

  • เมื่อเริ่มมีอาการข้อเข่าเสื่อม ที่ทำการรักษาด้วยวิธีต่างๆ แล้วยังไม่ดีขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ ที่มีประสบการณ์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็วที่สุด ก่อนที่จะมีอาการรุนแรงจนต้องเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
  • ข้อเข่าเสื่อมที่เกิดจากการใช้งานตามวัย มากกว่า 90 % มักจะเริ่มมีการเสื่อมที่ผิวข้อเข่าด้านในเพียงด้านเดียว ทำให้เหมาะต่อการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าบางส่วน มากกว่าที่จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าทั้งหมด
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วนเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก จึงเสียเลือดน้อย ฟื้นตัวได้ไว อัตราการเกิดโรคแทรกซ้อนต่ำ สามารถใช้ข้อเข่าได้ใกล้เคียงข้อเข่าปกติของผู้ป่วยเองมากที่สุด ให้ความรู้สึก “เป็นธรรมชาติ” ขณะที่เดินหรือทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่างๆ

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม สามารถเลือกทำได้ในหลากหลายช่วงอายุ ซึ่งแต่ละช่วงอายุก็มีการใช้เทคนิคการผ่าตัดที่เหมาะสมแตกต่างกันไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและอาการของโรค รวมถึงปัจจัยอื่นๆ แต่ในปัจจุบัน เนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาก้าวหน้าไปไกล ทำให้มีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมโดยใช้เทคนิคใหม่ ได้แก่ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน ซึ่งมีข้อดีต่างๆ มากมาย เช่น ผู้ป่วยสามารถเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเข้าไปแทนเฉพาะจุดที่มีความเสื่อม โดยที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อ

ผู้ป่วยจึงสามารถหลีกเลี่ยงการผ่าตัดใหญ่และการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบข้อเข่าที่รุนแรง ช่วยลดอาการแทรกซ้อนต่างๆ และยังช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยได้อีกด้วย ทั้งนี้ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และข้อบ่งชี้ต่างๆ ของผู้ป่วย

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (Unicompartment Knee Arthroplasty: UKA)

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือเรียกสั้นๆ ได้ว่า UKA คือ การผ่าตัดเอาผิวข้อเข่าเฉพาะส่วนที่เสียหายหรือเสื่อมสภาพออก นั่นคือด้านในหรือด้านนอก (Medial or Lateral Compartment) เพียงด้านเดียว ผิวข้อเข่าที่เสื่อมจะถูกแทนที่ด้วยโลหะอัลลอยด์ โดยมีแผ่นโพลีเอทิลีนกั้นระหว่างโลหะ (Figure 1) จึงเป็นวิธีการผ่าตัดที่ช่วยเก็บผิวเข่าด้านที่ยังมีสภาพดีไว้ รวมถึงเส้นเอ็นภายในข้อเข่าให้อยู่ในสภาพเดิม เนื่องจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วนนั้นเป็นการผ่าตัดเปิดแผลขนาดเล็กที่ยาวเพียงแค่ 3 – 3.5 นิ้วเท่านั้น จึงก่อให้เกิดความเสียหายต่อกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆ ข้อเข่าน้อยลงไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น โดยทั่วไปแล้วข้อเข่าเสื่อมที่เกิดจากการใช้งานตามวัย มากกว่า 90 % มักจะเริ่มมีการเสื่อมที่ผิวข้อเข่าด้านในเพียงด้านเดียว ทำให้เหมาะต่อการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าบางส่วน มากกว่าที่จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าทั้งหมด


(Figure 1: Unicompartment Knee Arthroplasty: UKA)

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน เหมาะกับใคร

  • เหมาะกับผู้ป่วยที่มีข้อเข่าเสื่อมสภาพด้านเดียวเท่านั้น
  • อีกด้านหนึ่งของข้อเข่ายังมีสภาพที่ดีอยู่ และลูกสะบ้ายังไม่เสื่อม
  • การดำเนินของโรคอยู่ในระยะกลาง  มีการทำลายของกระดูกไม่มาก
  • ผู้ป่วยที่มีลักษณะขาที่โก่งไม่มาก และสามารถงอเหยียดเข่าได้ดี
  • ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ก็สามารถทำการเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วนได้ และต้องมีปัจจัยดังที่กล่าวข้างต้นมาร่วมด้วย รวมถึงมีการดำเนินชีวิตประจำวันที่มีการใช้งานข้อเข่าไม่หนักหน่วงจนเกินไป ทั้งนี้ สำหรับคนที่อายุอยู่ในช่วง 50-60 ปี หากแพทย์ประเมินแล้วพบว่าข้อเข่าเสื่อมไม่มาก การใช้งานข้อเข่าไม่หนักมาก จะแนะนำให้เปลี่ยนเป็นบางส่วน เพราะสามารถใช้งานไปได้ยาวนานอีก 10-20 ปี และหากในอนาคตมีการเสื่อมกลับมาใหม่ก็สามารถผ่าตัดด้วยวิธีอื่นได้

ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน

  • สามารถแก้ไขความเจ็บปวดที่เกิดจากภาวะข้อเข่าเสื่อมเฉพาะช่วงข้อเข่าด้านใดด้านหนึ่งได้ดี โดยสามารถเก็บรักษาผิวข้อเข่าหรือกระดูกอ่อน ตลอดจนเส้นเอ็นต่างๆ ภายในข้อเข่าที่ยังมีสภาพดีไว้
  • เนื่องจากการผ่าตัดวิธีนี้ยังคงรักษาเส้นเอ็นต่างๆ ภายในข้อเข่า รวมถึงผิวข้อที่มีสภาพดีเอาไว้ จึงทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ข้อเข่าได้ใกล้เคียงข้อเข่าปกติของผู้ป่วยเองมากที่สุด ให้ความรู้สึก “เป็นธรรมชาติ” ขณะที่เดินหรือทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่างๆ ได้ เช่น ผู้ป่วยจะสามารถงอข้อเข่าได้อย่างปกติและสามารถเหยียดเข่าได้สุด อีกทั้งยังสามารถนั่งพื้น นั่งยองๆ นั่งพับเพียบ หรือนั่งคุกเข่าแบบเดิมได้อีกด้วย
  • การผ่าตัดวิธีนี้ ถือเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็กเจ็บน้อย (Minimal Invasive Surgery) ทำให้เกิดแผลผ่าตัดขนาดเล็ก จึงสูญเสียเลือดน้อย ความรู้สึกเจ็บปวดหลังการผ่าตัดจึงน้อยตามกันไป อีกทั้งไม่มีการตัดเนื้อเยื่อเส้นเอ็นหรือกระดูกอ่อนที่ยังอยู่ในสภาพที่ดีออกไป จึงทำให้การฟื้นตัวของข้อเข่าเร็วขึ้น การพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียง 3-4 วันเท่านั้น อีกทั้งอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนก็ลดลงอีกด้วย
  • การผ่าตัดวิธีนี้ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเดินลงน้ำหนักขาข้างที่ผ่าได้หลังจากผ่าตัดเพียง 1-2 วัน ทำให้สามารถกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น และยังกลับไปทำงานได้เร็วขึ้น ภายใน 3-4 สัปดาห์หลังออกจากโรงพยาบาล
  • การเลือกผู้ป่วยอย่างถูกต้องเหมาะสม และทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะทำให้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วนได้ผลดี มีอายุการใช้งานยาวนาน 10-20 ปี และหากมีความจำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไขในอนาคต สามารถทำได้ง่ายกว่าการผ่าตัดแบบเปลี่ยนข้อเทียมทั้งหมด

ข้อจำกัดของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมข้างเดียว/บางส่วน/เฉพาะส่วน

  • เนื่องจากเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วนทำได้ยากกว่าการผ่าตัดแบบเปลี่ยนทั้งข้อ จึงต้องอาศัยแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางในการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ เพื่อให้ได้ผลการผ่าตัดที่ดีที่สุด
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วนนั้น จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือที่พร้อมและครบครัน เพื่อที่จะทำการผ่าตัดและวางตำแหน่งผิวข้อเข่าเทียมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ภายใต้ข้อจำกัด คือ ขนาดของแผลผ่าตัดที่เล็ก ทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วยให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
  • การผ่าตัดวิธีนี้ ไม่เหมาะกับ
    • ผู้ป่วยที่มีความโก่งงอของข้อเข่ามากเกินไป
    • ผู้ป่วยที่มีภาวะความเสื่อมของข้อเข่ามากในขั้นรุนแรง
    • ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกบางชนิด เช่น มีภาวะกระดูกพรุนขั้นรุนแรง โรครูมาตอยด์ หรือโรคกระดูกอ่อนบางโรค เช่น โรคกระดูกอ่อนไม่แข็งแรง
    • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก
    • คนที่ยังอายุน้อยมากๆ และยังอยากวิ่งหรือเล่นกีฬาที่ใช้ข้อเข่าเยอะๆ เพราะอาจทำให้ข้อเข่าสึกเร็วกว่ากำหนดได้

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน

เมื่อผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์  โดยใช้ไม้ช่วยพยุงการเดินในช่วงแรกโดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ รวมถึงการจัดบ้านให้มีความเหมาะสมและปลอดภัย ออกกำลังกายตามที่แพทย์แนะนำ และอย่าลืมมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามอาการและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัด

อายุการใช้งานของข้อเข่าที่ทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน

เป็นคำถามที่ผู้ป่วยมักถามแพทย์อยู่เสมอ จริงๆ แล้วระยะเวลาที่ข้อเข่าเทียมจะอยู่กับเราได้นานแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การเลือกเทคนิคการผ่าตัดอย่างถูกต้องเหมาะสมกับความรุนแรงของโรค การผ่าตัดนั้นทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ หรือคนไข้มีการใช้งานข้อเข่าอย่างไร ใช้งานข้อเข่าหนักมากแค่ไหน มีงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ The Lancet พบว่า ในบรรดาผู้ป่วยมากกว่า 55,000 คนที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า มีเพียง 3.9% เท่านั้นที่เข้ารับการผ่าตัดแก้ไขในช่วง 10 ปี และ 10.3% ที่เข้ารับการผ่าตัดแก้ไขในช่วง 20 ปีหลังการผ่าตัดครั้งแรก และยังมีอีกหลากหลายการศึกษาที่พบว่า มากกว่า 90% ของผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน ยังสามารถใช้ข้อเข่าเทียมได้ดีถึงแม้ว่าจะผ่าตัดมาแล้วมากกว่า 10 ปีก็ตาม จึงสามารถบอกได้ว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วนสามารถใช้งานได้ยาวนานถึง 10-20 ปี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจะใช้ข้อเข่าเทียมได้ยาวนานแค่ไหนก็ขึ้นกับอีกหลากหลายปัจจัยข้างต้นด้วยเช่นกัน

กิจกรรมของผู้ป่วยที่สามารถทำได้ในระยะยาวหลังผ่าตัด

เป้าหมายของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วนนั้นก็เพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติให้ได้มากที่สุดโดยปราศจากอาการปวด หากหลังผ่าตัดผู้ป่วยต้องการออกกำลังกาย สามารถเลือกการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสมรรถภาพของระบบหัวใจและหลอดเลือดและกล้ามเนื้อให้สูงขึ้น เช่น การว่ายน้ำ การออกกำลังกายในน้ำ การปั่นจักรยาน เป็นต้น อีกทั้งการออกกำลังกายที่ไม่มีแรงกระแทกต่อข้อเข่ายังช่วยยืดอายุข้อเข่าเทียมให้ใช้งานได้นานขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่อข้อเข่า เช่น การวิ่ง บาสเกตบอล หรือออกกำลังกายที่มีการปะทะ เช่น รักบี้ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วนนั้น มีข้อดีอยู่มาก เช่น ความเป็นธรรมชาติของข้อเข่าหลังผ่าเมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าทั้งหมด และอัตราการเกิดโรคแทรกซ้อนต่ำเนื่องจากเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ทำให้ความเชี่ยวชาญของแพทย์เฉพาะทางผู้ผ่าตัดเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วนนั้นก็ไม่สามารถทำได้ในผู้ป่วยทุกราย ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรคและตำแหน่งของตัวโรคที่ถูกต้อง กิจกรรมหรือกีฬาที่ต้องการทำเป็นประจำหลังการผ่าตัด รวมถึงช่วงอายุที่เหมาะสมของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการข้อเข่าเสื่อม หากรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การรับประทานยา การฉีดเกล็ดเลือด การทำกายภาพบำบัดแล้วยังไม่ดีขึ้น และยังไม่อยากเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด ก็ควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ ที่มีประสบการณ์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาให้เร็วที่สุดก่อนที่ข้อเข่าจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น

ไม่แน่ใจว่า ควรผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมหรือไม่ ทำนัดปรึกษาหมอออนไลน์ ผ่าน Video Call ได้ คลิกที่นี่

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?