รู้จักมะเร็งเต้านม การตรวจชิ้นเนื้อและการอ่านผลตรวจมะเร็ง

รู้จักมะเร็งเต้านม การตรวจชิ้นเนื้อและการอ่านผลตรวจมะเร็ง

HIGHLIGHTS:

  • มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุเสียชีวิตของผู้หญิงไทยเป็นอันดับ 1
  • ผู้หญิงเมื่ออายุ 35 ปี ควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมปีละครั้ง แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 25-30 ปีขึ้นไป
  • มะเร็งเต้านมหากตรวจพบในระยะแรกมีโอกาสหายค่อนข้างสูง หากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
  • การตรวจชิ้นเนื้อ มะเร็งเต้านม ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเจาะดูดชิ้นเนื้อเต้านมด้วยระบบสุญญากาศ Vacuum assisted breast biopsy (VABB) สามารถตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาได้ในคราวเดียว

มะเร็งเต้านม” ถือเป็นภัยเงียบ ภัยร้ายใกล้ตัวที่น่ากลัว 

มะเร็งเต้านม เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิงทั่วโลก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับ 1 เนื่องจากไม่มีสัญญาณเตือน ดังนั้นการดูแลตนนเองเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมจึงเป็นสิ่งสำคัญ 

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมปีละ 1 ครั้ง โดยการทำ mammogram with ultrasound ร่วมกับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพิ่มโอกาสในการรักษาโรคให้หายขาดได้ 

ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ตั้งแต่อายุเท่าไหร่ ใครที่ควรตรวจ

ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 35-40 ปี หากมีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 25-30 ปี 

  • มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม - มารดา พี่สาว น้องสาว บุตรสาว
  • ญาติสายตรงมีผลตรวจพันธุกรรม BRCA1 BRCA2 เป็นบวก
  • เคยรับการฉายแสงบริเวณทรวงอก
  • รับยาฮอร์โมนสม่ำเสมอ
  • เคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน
  • เคยมีก้อนเนื้อบางชนิด ที่ได้รับการตรวจว่ามีความเสี่ยง

สัญญาณเตือนของมะเร็งเต้านม ที่ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

  • คลำพบก้อนบริเวณเต้านมหรือรักแร้ โดยก้อนอาจกดเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้
  • ขนาด รูปร่าง รูปทรง หรือผิวของเต้านมเปลี่ยนไปจากเดิม
  • มีรอยบุ๋ม หรือการดึงรั้งของเต้านม/หัวนม
  • รอยผื่นแดง บวมหนาเหมือนเปลือกส้ม บริเวณหัวนม ลานนม
  • มีน้ำ หรือของเหลวไหลออกจากหัวนม โดยไม่ได้อยู่ในช่วงให้นมบุตร
  • อาการคันบริเวณหัวนม ที่รักษาไม่หายแม้จะได้รับการรักษา อาจกลายเป็นสะเก็ดแข็ง

อาการดังกล่าวเกิดได้หลายสาเหตุ ควรได้รับการตรวจเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่อาการของมะเร็งเต้านม

ผลตรวจ Mammogram with Ultrasound หมายความว่าอย่างไร

การแปรผลตรวจใช้ระบบคะแนน BIRADS (Breast Imaging Reporting and Data System) โดยจะประเมินความผิดปกติจากภาพเอกซเรย์ แล้วให้คะแนนตามความรุนแรง และโอกาสของการเป็นมะเร็ง ดังนี้

  • BIRADS 0 หมายถึง ภาพเอกซเรย์ที่ได้ไม่สามารถแปรผลได้ ภาพไม่ชัดหรือไม่เพียงพอ หรือตรวจไม่ครบตามข้อสงสัย แนะนำ ให้ตรวจซ้ำหรือตรวจเพิ่มเติม
  • BIRADS 1 หมายถึง ผลตรวจไม่พบความผิดปกติ แนะนำ ตรวจประจำปีต่อเนื่อง
  • BIRADS 2 หมายถึง พบสิ่งผิดปกติที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น ถุงน้ำ หินปูนแบบกลมที่ไม่เกาะกันเป็นกลุ่ม เนื้องอกที่มีการตรวจติดตามมาแล้ว 2-3 ครั้ง ไม่มีความเปลี่ยนแปลง แนะนำ ตรวจติดตามประจำปี
  • BIRADS 3 หมายถึง ตรวจพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่ ก้อนเนื้อ หินปูน เกิดใหม่ ถุงน้ำที่มีความขุ่น ท่อน้ำนมขยายตัว แต่ยังไม่มีลักษณะที่จะบ่งบอกว่าเป็นมะเร็ง กลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง ประมาณ 2% แนะนำ ตรวจติดตามทุก 6 เดือน
  • BIRADS 4 หมายถึง ตรวจพบความผิดปกติที่มีโอกาสเป็นมะเร็ง โดยจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย
    • BIRADS 4A มีโอกาสเป็นมะเร็ง 2-10%
    • BIRADS 4B มีโอกาสเป็นมะเร็ง 10-30%
    • BIRADS 4C มีโอกาสเป็นมะเร็ง 30-95%
    กลุ่มนี้เริ่มมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งสูงขึ้น แต่ไม่ได้จะต้องเป็นมะเร็งทุกราย แพทย์จะแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อส่งตรวจและวางแผนการรักษาต่อไป
  • BIRADS 5 หมายถึง ตรวจพบความผิดปกติที่มีโอกาสเป็นมะเร็งสูงกว่า 95% จำเป็นต้องได้รับการตรวจชิ้นเนื้อ เพื่อวางแผนการรักษา
  • BIRADS 6 หมายถึง มีผลตรวจทางพยาธิวิทยายืนยันว่าเป็นมะเร็ง ตรวจเพื่อวางแผนการรักษาเพิ่มเติม หรือภาพเดิมที่มีไม่ชัดพอ

การตรวจชิ้นเนื้อ มะเร็งเต้านม

  1. Fine Needle Aspiration Biopsy FNA (การเจาะก้อนด้วยเข็มขนาดเล็ก)
    การเจาะก้อนด้วยเข็มขนาดเล็กจะมีความแม่นยำและความไวต่ำกว่าการตรวจอื่น เนื่องจากเป็นการตรวจเซลล์ ซึ่งการเจาะอาจเจาะแล้วไม่ได้เซลล์ หรือการตรวจเซลล์ค่อนข้างยาก แต่ทำได้ง่ายค่าใช้จ่ายต่ำกว่าวิธีอื่นดังนั้นมักจะใช้ร่วมกับการแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์ ต้องแปลผลร่วมในทางเดียวกัน อีกทั้งอาจต้องยืนยัน ด้วยการตรวจอื่นถ้าผลไม่ไปทางเดียวกัน
  2. Core needle biopsy (การเจาะก้อนด้วยเข็มตัดชิ้นเนื้อ) คือ การเจาะชิ้นเนื้อตรวจมะเร็ง ด้วยเข็มตัดชิ้นเนื้อโดยมากเพื่อความแม่นยำและความปลอดภัยมากขึ้นมักใช้ร่วมกับอัลตร้าซาวด์ การตรวจจะได้ชิ้นเนื้อไปตรวจ
  3. Vacuum assisted excision คือ การเจาะที่ใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อขนาดใหญ่ ที่ต่อกับเครื่องดูดสุญญากาศ ทำให้ได้เนื้อชิ้นใหญ่กว่า Core needle biopsy และเพื่อความแม่นยำและความปลอดภัยมากขึ้น มักใช้ร่วมกับอัลตร้าซาวด์ นอกจากนี้ยังพัฒนามาทำให้สามารถตัดก้อนทั้งก้อนได้ โดยมีแผลเล็กกว่าเจ็บน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด(excision)

มะเร็งเต้านม ระยะแรก ถึง ระยะสุดท้าย

  • ระยะ 0 มะเร็งระยะไม่ลุกลาม มะเร็งอยู่ในท่อน้ำนมไม่มีการแพร่กระจายออกนอกท่อน้ำนม
  • ระยะ 1 มะเร็งเต้านมระยะแรก ขนาดเล็กกว่า 2 ซม. และไม่มีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้
  • ระยะ 2 มะเร็งขนาด 2-5 ซม. และ/หรือแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองรักแร้ข้างเดียวกัน
  • ระยะ 3 มะเร็งขนาดใหญ่กว่า 5 ซม. มีการแพร่กระจายไปต่อนน้ำเหลืองรักแร้ข้างเดียวกันอย่างมากจนติดแน่นกับอวัยวะข้างเคียง
  • ระยะ 4 มะเร็งระยะสุดท้าย มะเร็งขนาดใดก็ได้ แต่มีการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น เช่น ปอด ตับ กระดูก สมอง เป็นต้น
    มะเร็งเต้านมหากตรวจพบในระยะแรกมีโอกาสหายค่อนข้างสูง หากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและมีการป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้ โดยต้องมีการวางแผนการรักษาร่วมกันของแพทย์กับผู้ป่วย

การรักษามะเร็งเต้านม

  1. การผ่าตัด (Breast surgery) เป็นวิธีการรักษาหลักของมะเร็งเต้านมระยะแรก สามารถควบคุมโรคได้ดี และได้ชิ้นเนื้อส่งตรวจเพื่อทราบระยะที่แท้จริงของโรค ทำให้สามารถวางแผนการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมมากยิ่งขึ้น การผ่าตัดจะประกอบด้วยการผ่าตัดเต้านมและการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้
    การผ่าตัดเต้านม มี 2 ประเภท คือ
    • การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด (Total mastectomy) คือ การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด รวมผิวหนังที่อยู่เหนือก้อนและหัวนมด้วย มักจะพิจารณาเลือกในกรณีก้อนมีขนาดใหญ่ เต้านมเล็ก มีหลายตำแหน่ง หรือมีข้อจำกัดไม่สามารถฉายรังสีหลังการผ่าตัดได้
    • การผ่าตัดแบบสงวนเต้า (Breast conserving surgery)  คือ การตัดก้อนมะเร็งและเนื้อเต้านมปกติรอบก้อนมะเร็ง โดยยังคงเหลือเนื้อของเต้านมส่วนใหญ่และหัวนม ยังคงรักษารูปร่างของเต้านมไว้ และผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องรับการฉายรังสีร่วมด้วย ซึ่งให้ผลการรักษาดีเท่าการผ่าตัดตัดเต้านมทั้งหมด
  2. การฉายรังสี (รังสีรักษา-Radiation therapy) การใช้รังสีพลังงานสูงฉายบริเวณที่เป็นมะเร็ง เพื่อทำลาย หยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง การรักษามะเร็งเต้านมโดยการผ่าตัดแบบสงวนเต้าแทบทุกรายต้องรับการฉายรังสีร่วมด้วย โดยทั่วไปจะฉาย 16-21 ครั้ง โดยฉายสัปดาห์ละ 5 วัน หยุด 2 วัน เพื่อให้ร่างกายได้พักและซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหาย
  3. เคมีบำบัด (Chemo therapy) เป็นยาที่มีคุณสมบัติทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย ต่างจากการผ่าตัดที่ให้ผลเฉพาะที่ การรับยาเคมีบำบัดเพิ่มโอกาสหายขาดและมีชีวิตยืนยาวขึ้น
  4. ยาต้านฮอร์โมน (Hormonal therapy) ใช้ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก (ER/PR +ve) เพื่อทำให้เซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่ในร่างกายขาดฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นการเจริญเติบโต ลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำและลดโอกาสการเป็นมะเร็งของเต้านมอีกข้าง อย่างไรก็ตาม ยาต้านฮอร์โมนมีผลกระทบต่อมดลูกและรังไข่ ควรรับการตรวจภายในประจำปีโดยแพทย์นรีเวช
  5. ยามุ่งเป้า (Targeted therapy) เป็นการรักษาโรคมะเร็งแบบออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง
  6. ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นยาที่ใช้รักษามะเร็งโดยการอาศัยระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มการทำงานของเม็ดเลือดขาวให้กำจัดเซลล์มะเร็ง

หากสำรวจด้วยตัวเองแล้วพบความผิดปกติดังกล่าว แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม โดยโรงพยาบาลสมิติเวชมีให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ตรวจยีนมะเร็งเต้านมหรือรังไข่ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (BRCA1/2) และแพ็กเกจตรวจเนื้อเต้านมด้วยระบบสุญญากาศ (Vacuum assisted breast biopsy : VABB)

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?