การส่องกล้องติดอัลตร้าซาวด์ ตรวจระบบทางเดินอาหาร (Endoscopic Ultrasound : EUS)

การส่องกล้องติดอัลตร้าซาวด์ ตรวจระบบทางเดินอาหาร (Endoscopic Ultrasound : EUS)

Highlights:

  • EUS คือ การส่องกล้องที่ติดอัลตร้าซาวด์ เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยหรือประเมินความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น หากการตรวจด้วยวิธีอื่นไม่เห็นผลที่แน่ชัด
  • นอกเหนือจากการตรวจสอบและประเมินพยาธิสภาพของบริเวณที่แพทย์สงสัยนั้น การส่องกล้องที่ติดอัลตร้าซาวด์ ยังสามารถเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อหรือทำหัตถการขนาดเล็ก อย่างการให้ยาจำเพาะโดยตรงกับอวัยวะภายในได้
  • การส่องกล้องที่ติดอัลตร้าซาวด์ ตรวจระบบทางเดินอาหาร มีผลข้างเคียงน้อยและมีประสิทธิภาพสูง ดังนั้นผู้ป่วยจึงไม่ต้องกังวลกับการทำหัตถการและสามารถกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติได้อย่างรวดเร็ว

การส่องกล้องติดอัลตร้าซาวด์ หรือ EUS คืออะไร

การส่องกล้องติดอัลตร้าซาวด์ หรือ EUS คือ การทำหัตถการส่องกล้องขนาดเล็ก (minimally invasive procedure) ที่ใช้กล้อง (endoscope) ร่วมกับเทคโนโลยีคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) เพื่อวินิจฉัยรอยโรคของระบบทางเดินอาหารและลำไส้หรือมากกว่านั้น โดยตัวกล้องจะมีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก เบา และส่วนปลายมีการติดตั้งเครื่องอัลตร้าซาวด์ขนาดเล็กไว้ สามารถโค้งงอได้ 

เรียกกล้องชนิดนี้ว่า Echoendoscope ซึ่งสามารถสอดเข้าทางปากหรือทวารหนักและเคลื่อนไปยังตำแหน่งที่แพทย์ต้องการ จากนวัตกรรมดังกล่าวจึงเป็นการช่วยสนับสนุนแพทย์ในการตรวจหาความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารและบริเวณโดยรอบได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ประโยชน์ของการส่องกล้องติดอัลตร้าซาวด์ ตรวจระบบทางเดินอาหาร

  • การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมจากอาการที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ เช่น ปวดท้อง น้ำหนักลดผิดปกติ เนื่องจากการตรวจระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้องที่ติดอัลตร้าซาวด์ จะช่วยให้แพทย์เห็นภาพลักษณะทางเดินอาหารได้ชัดเจนขึ้น
  • การประเมินความผิดปกติ เช่น การเติบโตของก้อนเนื้อที่ตรวจพบก่อนการส่องกล้องจากภาพทางรังสีด้วยวิธีอื่น เช่น อัลตร้าซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยจะทำให้แพทย์เห็นภาพของก้อนเนื้อได้ชัดเจน สามารถวินิจฉัยได้ละเอียดมากยิ่งขึ้นและสามารถระบุได้ว่าเป็นก้อนเนื้อชนิดใด
  • หากตรวจด้วยวิธีอื่นแล้วยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด สามารถใช้เข็มตรวจเจาะตัดชิ้นเนื้อผ่านทางการส่องกล้องติดอัลตร้าซาวด์ ทำให้วินิจฉัยโรคทางตับอ่อน ท่อน้ำดี และถุงน้ำดี ที่แน่นอนได้ 
  • สามารถตรวจและวินิจฉัยลักษณะของก้อนเนื้อ ที่อยู่ใต้เยื่อบุผนังของกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้นและลำไส้ใหญ่ส่วนปลายได้
  • ช่วยให้แพทย์ทราบระยะของมะเร็งที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร และช่วยให้ทราบได้ว่ามะเร็งได้กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะสำคัญใกล้เคียงอื่นๆ เช่น เส้นเลือด แล้วหรือไม่ สำหรับผู้ป่วยบางรายอาจใช้อัลตร้าซาวด์ในการตัดชิ้นเนื้อตัวอย่างเพื่อส่งตรวจและหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

เมื่อไหร่ที่ต้องตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการส่องกล้องติดอัลตร้าซาวด์

การส่องกล้องติดอัลตร้าซาวด์นั้นสามารถช่วยการวินิจฉัยลักษณะของก้อนเนื้อใต้เยื่อบุของผนังทางเดินอาหารส่วนบน (หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น) ผนังลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและทวารหนัก และอวัยวะใกล้เคียงที่ประกอบไปด้วย ตับอ่อน ตับและถุงน้ำดี โดยการส่องกล้องที่ติดอัลตร้าซาวด์จะใช้เพื่อตรวจความผิดปกติของรอยโรคเพิ่มเติมนอกเหนือจากการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เมื่อมีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้

  • ต้องการเจาะตัดชิ้นเนื้อของเนื้องอกหรือระบายน้ำในซีสต์ในตับอ่อน
  • ต้องการเจาะตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อที่อยู่ใต้เยื่อผนังของกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และทวารหนัก
  • ต้องการวินิจฉัยเพิ่มเติมของโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง
  • ต้องการเข้าถึงบริเวณที่เป็นมะเร็งของตับอ่อน กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ หรือทวารหนัก เพื่อยืนยันพยาธิสภาพและความรุนแรงของมะเร็งดังกล่าว หรือแม้กระทั่งเพื่อช่วยตรวจว่ามะเร็งดังกล่าวอยู่ในระยะที่มีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองหรือเส้นเลือดข้างเคียงหรือไม่
  • ต้องการตรวจนิ่วในท่อน้ำดี
  • ต้องการให้ยาจำเพาะโดยตรงกับตับอ่อนเพื่อระงับปวดในโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการส่องกล้องติดอัลตร้าซาวด์ ตรวจระบบทางเดินอาหาร

การให้คำแนะนำที่เหมาะสมก่อนเข้ารับการส่องกล้องที่ติดอัลตร้าซาวด์นั้น ขึ้นอยู่กับว่าแพทย์ต้องการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (Upper GI) หรือ ทางเดินอาหารส่วนปลาย (Lower GI) เบื้องต้นผู้ที่เข้ารับการตรวจจำเป็นต้องเตรียมตัวดังนี้

  • งดน้ำ งดอาหาร และเตรียมความพร้อมของลำไส้ใหญ่ เพื่อให้แน่ใจว่าช่องทางการส่องกล้องนั้นไม่มีสิ่งกีดขวางและแพทย์สามารถเห็นส่วนต่างๆ ได้อย่างชัดเจน 
  • ที่สำคัญผู้ที่เข้ารับการตรวจจำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการตรวจรับทราบถึงอาการแพ้ ไม่ว่าจะเป็นการแพ้อาหารและยา หรือยาที่รับประทานอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากแพทย์ต้องทำการให้ยาก่อนการเข้ารับการส่องกล้องที่ติดอัลตร้าซาวด์ 
  • และหลังจากการส่องกล้องผู้ป่วยควรให้ความสำคัญกับผู้ที่จะมาดูแลหลังทำหัตถการเนื่องจากผู้ป่วยที่ทำการส่องกล้องอาจมีอาการมึนงงจากการให้ยาก่อนส่องกล้องได้

ขั้นตอนการตรวจส่องกล้องติดอัลตร้าซาวด์ ระบบทางเดินอาหาร

การตรวจทางเดินอาหารส่วนบน แพทย์จะฉีดสเปรย์ยาชาเข้าไปในคอของผู้ป่วยเพื่อให้รู้สึกชา ก่อนเริ่มการตรวจ ผู้ป่วยจะถูกจัดท่าให้นอนตะแคงซ้าย และจะได้รับยานอนหลับผ่านทางเส้นเลือดเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย จากนั้นแพทย์จะทำการสอดกล้องลงไปทางปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น โดยทั่วไปการตรวจด้วยวิธีนี้จะใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที ในขณะที่ผู้ป่วยหลับระหว่างการตรวจ

การตรวจทางเดินอาหารส่วนล่าง ผู้ป่วยจะได้รับยานอนหลับ และผู้ป่วยจะได้รับการจัดท่าให้นอนตะแคงซ้าย หันหลังให้กับแพทย์ การตรวจส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที

อาการที่สามารถพบได้หลังการส่องกล้องติดอัลตร้าซาวด์ ระบบทางเดินอาหาร

  • อาจพบอาการคอแห้งหรือริมฝีปากแห้งแตกจากการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • ท้องอืดและแก๊ส
  • อาจมีอาการปวดท้องหรือช่องท้องหดเกร็งได้

อาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงพบได้ยาก แต่หากผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงนอกเหนือจากที่กล่าวมาเบื้องต้น เช่น มีไข้สูง เจ็บหน้าอก เวียนศีรษะรุนแรงหรือมีเลือดออกจากบริเวณที่เจาะตรวจชิ้นเนื้อ สามารถติดต่อแพทย์ผู้ที่การตรวจหรือส่งตัวมาที่โรงพยาบาลที่ทำหัตถการได้ทันที

จะเห็นได้ว่าการทำหัตถการด้วยการส่องกล้องที่ติดอัลตร้าซาวด์ มีความจำเป็นต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นผู้ดำเนินการจึงจะได้ประสิทธิภาพและแม่นยำ สามารถทำการระบุรอยโรคได้ชัดเจนและทำการรักษาได้ทันท่วงที รพ.สมิติเวช มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่องกล้องที่ทำให้คุณมั่นใจได้ว่า คุณจะได้กลับไปใช้ชีวิตอย่างที่คุณต้องการได้รวดเร็วและปลอดภัยมากกว่าเดิม 
 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?