โรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้

HIGHLIGHTS:

  • อาการแสดงออกของโรคภูมิแพ้ในระบบต่าง ๆ ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ, ระบบผิวหนัง, ระบบทางเดินอาหาร และ อาการทางตา
  • โรคภูมิแพ้มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคจากการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยสิ่งแวดล้อม
  • อายุรแพทย์เฉพาะโรคภูมิแพ้ มีส่วนช่วยท่านให้ได้รับคำตอบจากโรค หรืออาการที่เป็นอยู่ว่าเกิดจากโรคภูมิแพ้ โดยการทดสอบการแพ้สารก่อนภูมิแพ้ หรือฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าในชั้นผิวหนัง(บางกรณี)

โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มอาการของโรคที่แสดงออกได้หลายระบบไม่ว่าจะเป็นโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง โรคทางเดินอาหาร นอกจากนี้โรคภูมิแพ้ยังหมายรวมถึงการแพ้ยา แพ้อาหาร แพ้จากแมลงกัด-ต่อย แพ้ถุงมือยาง ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบันความชุกของโรคดังกล่าวได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทั้งในวัยเด็ก และผู้ใหญ่วัยทำงาน

อาการแสดงออกของโรคภูมิแพ้ในระบบต่างๆของร่างกาย

  1. ระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ น้ำมูกใส คัดแน่นจมูก ไอ จาม หายใจไม่สะดวก (ไม่เต็มปอด) เหนื่อยง่าย หายใจแล้วมีเสียงคล้ายนกหวีดในปอด ส่วนมากอาการจะรุนแรงมากขึ้นในตอนกลางคืน หรือในช่วงที่มีอากาศเย็น
  2. ระบบผิวหนัง ได้แก่ ผื่นลมพิษ ผื่นคัน ผื่นแห้งๆแดงๆ ทำให้เกิดรอยแยกบริเวณผิวหนังที่เป็นผื่น บางครั้งอาจพบมีอาการหน้าบวม ตาบวม หายใจลำบากร่วมกับผื่นลมพิษได้
  3. ระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด ซึ่งอาการดังกล่าวมักพบในวัยเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ส่วนในผู้ใหญ่นั้นอาจพบผื่นลมพิษหลังกินอาหารบางประเภท และจะเป็นทุกครั้งที่รับประทานอาหารประเภทนั้นๆ นอกจากนี้ในบางรายอาจพบอาการแพ้รุนแรงหลังรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไปแม้เพียงปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น บางรายอาจพบผื่นลมพิษ หรือการแพ้รุนแรงหลังรับประทานอาหารบางประเภทแล้วไปออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา เหล่านี้เป็นต้น
  4. อาการทางตา ได้แก่ คันตา แสบตา มีน้ำตาไหลตลอดเวลา รู้สึกมีอะไรอยู่ในตาตลอด ต้องขยี้ตาบ่อย เปลือกตาบวม ถ้ามีอาการแพ้มากๆ แล้วไม่ได้รักษาอาจนำมาสู่ภาวะรุนแรง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อส่วนประกอบที่สำคัญต่อการมองเห็นเช่น กระจกตา ทำให้สูญเสียการมองเห็นได้

ปัจจัยเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้มีปัจจัยเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคคล้ายคลึงกัน ซึ่งการเกิดโรคนี้มักเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยสิ่งแวดล้อม พอสรุปได้ดังนี้

  1. ปัจจัยทางพันธุกรรม มียีนหลายยีนในร่างกายเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ พบว่าผู้ที่เกิดมาในครอบครัวที่มีโรคภูมิแพ้อากาศ โรคหืดจากภูมิแพ้ ผื่นผิวหนัง หรือลมพิษบางชนิด โรคตาอักเสบจากภูมิแพ้ มีโอกาสที่จะเป็นโรคในกลุ่มนี้ได้มากกว่าคนอื่นๆ
  2. ปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น สารก่อภูมิแพ้ ซึ่งมีทั้งภายนอกบ้าน (เช่น ละอองเกสรพืช หญ้า เชื้อราบางชนิด) และภายในบ้าน (เช่นไรฝุ่นตามที่นอน ขนสัตว์เลี้ยง เชื้อราบางชนิด แมลงสาบ) สารก่อภูมิแพ้เหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางเดินหายใจ ทางการกิน และการสัมผัส เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของผู้ที่มีพันธุกรรมที่แพ้ต่อสารนั้นๆทำให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้านสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าว เมื่อได้รับอีกในครั้งต่อๆมาก็จะเกิดอาการ และอาการแสดงทางการแพ้ให้เห็นได้

นอกจากนี้มลภาวะ และสารพิษต่างๆในชีวิตประจำวัน เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันท่อไอเสียรถยนต์ กลิ่นน้ำหอม กลิ่นสเปรย์ การเปลี่ยนแปลงของอากาศ โรคติดเชื้อบางชนิด รวมถึงอารมณ์เครียด และการอดนอน ล้วนแล้วแต่เป็นตัวสนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีอาการขึ้นได้ หรือทำให้อาการที่เป็นอยู่แล้วแย่ลง

อายุรแพทย์โรคภูมแพ้ฯ มีส่วนช่วยท่านได้อย่างไร?

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าแพทย์ที่ทำการรักษาโรคภูมิแพ้นั้นประกอบด้วย อายุรแพทย์เฉพาะโรคภูมิแพ้ และภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก กุมารแพทย์เฉพาะโรคภูมิแพ้ แพทย์โรคผิวหนัง แพทย์หู-คอ-จมูก จักษุแพทย์ ขอบเขตของความรับผิดชอบของแพทย์แต่ละสาขาด้านโรคภูมิแพ้อาจแตกต่างกันไปตามอวัยวะที่ตนเองเชี่ยวชาญ และมีบางส่วนที่ดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องกันในโรคๆเดียวกัน

อายุรแพทย์เฉพาะโรคภูมิแพ้ และภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก มีส่วนช่วยท่านให้ได้รับคำตอบจากโรค หรืออาการที่เป็นอยู่ว่าเกิดจากโรคภูมิแพ้หรือไม่ และจะรักษา หรือต้องปฏิบัติตนอย่างไร โดย

  1. การทดสอบการแพ้สารก่อนภูมิแพ้ต่างๆโดยการสะกิด หรือฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าในชั้นผิวหนัง(บางกรณี) ด้วยน้ำยามาตรฐานที่ได้เตรียมไว้แล้ว หรือจากสารที่จัดเตรียมขึ้นเพื่อทดสอบเฉพาะสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ
  2. รวบรวมผลจากห้องปฏิบัติการ (ถ้ามี) ทั้งหมดและผลจากการสืบค้นอื่นๆ เพี่อให้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง กับโรคภูมิแพ้แต่ละชนิดมากที่สุด รวมทั้งวินิจฉัยแยกโรคภูมิคุ้มกันผิดปกติอื่นๆนอกเหนือจากภูมิแพ้
  3. ให้การรักษา ซึ่งมีทั้งการแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ (ถ้ามี) และการรักษาโดยยา นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายที่ไม่ประสงค์ใช้ยา หรือไม่ตอบสนองต่อยาที่ใช้เป็นประจำ อายุรแพทย์เฉพาะโรคภูมิแพ้ และภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก อาจแนะนำวิธีการรักษาโดยฉีดสารที่ผู้ป่วยแพ้เข้าใต้ผิวหนังเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิคุ้มกันภายในร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาแบบหลังนี้ต้องรักษาแบบต่อเนื่อง ประมาณ 3-5 ปี และอาจทำให้เกิดค่าใช้จ่าย แต่ผลดีก็คือผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถลดยาที่ใช้ประจำได้หลังฉีดไปแล้ว 4-6 เดือน อีกทั้งมีความทนต่อปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นได้ดีขึ้น นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางท่านหลังฉีดครบตามกำหนดยังพบผลคุ้มครองต่อเนื่องยาวนานอีกหลายปีแม้หยุดฉีดยาไปแล้ว อย่างไรก็ตามการรักษาโรคนี้ให้หายขาดในปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดสามารถทำได้
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?