การตรวจโรคหัวใจ ตรวจได้ด้วยวิธีใดบ้าง

การตรวจโรคหัวใจ  ตรวจได้ด้วยวิธีใดบ้าง

Highlight:

  • โรคหัวใจ เป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ หากมีอาการ เหนื่อยง่ายขณะออกกำลังกาย เจ็บหน้าอกขณะออกแรง หรือหายใจลำบาก ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง  
  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 - 40 ปีขึ้นไป ควรหมั่นตรวจเช็กสุขภาพหัวใจเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ควบคู่กับการตรวจสุขภาพประจำปี  
  • การตรวจโรคหัวใจ โดยการตรวจคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์  (CT calcium scoring) เป็นวิธีการตรวจที่มีความแม่นยำสูง สามารถบ่งชี้โอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนจะเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้  

โรคหัวใจ เป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ บางรายอาจมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนมาก่อน เช่น เหนื่อยง่ายขณะออกกำลังกาย เจ็บหน้าอกขณะออกแรง หรือหายใจลำบาก แต่บางรายก็ไม่มีสัญญาณเตือนเป็นอาการแสดงใดๆ คนเป็นจำนวนมากที่หลงคิดไปว่าอาการที่ตนเองเป็นอยู่บ่อยๆ เป็นอาการของโรคที่ไม่ร้ายแรง และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจ  

การตรวจสุขภาพหัวใจนั้นมีมากมายหลากหลายประเภท ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ด้านโรคหัวใจ ตัวอย่างเครื่องมือและวิธีการตรวจสุขภาพหัวใจที่ใช้บ่อยมีดังนี้

1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography: EKG, ECG)

เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ดูกระแสไฟฟ้าที่หัวใจผลิตออกมาขณะที่หัวใจหดตัวและคลายตัว โดยจะมีรูปแบบของคลื่นไฟฟ้าที่บ่งชี้ถึงความปกติและความผิดปกติของหัวใจแสดงให้เห็น เป็นการตรวจโรคหัวใจเบื้องต้นที่ง่ายและสะดวก ไม่เจ็บ ให้ผลรวดเร็วภายในเวลา 10 นาที ทำได้โดยวางแผ่นอิเล็กโทรดขนาดเล็กบริเวณหน้าอกเพื่อจับสัญญาณไฟฟ้าที่ออกจากหัวใจ ผลของการตรวจจะบันทึกออกมาในรูปแบบของกระดาษกราฟแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจ  

หากมีคลื่นไฟฟ้าที่สม่ำเสมอแสดงว่าหัวใจทำงานปกติ แต่หากมีความผิดปกติของกราฟเกิดขึ้น นั่นอาจหมายถึงการมีพยาธิสภาพบางอย่างในบางบริเวณของหัวใจ ในกรณีของผู้ที่มีภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันระยะเริ่มต้น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจให้ผลปกติได้ ดังนั้นหากสงสัยว่ามีภาวะนี้ แนะนำให้ตรวจซ้ำอีกครั้ง 

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ใช้สำหรับ 

  • ตรวจเพื่อค้นหาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด  
  • ตรวจเพื่อค้นหาสิ่งผิดปกติ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ 
  • ตรวจเพื่อค้นหาความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่อาจเกิดจากความผิดปกติของระดับเกลือแร่ในร่างกาย เช่น ระดับโพแทสเซียมสูง ระดับแคลเซียมสูงหรือต่ำ 

2. การตรวจคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT calcium scoring)

เป็นการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT scan) เพื่อตรวจวัดระดับแคลเซียมหรือคราบหินปูนที่ผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งเกิดจากการสะสมและเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง เพื่อเป็นการตรวจคัดกรองความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน (CAD) ในผู้ที่ยังไม่มีอาการ ลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด และช่วยป้องกันความเสี่ยงการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้อีกด้วย อีกทั้งยังใช้ในการบ่งชี้ถึงแนวโน้มโอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนจะเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้  

วิธีนี้เป็นวิธีการตรวจที่มีความแม่นยำสูง ให้ภาพที่คมชัดแม้มีคราบหินปูนในปริมาณน้อย จับภาพในขณะที่หัวใจเต้นได้ดี ปลอดภัย เชื่อถือได้ ไม่เจ็บตัว แถมยังรวดเร็วเพียง 20-30 นาทีเท่านั้น แพทย์จึงสามารถนำไปใช้วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเริ่มต้นในคนที่ยังไม่มีอาการ รวมถึงให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละรายได้ ซึ่งการรักษาหลัก คือ ต้องมีการปรับรูปแบบการดำเนินชีวิต การรับประทานยา ควบคู่ไปกับการเลือกรับประทานอาหารและการออกกำลังกายที่เหมาะสม  

กลุ่มบุคคลที่เหมาะกับการตรวจ CT calcium scoring  

  • ผู้ที่มีอายุ 40-45 ปีขึ้นไป 
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือโรคอ้วน 
  • ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ 
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง 
    *การตรวจด้วยวิธีนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่กำลังวางแผนในการมีบุตร หรือกำลังตั้งครรภ์ 

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ CT calcium scoring หรือการตรวจคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์   

  • ไม่จำเป็นต้องงดอาหาร 
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา ต่างๆ  
  • งดการสูบบุหรี่ และงดการออกกำลังกายก่อนเข้ารับบริการ 

3. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) หรือ วิ่งสายพาน

หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าการ “วิ่งสายพาน”  เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกายด้วยการวิ่งสายพาน เพื่อตรวจสอบว่าขณะที่ร่างกายต้องออกแรงอย่างหนักนั้น กล้ามเนื้อหัวใจมีการขาดเลือดหรือไม่ โดยดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทั้งจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ (Arrhythmia) และการขาดเลือดของหัวใจขณะออกกำลังกายอย่างเต็มที่ (มากกว่า 80% ของอัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจตามอายุ) รวมถึงอาการแสดงอื่นๆ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก เป็นต้น  

รูปแบบการตรวจจะคล้ายคลึงกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยจะมีแผ่นขั้วสัญญาณไฟฟ้า (อิเล็กโทรด) ชุดหนึ่งแปะบริเวณทรวงอกเพื่อบันทึกผลในขณะที่เดินสายพาน ทั้งนี้ ในระหว่างการทดสอบ แพทย์จะเฝ้าดูอาการของคนไข้ว่ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอกขณะวิ่งด้วยหรือไม่

ถือเป็นการตรวจคัดกรองโรคหัวใจขาดเลือด จากภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในเบื้องต้นได้ เพื่อให้แพทย์ด้านหัวใจได้วางแผนการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมหากพบความผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นในรูปแบบของการใช้ยา การปรับพฤติกรรม หรือการฉีดสีสวนหัวใจในลำดับถัดไป การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังก

ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจ EST วิ่งสายพานตรวจหัวใจ คือ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ได้แก่ 

  • ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป  
  • ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ 
  • ผู้ที่มีค่าความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือเป็นโรคเบาหวาน 
  • ผู้ที่มีประวัติเคยมีอาการเหนื่อยผิดปกติ หรือเจ็บแน่นหน้าอก และสงสัยว่ามีปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ 
  • ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย หรือ ขยับตัวน้อย 
  • ผู้ที่เตรียมตัวเข้าแข่งขันรายการวิ่ง
  • ผู้ที่มีประวัติ มีญาติเคยเป็นโรคหัวใจ 
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดของอวัยวะอื่นอยู่ก่อนแล้ว 

การเตรียมตัวก่อนตรวจ

สามารถรับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แต่ควรงดรับประทานอาหารมื้อหนัก หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 3-4 ชั่วโมง ก่อนการทดสอบ 

  • ควรสอบถามแพทย์ด้านหัวใจถึงยาที่รับประทานอยู่เป็นประจำ ว่าควรหยุดก่อนการทดสอบหรือไม่ เช่น ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาความดันโลหิต เป็นต้น 

4. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram: Echo) หรือ การตรวจเอคโค่หัวใจ

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือ การทำอัลตราซาวด์หัวใจ เรียกสั้นๆ ได้ว่า “เอคโค่” (Echocardiogram) คือ ใช้หลักการการส่งคลื่นความถี่สูงลงไปบริเวณหัวใจ แล้วส่งสัญญาณกลับเพื่อแสดงผลภาพเป็นเงาตามลักษณะความหนาบางของเนื้อเยื่อหัวใจที่ตกกระทบ  

เอคโค่หัวใจ เป็นการตรวจเพื่อดูการเคลื่อนไหวของหัวใจ การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ รูปร่างและความหนาของหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจว่ามีลักษณะตีบหรือรั่วหรือไม่ ตรวจภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ ภาวะหัวใจโต รวมถึงตรวจหาภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการให้การรักษารวมถึงการพยากรณ์โรคในลำดับถัดไป  

อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะไม่สามารถเห็นหลอดเลือดหัวใจโดยตรง อีกทั้งในกรณีอ้วนหรือผอมมากๆ ก็อาจได้ภาพไม่ชัดเจน การตรวจวิธีนี้ เป็นวิธีที่แม่นยำ ปลอดภัย ไม่มีความเจ็บปวด รวดเร็วเพียง 30-45 นาทีเท่านั้น อีกทั้งไม่มีผลข้างเคียงอีกด้วย  

กลุ่มที่ควรเข้ารับการตรวจเอคโค่หัวใจ 

  • ผู้ที่มีอาการเหนื่อย หอบ หายใจลำบาก มีอาการบวม และสงสัยว่ามีสาเหตุจากโรคหัวใจ 
  • ผู้ที่มีลิ้นหัวใจผิดปกติ และสามารถใช้ตรวจติดตามอาการในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ 
  • ผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอก ที่สงสัยว่ามีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 
  • ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจโต 
  • ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแก้ไขแล้ว แต่ยังมีรอยโรคหลงเหลืออยู่ 
  • ผู้ป่วยที่มีค่าความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ที่สงสัยว่าอาจมีกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ 

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจเอคโค่หัวใจ หรือ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง 

  • สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ไม่ต้องงดอาหารหรือยาที่ทานเป็นประจำก่อนตรวจ ยกเว้นการตรวจที่ทำร่วมกับการวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test: EST) ควรปรึกษาแพทย์ก่อน 

ข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง 

ท่านสามารถดูแลสุขภาพหัวใจได้ โดยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เพิ่มการออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ เน้นการออกกำลังกายแบบแอโรบิค พยายามออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที และควบคุมอาหารให้ดี หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารเค็มจัด มันจัด ดื่มน้ำเปล่ามากๆ เลือกผักและผลไม้ให้มากขึ้นในแต่ละมื้อ ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด นอนพักผ่อนให้เพียงพอ  

สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 - 40 ปีขึ้นไป ควรหมั่นตรวจเช็กสุขภาพหัวใจเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ควบคู่กับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเป็นการคัดกรองภาวะที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด และป้องกันการเสียชีวิตเฉียบพลันได้ โดยสามารถปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจเพื่อรับการตรวจตามความเหมาะสมและความเสี่ยงของแต่ละบุคคล

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?