“ข้อเข่าเสื่อม” เปลี่ยน….บางส่วนได้

“ข้อเข่าเสื่อม” เปลี่ยน….บางส่วนได้

“ข้อเข่าเสื่อม” อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติตามอายุที่มากขึ้นหรือถูกใช้งานมากเกินกำลัง แต่ บ่อยครั้งที่พบว่าอาจเกิดหลังจากเคยมีโรคอื่น ๆ นำหน้ามาก่อน ซึ่งกรณีนี้ยากมากที่จะไปหยุดการเสื่อมที่ตามมาได้ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบัน เรายังพอจะยืดระยะเวลาไม่ให้ข้อเสื่อมเร็วเกินไปออกไปได้บ้าง ซึ่งต้องรู้จักวิธีดูแลที่ถูกต้อง หากพบว่ามีปัญหาเรื่องข้อเข่าเสื่อมควรปรึกษาแพทย์ เพื่อวางแผนการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะขณะที่อาการข้อเข่าเสื่อมยังอยู่ในระยะต้น ๆ เพราะการดูแลรักษาข้อเข่าเสื่อมสามารถทำได้หลากหลายวิธี และไม่ได้จำเป็นต้องผ่าตัดเสมอไป หรือหากแม้ความเสื่อมเป็นมาก มีอาการปวดมากหรือการใช้งานผิดปกติ เดินได้แต่ลำบากจนจำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไข วิธีการผ่าตัดก็มีให้เลือกหลายวิธี เช่น วิธีการผ่าตัดดัดเข่า การเปลี่ยนข้อเข่าทั้งข้อ หรือในกรณีที่เสื่อมไม่มากก็สามารถเปลี่ยนบางส่วนได้

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในปัจจุบันนั้น หลัก ๆ  มีอยู่ 2 แบบ คือการผ่าตัดเปลี่ยนทั้งข้อ และการผ่าตัดเปลี่ยนแค่บางส่วน

การผ่าตัดรักษาข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือที่เรียกว่า Unicompartment Knee Arthroplasty (UKA) คือการผ่าตัดเอาผิวข้อเข่าเฉพาะส่วนที่เสื่อมออก ส่วนกระดูกอ่อนและกระดูกในส่วนอื่นที่ปกติดี ยังไม่มีปัญหา จะยังคงรักษาสภาพเดิมไว้  เนื่องจากโดยทั่วไปข้อเข่าเสื่อมที่เกิดจากการใช้งานตามวัย มักจะเริ่มมีการเสื่อมที่ผิวของช่องข้อเข่าด้านในเพียงด้านเดียว ซึ่งทำให้เหมาะต่อการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าแบบ UKA มากกว่าที่จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าทั้งลูก เพราะการเปลี่ยนข้อเข่าทั้งลูก ต้องตัดผิวกระดูกอ่อนออกหมด รวมทั้งกระดูกต้นขา หน้าแข้ง ลูกสะบ้า ทำให้เป็นการผ่าตัดที่ใหญ่มาก มีการบาดเจ็บมาก เลือดออกมาก เนื้อเยื่อบาดเจ็บมาก หลังการผ่าตัดจะรู้สึกถึงอาการทุกข์ทรมานมาก และต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน นอกจากนี้องศาการงอและเหยียดเข่าอาจไม่ได้ดีเท่าที่ควร การเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วนจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน (UKA)

สามารถแก้ไขความเจ็บปวดที่เกิดจากภาวะข้อเข่าเสื่อมเฉพาะช่องข้อเข่าด้านในได้ดี โดยสามารถเก็บรักษาผิวข้อเข่าหรือกระดูกอ่อน ตลอดจนเส้นเอ็นต่างๆ ภายในข้อเข่าที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้การผ่าตัดนั้นเล็ก  ความรู้สึกเจ็บปวดหลังการผ่าตัดน้อย สูญเสียเลือดน้อย ไม่ต้องมีการตัดเนื้อเยื่อเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อ ทำให้การฟื้นตัวของเข่าเร็วกว่าปกติ การพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้น สามารถกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น

ผลของการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วนทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ข้อเข่าได้ใกล้เคียงข้อเข่าปกติมากที่สุด สามารถงอข้อเข่าได้เหมือนปกติและเหยียดเข่าได้สุด สามารถนั่งพื้นหรือนั่งยอง ๆ หรือคุกเข่า ได้ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นธรรมชาติ แต่การผ่าตัดแบบนี้อาจจะไม่เหมาะกับคนที่อยากวิ่งและเล่นกีฬาหนัก ๆ เพราะอาจจะทำให้ข้อสึกเร็วกว่ากำหนด

การเลือกผู้ป่วยอย่างถูกต้องเหมาะสม และทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะทำให้การเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมชนิดบางส่วนได้ผลดี มีอายุการใช้งานยาวนาน 10-20 ปี และหากมีความจำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไขในอนาคต สามารถทำได้ง่ายกว่าการผ่าตัดแบบเปลี่ยนข้อเทียมทั้งข้อ

ใครบ้างที่สามารถเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน

ต้องมีการเลือกอย่างเหมาะสม  ที่สำคัญสุดข้อแรกคือผู้ที่ควรได้รับการรักษาเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ข้อเข่าต้องมีความเสื่อมเฉพาะช่องข้อด้านในเท่านั้น  ขาโก่งไม่มาก การดำเนินของโรคอยู่ในระยะกลาง ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ก็สามารถทำการเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วนได้ อยู่ที่ว่าคนไข้มีการใช้งานยังไง หนักหน่วงแค่ไหน  สำหรับคนที่อายุไม่มากประมาณ 50 ปี หากข้อเข่าเสื่อมไม่มาก การใช้งานข้อเข่าไม่สมบุกสมบันนัก ก็แนะนำให้เปลี่ยนเป็นบางส่วน เพราะสามารถใช้งานไปได้ยาวนานอีก 10-20 ปี ถึงวันนั้นหากมีการเสื่อมกลับมาใหม่ก็สามารถผ่าตัดด้วยวิธีอื่น หรือผ่าตัดแบบเปลี่ยนทั้งข้อได้ อย่างไรก็ตามอายุที่เหมาะสมควรอยู่ที่มากกว่า 65 ปีขึ้นไป

แต่ถ้าอายุน้อยมาก ๆ ยังมีการใช้งานข้อเข่าอย่างหนักหน่วง เช่น นักกีฬา แนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดและดัดปรับมุมข้อเข่าแทน (High Tibial Osteotomy – HTO) การดัดและปรับมุมข้อเข่าทำเพื่อเปลี่ยนแนวแรงของการรับน้ำหนักของกระดูก จากจุดที่เสียมากๆ ให้มาลงตรงส่วนกระดูกที่ดี เพื่อให้การรับแรงกระจายได้สมดุล ทำให้สามารถใช้งานได้อย่างเป็นธรรมชาติมากกว่า

ข้อจำกัดของการเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน

  1. การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเทียมบางส่วนทำได้ยากกว่าการผ่าตัดแบบเปลี่ยนทั้งข้อ จึงต้องทำโดยแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางในการผ่าตัด เพราะเทคนิคในการทำผ่าตัดยากกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนแบบทั้งข้อ
  2. ต้องอาศัยเครื่องมือที่พร้อมสมบูรณ์เพื่อช่วยในการผ่าตัด เพื่อให้สามารถทำการผ่าตัดและวางตำแหน่งผิวข้อเข่าเทียมได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
  3. การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีภาวะความเสื่อมมากในขั้นรุนแรง หรือมีภาวะความโก่งงอของข้อเข่ามากเกินไป หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกบางชนิด เช่น มีภาวะกระดูกพรุนขั้นรุนแรง รูมาตอยด์ หรือโรคกระดูกอ่อนบางโรค เช่น กระดูกอ่อนไม่แข็งแรง

ข้อ…ขอให้คิด “การเลือกผู้ป่วยให้เหมาะสมตามแต่ละอายุ ความรุนแรงและตำแหน่งตัวโรค บวกกับความเชี่ยวชาญของแพทย์เฉพาะทาง คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพอย่างสูง แต่อย่างไรก็ตาม ของเทียมหรือจะสู้ของแท้ ของเทียมก็คือของเทียมมีแต่ความแข็งถ้าใช้มากใช้ไม่ดีก็มีแต่สึก แต่กระดูกมีทั้งความแข็งและความยืดหยุ่นและสามารถซ่อมแซมตัวของมันเองได้ ความยืดหยุ่นจะช่วยลดการสึกหรอได้ เหมือนเครื่องยนต์ที่ต้องมีน้ำมันหล่อลื่นเพื่อช่วยลดการสึกหรอ ร่างกายคนเราสามารถสร้างเซลล์กระดูกอ่อนขึ้นมาใหม่ได้ ถ้าดูแลให้ดีก็จะไม่สึก หรือถ้าสึกก็จะสึกน้อยสึกช้า พยายามควบคุมน้ำหนักตัว อย่าให้ข้อกระดูกต้องแบกรับน้ำหนักมากเกินไป ควรใช้งานอย่างเหมาะสม ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ เท่านี้ข้อก็จะขออยู่กับเราไปอีกนานแล้วล่ะครับ”

ข้อเข่าเสื่อม ปรึกษาหมอออนไลน์ ผ่าน Video Call คลิกที่นี่

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?