ความจำ และ อาการหลงลืม ในผู้สูงอายุ

ความจำ และ อาการหลงลืม ในผู้สูงอายุ

Highlights:

การลดลงของสารเซโรโทนินและโดปามีน และการเพิ่มขึ้นของสารอนุมูลอิสระภายในสมอง ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลต่อความจำในผู้สูงวัย อาจทำให้มี อาการหลงลืม ในผู้สูงอายุ แม้แต่ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง 

  • สาเหตุของการสูญเสียความจำ อาจมาจากหลายปัจจัย เช่น  การใช้ยาต่าง ๆ การดื่มแอลกอฮอล์เป็นปริมาณมาก การสูบบุหรี่ การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือการนอนที่ไม่มีคุณภาพ การหยุดหายใจขณะหลับ  การขาดวิตามินบางชนิด เช่น B1 B12  
  • การเดินสัปดาห์ละ 10-15 กิโลเมตรจะช่วยลดการหดตัวของเนื้อสมองและทำให้มีความจำที่ดีกว่าผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย

อาการหลงลืม ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่หลายคนนึกถึงเมื่อพูดถึงผู้สูงวัย แต่ทราบหรือไม่ว่า อาการหลงลืมในผู้สูงอายุ นั้นมีทั้งที่เกิดจากอายุที่มากขึ้น และเกิดจากตัวโรคที่สามารถรักษาและบรรเทาได้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง รวมถึงสามารถชะลอและจัดการอาการไม่ให้เป็นมากขึ้นได้อีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงของสมองเมื่ออายุมากขึ้น ส่งผลต่อความทรงจำอย่างไร

เมื่อมีอายุมากขึ้น จะมีการเปลี่ยนแปลงในระบบประสาทและสมอง ดังนี้

  • เนื้อสมองมีการหดเล็กลง ส่งผลต่อการเรียนรู้และการใช้ความคิดที่ซับซ้อน
  • การส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาทมีประสิทธิภาพลดลง
  • ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลง
  • การอักเสบและการขาดเลือดในบริเวณเล็ก ๆ ของเนื้อสมอง
  • การลดลงของสารเซโรโทนินและโดปามีน และการเพิ่มขึ้นของสารอนุมูลอิสระภายในสมอง
  • ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลต่อความจำในผู้สูงวัย แม้แต่ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง 

สาเหตุของการสูญเสียความทรงจำ

นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเมื่ออายุมากขึ้น ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีสาเหตุของการสูญเสียความจำอื่นๆ ดังนี้  

  • การใช้ยาต่าง ๆ เช่น ยากันชักบางประเภท ยาต้านซึมเศร้าและยานอนหลับบางประเภท
  • การบาดเจ็บทางสมอง อาจทำให้มีการสูญเสียความทรงจำถาวรหรือค่อย ๆ ดีขึ้นตามเวลาก็เป็นได้
  • โรคเกี่ยวกับฮอร์โมนไทรอยด์
  • การดื่มแอลกอฮอล์เป็นปริมาณมาก
  • การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือการนอนที่ไม่มีคุณภาพ การหยุดหายใจขณะหลับ
  • การขาดวิตามินบางชนิด เช่น B1 B12 
  • การได้ยาเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง
  • โรคหลอดเลือดสมองในเนื้อสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ
  • โรคหรือเหตุการณ์ด้านจิตใจ
  • โรคลมชัก
  • โรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์
  • การติดเชื้อภายในระบบประสาทและสมอง

ประเภทของการสูญเสียความจำ

การสูญเสียความจำมีได้หลายชนิด แต่ละชนิดมีสาเหตุและส่งผลต่อการใช้ชีวิตแตกต่างกันไป

  • การสูญเสียความทรงจำระยะสั้น (Short term memory loss)
    ผู้ที่มีการสูญเสียความทรงจำระยะสั้น จะลืมสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นหรือกิจกรรมที่เพิ่งทำ เช่น ลืมว่าวางสิ่งของไว้ที่ใด ลืมว่าเพิ่งอ่านหรือเห็นอะไร ลืมสิ่งที่ถามหรือทำไปแล้ว เช่น กินข้าว อาบน้ำ การสูญเสียความทรงจำระยะสั้น อาจเป็นกลไกปกติตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น  แต่ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคที่รุนแรงได้
  • การสูญเสียความทรงจำระยะยาว (Long term memory loss)
    ความทรงจำระยะยาวจะช่วยเรื่องการเก็บความทรงจำต่าง ๆ ความเข้าใจและความสามารถในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ความทรงจำระยะยาวอาจค่อย ๆ เสื่อมลงได้ตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น อาจต้องใช้เวลาในการนึก เรียนรู้หรือเข้าใจมากขึ้น หรืออาจทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อมกันได้ลำบากขึ้น แต่โดยปกติความรู้และทักษะต่าง ๆ มักจะคงที่ 
  • การสูญเสียความจำประเภทการรู้สึกตัวแบบไม่รุนแรง (mild cognitive impairment)
    ผู้สูงอายุบางคนมีปัญหาด้านความจำ แต่ไม่ส่งผลต่อชีวิตประจำวัน อาจมีปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ และเป็นบ่อยขึ้น เช่น ทำของหายบ่อย ๆ ลืมนัดหรือกิจกรรมที่ต้องทำ  การสูญเสียความจำประเภทนี้ อาจเป็นเรื่องปกติของอายุ หรือเป็นสัญญาณของโรคที่รุนแรงขึ้นได้

อาการหลงลืมในผู้สูงอายุ แบบไหนเรียก อาการหลงลืมปกติ

เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น โดยทั่วไปอาจมีผลต่อความทรงจำยะยะยาว เช่น การนึกคำที่ต้องการใช้ไม่ออก หรือต้องใช้เวลานึกเป็นเวลานาน การลืมรายละเอียดของเรื่องที่ผ่านมานานแล้ว นึกชื่อหรือสิ่งของต่าง ๆ ไม่ออก แต่มักจะนึกได้ในภายหลัง การลืมว่าวางของต่าง ๆ เช่น แว่นตาหรือรีโมทไว้ที่ใด ลืมว่าเดินมาห้องนี้ทำไม

สัญญาณเตือนว่าถึงเวลาต้องปรึกษาแพทย์

เมื่ออายุมากขึ้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงและมีความทรงจำที่แย่ลงได้ แต่หากมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคที่รุนแรง เช่น หลอดเลือดสมอง สมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์   

  • การมีปัญหากับการพูดและเขียนที่เป็นขึ้นมาในทันที
  • สับสนเรื่องบุคคล เวลา และสถานที่ เช่น จำคนในครอบครัวไม่ได้ ไม่ทราบว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน หรือมาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร เป็นต้น
  • มีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์หรือพฤติกรรม เช่น สับสน ก้าวร้าว ซึมเศร้า วิตกกังวลเพิ่มขึ้นอย่างมาก
  • ทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้

หากท่านหรือคนครอบครัวมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษา

ความแตกต่างของภาวะหลงลืมตามอายุ และ โรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์

ภาวะหลงลืมตามอายุ โรคอัลไซเมอร์
ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันเองได้ แม้จะมีช่วงที่หลงลืมบ้าง ไม่สามารถทำกิจกรรมง่าย ๆ ได้ เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ลืมสิ่งที่เคยทำจนเป็นกิจวัตร
สามารถจำช่วงที่ตนเองมีอาการหลงลืมได้ ไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่ตนหลงลืมได้ จนเป็นปัญหากับชีวิตประจำวัน
อาจจำทางไม่ได้หรือต้องใช้เวลานึกนาน แต่จะไม่ลืมสถานที่ที่คุ้นเคย ลืมหรือหลงทางแม้เป็นสถานที่ที่คุ้นเคย เช่น บ้านของตนเอง
อาจนึกคำไม่ออกbแต่สามารถสนทนาได้ตามปกติ ลืมหรือใช้คำที่ไม่สอดคล้องกับบทสนทนาสม่ำเสมอ
สามารถตัดสินใจได้เป็นปกติ ตัดสินใจในเรื่องง่าย ๆ ไม่ได้ หรือแสดงออกในเรื่องต่าง ๆ ไม่เหมาะสม

 

เคล็ดลับจัดการ อาการหลงลืม ในผู้สูงอายุ

การดูแลตนเองจะช่วยป้องกันและชะลออาการหลงลืมตามอายุ และบรรเทาอาการหลงลืมจากโรคบางชนิดไม่ให้เป็นมากขึ้นอย่างรวดเร็วได้ เช่น

  • เข้าสังคม การที่ได้เข้าสังคมและทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกับผู้อื่นจะช่วยฝึกความคิดและทักษะต่าง ๆ ผู้ที่เข้าสังคมและทำกิจกรรมกับครอบครัวหรือผู้อื่นสม่ำเสมอจะมีความจำที่ดีกว่าผู้ที่อยู่ตัวคนเดียวหรือมักทำกิจกรรมคนเดียว
  • เลิกบุหรี่ การสูบบุหรี่จะเพิ่มการอักเสบของเส้นเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมได้
  • ลด หรือเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • จัดการกับความเครียด ความเครียดเพิ่มฮอร์โมนคอร์ติซอลซึ่งสามารถส่งผลเสียให้สมองและความทรงจำได้ การจัดการความเครียดจะช่วยลดผลเสียต่าง ๆ เหล่านี้
  • นอนให้เพียงพอและมีคุณภาพ หากมีปัญหาการนอนควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรซื้อยานอนหลับรับประทานเอง
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ มีสารต้านอนุมูลอิสระ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเน้นการออกกำลังแบบคาร์ดิโอและการรักษาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
  • การเดินสัปดาห์ละ 10-15 กิโลเมตรจะช่วยลดการหดตัวของเนื้อสมองและทำให้มีความจำที่ดีกว่าผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย
  • ฝึกการใช้สมอง
    • เล่นเกมที่ต้องใช้กลยุทธ์ เช่น หมากรุก เกมต่อคำ ซุโดกุ 
    • อ่านหนังสือที่ต้องใช้ความคิด 
    • พยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เช่น เข้าคอร์สทำอาหาร วาดรูป เล่นดนตรี
    • ทำกิจกรรมเดิม ๆ ให้มีความท้าทายมากขึ้น เช่น ฝึกการใช้ภาษาที่สองที่รู้อยู่แล้วให้มากขึ้น หากเล่นกีฬาก็ฝึกฝนเทคนิคที่ยากขึ้น เป็นต้น
    • ทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือการวางแผน เช่น การจัดสวนหรือจัดบ่อปลา เป็นต้น
หากสงสัยว่ามีภาวะสมองเสื่อม หรือแค่หลงลืมจากอายุ สามารถทำแบบสอบถามได้  คลิกที่นี่
Memory Clinic
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?