ลูกไซส์เล็ก (S) หรือ ลูกไซส์ใหญ่ (XL) แบบไหนที่ต้องกังวล?

ลูกไซส์เล็ก (S) หรือ ลูกไซส์ใหญ่ (XL) แบบไหนที่ต้องกังวล?

Highlights:

  • น้ำตาล เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อความสูงของเด็กๆ เนื่องจากน้ำตาลจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมามาก ซึ่งฮอร์โมนอินซูลินจะไปยับยั้งการหลั่งโกรทฮอร์โมนของร่างกาย คุณพ่อคุณแม่ควรลดการกินน้ำตาลของลูกลง โดยเฉพาะช่วงก่อนนอน
  • ในกรณีที่เด็กมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ ที่เกิดจากการขาดโกรทฮอร์โมน ซึ่งพบได้ไม่บ่อย แพทย์ต้องทำการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัย หาสาเหตุของการขาดฮอร์โมน และทำการรักษาด้วยการฉีดโกรทฮอร์โมน 
  • ความอ้วนในเด็กมีผลเสียต่อสุขภาพหลายด้าน ทั้งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง  นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ภาวะตับอักเสบ ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ รบกวนการนอน จนเด็กๆ พักผ่อนไม่เพียงพอ หรืออาจส่งผลถึงชีวิตได้

นับจากการเตรียมตัวตั้งครรภ์ ฝากครรภ์ จนถึงหลังคลอด คุณพ่อคุณแม่ต่างมีความกังวลถึงความแข็งแรงสมบูรณ์ของลูก ตั้งแต่วัยทารก เป็นเด็กน้อย จนกระทั่งโต ความกังวลก็ยังไม่เคยหายไป  กังวลว่าลูกจะไม่สูง ดูตัวเล็กกว่าเพื่อน ผอมแห้งน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์  หรืออาจจะอ้วน น้ำหนักเกิน ตัวโตเกินวัย 

เด็กผอม แค่ไหนเรียกไซส์ S เด็กอ้วน แบบไหนเรียกไซส์ XL

การเจริญเติบโตของเด็ก  คือ การเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก และการเพิ่มขึ้นของความสูง การวินิจฉัยว่าลูกเตี้ยไป หรือสูงไป หรือเสี่ยงมีภาวะโรคอ้วนในเด็ก สามารถพิจารณาจากน้ำหนักและความสูงของเด็กเปรียบเทียบกับกราฟการเจริญเติบโตมาตรฐานในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก ซึ่งเป็นคู่มือสำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง  ที่นอกจากจะเป็นสมุดบันทึกการรับวัคซีนพื้นฐานแล้ว ยังเป็นคู่มือบันทึกสุขภาพและข้อมูลสำหรับการส่งเสริมการเจริญของเติบโตลูกน้อย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงมีข้อมูลความรู้สำหรับการดูแลลูกอีกด้วย

กรณีที่คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลหรือเมื่อเทียบจากกราฟการเจริญเติบโตแล้ว พบว่าลูกมีความสูง / น้ำหนัก น้อยหรือเกินมาตรฐาน โดยแสดงในกราฟชัดเจน เช่น น้ำหนักเคยขึ้นประมาณ 2-3 กิโลกรัมต่อปี กลายเป็น 5 กิโลกรัมแบบก้าวกระโดด หรือเด็กปกติควรสูง 4 เซนติเมตรต่อปี แต่ลูกสูงขึ้นเพียงปีละ 2-3 เซนติเมตร ผู้ปกครองอาจลองพิจารณาพาลูกน้อยไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อประเมินการเจริญเติบโต ว่าปกติสมวัยหรือไม่

นอกจากนี้เด็กตั้งแต่อายุ 5-6 ปี ซึ่งเป็นวัยเข้าโรงเรียน ทางโรงเรียนจะมีการชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูงนักเรียนเป็นประจำทุกภาคการศึกษา และประเมินการเจริญเติบโตเปรียบเทียบกับกราฟการเจริญเติบโตมาตรฐานของเด็กตามวัย หากพบเด็กมีปัญหาเรื่องน้ำหนักเกิน หรือตัวเล็กกว่ามาตรฐาน ผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา และป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และอันตรายของโรคอ้วน หรือปรึกษาเพื่อเพิ่มความสูงให้ลูกอย่างเหมาะสม 

เมื่อลูกตัวเล็ก เป็นเด็กไซส์ S

ปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กสูงตามวัย

นอกจากพันธุกรรมที่ส่งผลกับความสูงของเด็กมากถึง 70-80%  แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญ ที่อาจช่วยเปลี่ยนแปลงความสูงตามกรรมพันธุ์ ทำให้เด็กสูงตามวัยได้ ดังนี้

  • อาหาร การได้รับสารอาหารพอเพียงตามวัยครบ 5 หมู่ ประกอบด้วยแป้ง เนื้อสัตว์ ไขมัน ผักและผลไม้ ในปริมาณที่เหมาะสม เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เด็กสามารถเจริญเติบโตตามวัยได้อย่างเหมาะสม 
  • การนอน เด็กควรพักผ่อนด้วยการนอนหลับให้พอเพียงตามวัย เช่น ทารก 4-12 เดือน ควรนอน 12-16 ชั่วโมง/ วัน (รวมนอนกลางวัน) เด็ก 1-2 ปี ควรนอน 11-14 ชั่วโมง/ วัน (รวมนอนกลางวัน) เด็ก 3-5 ปี ควรนอน 10-13 ชั่วโมง/ วัน  และเด็ก 6-12 ปี ควรนอน 9 -12 ชั่วโมง/ วัน  นอกจากนี้ควรให้ลูกเข้านอนในเวลาใกล้เคียงเวลาเดิมทุกๆ วัน
  • การออกกำลังกาย มีผลต่อการเจริญเติบโตของกระดูกและกล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่เด็กเล็กจะวิ่งเล่นตามปกติ แต่เมื่อเริ่มเป็นเด็กโต กิจกรรมทางกายอาจลดลง บางคนชอบอ่านหนังสือ ดูทีวี หรือเล่นเกม ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรชวนลูกๆ วิ่งเล่น หรือเล่นกีฬาที่ลูกชอบวันละประมาณ 30 นาที เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน วิ่งเล่น ขยับร่างกายให้มากขึ้น  
  • น้ำตาล เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อความสูงของเด็กๆ เนื่องจากน้ำตาลจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมามาก ซึ่งฮอร์โมนอินซูลินจะไปยับยั้งการหลั่งโกรทฮอร์โมนของร่างกาย คุณพ่อคุณแม่ควรลดการกินน้ำตาลของลูกลง โดยเฉพาะช่วงก่อนนอน

ฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก

  • Growth Hormone เป็นฮอร์โมนเจริญเติบโต หลั่งจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า กระตุ้นให้กระดูกเพิ่มความยาวและ แข็งแรง เด็กที่ขาดฮอร์โมนนี้จะโตช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน มีความสูงต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ไม่กระทบต่อน้ำหนักตัว ปกติร่างกายสามารถหลั่งโกรทฮอร์โมนตลอดเวลา แต่จะหลั่งได้ดีที่สุดในช่วงกลางคืนประมาณ 2 ชั่วโมง หลังจากหลับสนิท
  • Thyroid Hormone ฮอร์โมนไทรอยด์หลั่งจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า ช่วยในการควบคุมระบบเมตาบอลิสมของร่างกายและการเจริญเติบโตของกระดูก ถ้าขาดฮอร์โมนไทรอยด์ก็จะมีการเติบโตความสูงที่น้อยกว่าปกติ โดยที่น้ำหนักอาจเพิ่มขึ้น

ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับ การเจริญเติบโตของเด็ก

  • ปวดขา
    คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกในวัยกำลังโต อาจประสบปัญหาลูกร้องไห้ปวดขากลางดึก หากตื่นเช้าแล้วอาการหายไป สามารถวิ่งเล่นตามปกติ เราเรียกภาวะนี้ว่า ภาวะปวดขาจากการเจริญเติบโต (Growing Pains) ซึ่งมักเป็นอาการปวดตามเข่า ต้นขา กระดูกหน้าแข็ง หรือบอกตำแหน่งได้ไม่ชัดเจน เมื่อบีบนวดมักจะดีขึ้น ส่วนมากเริ่มปวดตอนเย็นๆ ก่อนเข้านอน มักเกิดในช่วงกำลังเติบโตอายุ 3-12 ปี แต่หากการปวดนั้นยังคงอยู่ตลอดเวลา มีการเดินที่ผิดปกติร่วมด้วย อาจต้องไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุอื่น
  • ความเครียด
    การออกกำลังกายหักโหม หรือซ้อมกีฬามากเกินไป  รวมถึงการเรียน การสอบ อาจส่งผลให้เด็กๆ มีความเครียด อาจส่งผลต่อความสูงได้เช่นกัน

การดูแลให้ลูกมีการเจริญเติบโตที่สมวัย

การดูแลให้เด็กๆ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ นอนเป็นเวลาและออกกำลังกาย 30 นาทีต่อวัน เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้เด็กเจริญเติบโตตามวัย กรณีเด็กที่ได้รับการดูแลอย่างดี แต่ยังมีปัญหาด้านความสูง การพบแพทย์เป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยให้ลูกๆ สูงขึ้น โดยแพทย์จะรักษาจากสาเหตุที่วินิจฉัยพบ ดังนี้

  • หากเป็นเรื่องของการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ แพทย์จะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ ลดขนม เพิ่มการออกกำลังกาย และการนอน ซึ่งผู้ปกครองควรดูแลให้อาหารครบ 5 หมู่ งดอาหารมื้อดึก พาลูกวิ่งเล่นหรือออกกำลังกายทุกวัน รวมถึงเข้านอนในเวลาใกล้เคัยงเวลาเดิม 
  • รับประทานวิตามินดี หรือ แคลเซียมเสริม กรณีเด็กไม่ดื่มนม อาจเสริมด้วยแคลเซียม ซึ่งร่างกายของเด็กต้องการวันละ 800 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หรือ 200 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ทั้งนี้ไม่ควรให้รับประทานมากเกินความต้องการของร่างกาย เนื่องจากไม่เกิดประโยชน์ เพราะร่างกายสามารถดูดซึมได้ในปริมาณจำกัด  และอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องผูกได้
  • ในกรณีที่เด็กมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ เช่น สงสัยว่าอาจจะเกิดจากการขาดโกรทฮอร์โมน ซึ่งพบได้ไม่บ่อย แพทย์ต้องทำการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัย และหาสาเหตุของการขาดโกรทฮอร์โมน ซึ่งอาจเกิดจากเนื้องอกที่ทำให้หยุดการสร้างโกรทฮอร์โมน โดยเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่ามีภาวะขาดโกรทฮอร์โมนแล้วก็จะทำการรักษาด้วยการฉีดโกรทฮอร์โมน แพทย์จะคำนวณขนาดยาจากน้ำหนักตัว เป็นการฉีดยาทุกวัน วันละ 1 ครั้งก่อนนอน
  • ในกรณีที่เป็นความผิดปกติจากการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งจะตรวจพบจากการตรวจเลือดวัดระดับไทรอยด์ฮอร์โมน แล้วพบว่ามีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ แพทย์จะให้การรักษาด้วยการให้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนเสริม ซึ่งเป็นยารับประทานวันละครั้ง 
  • กรณีพบว่าลูกเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม สามารถสังเกตได้จาก เด็กหญิงมีหน้าอกก่อนอายุ 8 ปี หรือเด็กชายมีอัณฑะขนาดใหญ่ก่อนอายุ 9 ปี  

ลูกไซส์ XL เด็กอ้วนน่ารักหรือน่าห่วง

ปัจจัยที่ส่งผลให้ลูกอ้วน

คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักจะชอบและเอ็นดูที่ลูกอ้วนท้วนจ้ำม่ำ ด้วยรู้สึกว่าน่ารักน่ากอด แต่จริงๆ แล้ว ความอ้วนในเด็กมีผลเสียต่อสุขภาพหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง  นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้แก่  ภาวะตับอักเสบ ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ อาจส่งผลถึงชีวิตได้ หรือรบกวนการนอน จนเด็กๆ พักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงผลกระทบทางด้านจิตใจ ถูกบูลลีเรื่องรูปร่าง จนเกิดความเครียด

ความอ้วนของเด็กๆ เกิดจากปัจจัยหลากหลาย ดังนี้

  • การรับประทานอาหารที่มีแคลอรีมากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะอาหารจานด่วนและน้ำหวาน
  • การนอนหลับที่ไม่เพียงพอ การนอนน้อยทำให้เกิดความเครียด ส่งผลให้อยากรับประทานของหวาน หรืออาหารในปริมาณมาก
  • ขาดการออกกำลังกาย ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกในหลายๆ ด้าน ทำให้เด็กๆ นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์มือถือทั้งวัน  
  • พันธุกรรม เด็กที่มีคุณพ่อคุณแม่อ้วน มีแนวโน้มจะอ้วนด้วย ส่วนหนึ่งอาจมาจากพันธุกรรม แต่สิ่งสำคัญคือพฤติกรรมในครอบครัวที่อาจจะรับประทานอาหารเหมือนๆ กัน 
  • น้ำตาลเทียม  ถึงแม้จะไม่มีแคลอรี และไม่เพิ่มความอ้วน แต่อาจส่งผลให้เด็กยังติดหวาน ไม่ได้ปรับพฤติกรรม จนเป็นสาเหตุให้ยังรับประทานอาหารหวานมากขึ้น และการรับประทานน้ำตาลเทียมต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจจะส่งผลต่อสุขภาพในอนาคตได้ ทางที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยง โดยใช้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน แทนการใช้สารหวานทดแทน
  • อาหารจานด่วน  การรับประทานอาหารจานด่วน ซึ่งส่วนใหญ่มีแคลอรีสูงเนื่องจากวัตถุดิบในการปรุง ทั้งน้ำตาล เนย นม และทอดด้วยน้ำมันท่วม แต่ถ้าเรารับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ เช่น รับประทานนานๆ ครั้ง และใช้การรับประทานทดแทนอาหาร 1 มื้อ ไม่รับประทานทั้งข้าว และอาหารขยะพร้อมๆ กัน ก็สามารถทำได้ 
    หากอยากรับประทานอาหารจานด่วน หรือ Junk food บ้าง ควรเลือกรับประทานในปริมาณพอเหมาะ เช่น หากอยากรับประทานเบอร์เกอร์ ก็รับประทานแต่เบอร์เกอร์ โดยไม่รับประทานมันฝรั่งทอด และเลือกน้ำเปล่า แทนน้ำอัดลม เป็นต้น
  • ขนม ลูกอม และนมเปรี้ยว คุณพ่อคุณแม่ที่ลูกๆ ชอบรับประทานจุกจิก ขนม ลูกอม ระหว่างมื้อ หรือตามเทศกาลต่างๆ แม้จะเป็นเพียงขนมถุงเล็ก ๆ แต่อาจมีแคลอรีสูง เช่น เจลลี่บีน 15 เม็ด มีถึง 100 แคลอรี หากรับประทาน 1 ถุง (60 เม็ด) อาจเทียบเท่ากับข้าวขาหมู 1 จาน   จึงเป็นการเติมแคลลอรีให้ลูกโดยไม่รู้ตัว หรือการดื่มเลือกนมเปรี้ยว ก็จะได้รับน้ำตาลมากกว่านมจืด ทำให้น้ำหนักเพิ่มได้มากกว่านมจืด

การรักษาเมื่อลูกมีน้ำหนักเกิน

กรณีรู้สึกว่าลูกมีน้ำหนักเกิน หรืออยู่ในภาวะโรคอ้วนในเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยจากกราฟน้ำหนักและส่วนสูงในสมุดวัคซีน ซึ่งปกติเด็กๆ จะน้ำหนักขึ้น 2-3 กิโลกรัมต่อปี หากขึ้นมากถึง 5 กิโลกรัมต่อปี อาจกำลังเผชิญหรือมีแนวโน้มโรคอ้วน แพทย์จะทำการรักษา ดังนี้

  • ตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุการเติบโตที่มากกว่าปกติ เช่น ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย  
  • ตรวจหาสาเหตุจากฮอร์โมนผิดปกติที่ทำให้น้ำหนักมากขึ้น เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ หรือการใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน 
  • ตรวจหาภาวะแทรกซ้อนจากภาวะอ้วน  
  • แนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งอาหาร การนอน และการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย
  • ยาฉีดลดความอ้วนนั้น  เหมาะกับเด็กที่น้ำหนักสูงมากๆ ตั้งแต่อายุ 12 ปี ขึ้นไป โดยยามีฤทธิ์ทำให้หิวน้อยลง 

ไม่ว่าลูกจะไซส์ S หรือ XL พฤติกรรมการรับประทานอาหาร การนอนหลับที่เพียงพอ และการออกกำลังกายมีความสำคัญ ที่จะส่งผลให้ลูกเติบโตสมวัย  สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กังวล สามารถพบขอคำปรึกษาแพทย์ประเมิน ปรึกษา กับกุมารแพทย์การเจริญเติบโตและโรคต่อมไร้ท่อ เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด พร้อมวางแผนการรักษาให้เด็กเติบโตสมวัยต่อไป
 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?