ไม่แพ้..แม้อากาศเปลี่ยน (โรคแพ้อากาศ – Allergic Rhinitis)

ไม่แพ้..แม้อากาศเปลี่ยน (โรคแพ้อากาศ – Allergic Rhinitis)

HIGHLIGHTS:

  • ผู้เป็นโรคภูมิแพ้อากาศจะมีการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ที่หายใจเข้าไปค่อนข้างสูงและไวกว่าคนปกติ
  • อาการของโรคภูมิแพ้อากาศที่พบบ่อยคือ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม คันจมูก บางรายอาจปวดศีรษะ  หูอื้อ เจ็บหูด้านหลัง  รู้สึกมึนและอ่อนเพลียหลังตื่นนอน   รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนจากโรค เช่น ไซนัส นอนกรน และหูชั้นกลางอักเสบ
  • วิธีดูแลรักษาโรคภูมิแพ้อากาศที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้อาการแพ้กำเริบ

โรคแพ้อากาศหรือโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เนื่องจากร่างกายใช้จมูกเพื่อกรองฝุ่นและสิ่งแปลกปลอม รวมทั้งยังช่วยปรับอุณหภูมิอากาศก่อนเข้าสู่หลอดลมและระบบทางเดินหายใจ เมื่อเยื่อบุโพรงจมูกสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้และอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยๆ จนเกิดการระคายเคืองส่งผลให้โพรงจมูกอักเสบ มีอาการน้ำมูกไหล จาม คัดจมูก เป็นต้น

ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศจะมีการตอบสนองต่อกลิ่นหรืออากาศที่หายใจเข้าไปค่อนข้างสูงและไวกว่าคนปกติโดยเฉพาะกับเกสรดอกไม้ ไรฝุ่น ควัน ขนสัตว์ ซึ่งโรคภูมิแพ้ชนิดนี้ถือเป็นโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยที่สุด

อาการ

อาการของโรคภูมิแพ้อากาศที่พบบ่อย คือ น้ำมูกไหลโดยน้ำมูกมีสีใส จาม คันในจมูก คัดจมูก เสียงขึ้นจมูก หากมีอาการมากอาจหายใจติดขัดทางจมูกจนต้องอ้าปากหายใจ มีเสมหะไหลลงคอ กระแอมบ่อยเพราะมีเสมหะติดคอ แต่จะไม่มีอาการไข้ร่วมด้วยบางครั้งอาจมีอาการคันตา มีอาการเรื้อรังเป็นๆ หายๆ มักเป็นในช่วงเช้าและกลางคืน

นอกจากนี้ บางรายยังมีอาการปวดศีรษะ หูอื้อ เจ็บหูด้านหลัง รู้สึกมึนและอ่อนเพลียหลังตื่นนอน รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนจากโรค เช่นไซนัสอักเสบ นอนกรน และหูชั้นกลางอักเสบ

การวินิจฉัย

  • การซักประวัติอย่างละเอียดโดยจะพบอาการจาม น้ำมูกไหล คัน คัดจมูกบ่อย เสมหะลงคอ
  • การตรวจร่างกาย
    – ตรวจในโพรงจมูกเพื่อดูอาการบวมและสีของเยื่อบุโพรงจมูก สีของน้ำมูก
    – ตรวจตุ่มนูนแดงกระจายที่ผนังคอที่เกิดจากการระคายเคืองเรื้อรังของผนังคอจากการที่น้ำมูกไหลลงคอหรือจากการหายใจทางปาก 
    – ตรวจลักษณะขอบตาล่างว่ามีสีคล้ำหรือไม่ เพราะสาเหตุมาจากการคัดจมูกเป็นเวลานานจนมีการคั่งของหลอดเลือดดำบริเวณใต้ตา
  • ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Test) หรือ การตรวจเลือดหา specific IgE ต่อสารก่อภูมิแพ้

การรักษา

การรักษาโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ควรเริ่มจากต้นเหตุ โดยหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และดูแลสุขภาพให้แข็งแรงรวมถึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค โดยแพทย์มีแนวทางการรักษาหลากหลายวิธี

  • รับประทานยา เพื่อลดอาการแพ้ ลดน้ำมูก รวมทั้งยาที่ลดอาการคัดจมูก ซึ่งควรรับประทานภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อป้องกันผลข้างเคียงของยา หรือการใช้ยาร่วมกับยาชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่น
  • ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก เพื่อช่วยลดการอักเสบของโพรงจมูก ทั้งนี้ควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและสั่งยาเท่านั้น
  • ฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (Allergen Immunotherapy) หรือการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดโดยแพทย์ฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกายครั้งละน้อยๆ หลาย ๆ ครั้งโดยจะเพิ่มขนาดขึ้นตามลำดับจนกว่าอาการแพ้ของผู้ป่วยจะทุเลาลง ส่วนใหญ่แนะนำในผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล และต้องรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง เพื่อการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?