เวียนศีรษะ บ้านหมุน อาจอันตรายกว่าที่คิด

เวียนศีรษะ บ้านหมุน อาจอันตรายกว่าที่คิด

HIGHLIGHTS:

  • ภาวะความเครียด การพักผ่อนน้อย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือมีคาแฟอีนเป็นส่วนประกอบ การรับประทานอาหารเค็มจัด เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคน้ำในหูไม่เท่ากันได้
  • อาการเวียนศีรษะ / บ้านหมุน ที่มีสาเหตุมาจากโรคของสมอง อาจนำไปสู่ความพิการ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงควรได้รับการตรวจประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเหมาะสม

อาการเวียนศีรษะ / บ้านหมุน (Vertigo) นั้นไม่ได้จัดว่าเป็นโรค แต่เป็นเพียงกลุ่มอาการเท่านั้น โดยพบได้บ่อยขึ้นในผู้สูงอายุ ซึ่งผู้ป่วยมักมีลักษณะกลุ่มอาการต่างๆ เกิดขึ้น ดังนี้

  • อาการเคลื่อนที่ได้ของสิ่งแวดล้อมรอบตัวลักษณะหมุนวนตามเข็มหรือทวนเข็มนาฬิกา ภาพไหลช้าๆ ตามการเปลี่ยนท่า
  • ความรู้สึกว่าตัวเองหมุน เคลื่อนที่ได้ โคลงเคลงคล้ายยืนบนเรือ รวมถึงความรู้สึกว่ามีของไหลอยู่ในศีรษะ ในร่างกาย
  • อาการอาจเป็นๆ หายๆ เกิดเป็นช่วงสั้นๆ หรือนานเป็นวัน สัปดาห์ หรือเดือนได้
  • อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง หูอื้อ ได้ยินเสียงในหู

สาเหตุของอาการเวียนศีรษะ / บ้านหมุน

1. โรคของหูชั้นใน ที่พบได้บ่อย เช่น โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease) โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด (Benign Paroxysmal Positional Vertigo) โรคเส้นประสาทหูอักเสบ (Vestibular Neuronitis) ส่วนโรคของหูชั้นในที่อาจพบได้ไม่บ่อย เช่น โรคประสาทหูชั้นในอักเสบ (Labyrinthitis) การสูญเสียการได้ยินจากการนำเสียง หรือมีกระดูกงอกใหม่ที่ฐานกระดูกโกลน (Superior canal dehiscence) เนื้องอกในประสาทหูชั้นใน (Acoustic Neuroma)

2. โรคของสมอง อาการเวียนศีรษะที่เกิดจากโรคของสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนหลังหรือสมองน้อย (Cerebellum) และก้านสมอง (Brain Stem) เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) รวมถึงโรคสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack – TIA) โรคปวดศีรษะไมเกรนชนิดมีอาการวิงเวียนร่วมด้วย (Vestibular Migraine) เนื้องอกในสมองโดยเฉพาะส่วนที่ฐานกะโหลกศีรษะและสมองน้อย โรคปลอกประสาทส่วนกลางอักเสบ (Multiple Sclerosis) ภาวะความเสื่อมของสมอง (Parkinson’s Disease/Cerebellar Ataxia) ภาวะติดเชื้อในสมองส่วนกลาง

3. ภาวะเจ็บป่วยทางกายที่สัมพันธ์กับอาการเวียนศีรษะ มักจะมีอาการไม่รุนแรงนัก ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการมึนงง (Dizziness) รู้สึกโคลงเคลง อ่อนเพลีย มักไม่ค่อยมีอาการเวียนศีรษะ / บ้านหมุน ได้แก่

  • ภาวะที่เกี่ยวกับการไหลเวียนโลหิตผิดปกติ เช่น ความดันต่ำ ความดันสูง ความดันผิดปกติหลังการเปลี่ยนท่า (Orthostatic Hypotension)
  • ภาวะขาดธาตุเหล็ก (low iron level) หรือ ภาวะเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดผิดปกติ (Dysglycemia) ทั้งน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงมากเกินไป
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด โดยเฉพาะกลุ่มยานอนหลับ ยาคลายกังวล ยาต้านซึมเศร้า ยากันชัก
  • ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) หรือภาวะฮีทสโตรก (Heat Stroke, Heat Exhausted)
  • ภาวะคาร์บอนมอนอกไซด์คั่ง (Carbon Monoxide Poisoning)
  • ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea: OSA)

อาการเวียนศีรษะแบบไหนที่ควรรีบพบแพทย์

กลุ่มอาการเวียนศีรษะ/บ้านหมุนนั้น หากมีอาการทางด้านอื่นๆ เหล่านี้ร่วมด้วย ก็มีความจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินอย่างเหมาะสมและวินิจฉัยแยกโรคให้ทราบถึงสาเหตุที่สำคัญโดยเร็วที่สุด เนื่องจากอาการร่วมเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากโรคของสมอง ที่อาจทวีความรุนแรงจนนำไปสู่ความพิการหรือทุพพลภาพได้ในที่สุด

  • อาการเวียนศีรษะ/บ้านหมุนเป็นเวลานานมากกว่า  1 สัปดาห์ รับประทานยาบรรเทาอาการแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้นหรือดีขึ้นเพียงเล็กน้อย
  • อาการเวียนศีรษะที่มีอาการรุนแรงจนรบกวนชีวิตประจำวันหรือการเคลื่อนไหว
  • อาการเวียนศีรษะ / บ้านหมุน ร่วมกับอาการทางระบบประสาท เช่น เดินเซ อ่อนแรง พูดไม่ชัด ชาตามร่างกาย
  • อาการเวียนศีรษะ / บ้านหมุน ร่วมกับอาการปวดศีรษะ
  • อาการเวียนศีรษะ / บ้านหมุน ร่วมกับอาการทางหู เช่น การได้ยินลดลง ได้ยินเสียงวิ๊งๆ ในหู หูอื้อ
  • อาการเวียนศีรษะ / บ้านหมุน ร่วมกับอาการทางตา เช่น ตามัว
  • อาการเวียนศีรษะตามหลังการเกิดอุบัติเหตุ

ความสำคัญของการดูแลภาวะเวียนศีรษะ (Vertigo) รวมถึงภาวะมึนงง (Dizziness) คือ การวินิจฉัยและการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันโรคหรือแยกโรคที่มีอันตรายร้ายแรงออกไป โดยเฉพาะอาการที่เกิดจากโรคของสมองที่อาจนำไปสู่ความพิการ ความทุพพลภาพ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตได้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการตรวจภาพวินิจฉัยสมอง การตรวจเลือด การตรวจการได้ยิน หลังจากที่วินิจฉัยสาเหตุของโรคเวียนศีรษะได้แล้ว แพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการรักษา การดำเนินโรค การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ และการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เป็นซ้ำ รวมถึงการพยากรณ์โรคที่อาจกลับเป็นซ้ำและอาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างโรคเวียนหัว บ้านหมุน ที่พบได้บ่อย

1. โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease)

เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อย โดยพบได้ในช่วงอายุ 20-50 ปี ในเพศชายมากพอๆ กับเพศหญิง อาการเวียนศีรษะนั้นเกิดจากการมีน้ำในหูชั้นในมากกว่าปกติ ซึ่งมีสาเหตุมาจากตัวกระตุ้นหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการ เช่น ภาวะความเครียด การพักผ่อนน้อย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือมีคาแฟอีนเป็นส่วนประกอบ การรับประทานอาหารเค็มจัด และความเจ็บป่วยทางด้านร่างกาย เป็นต้น

สาเหตุการเกิดอาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากันนั้น อธิบายได้คร่าวๆ ว่า โดยปกติแล้วหูชั้นในมีน้ำในปริมาณที่พอดีกับการทำงานของเซลล์ประสาทของหูชั้นในที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวและการได้ยิน โดยมีการไหลเวียนและถ่ายเทของน้ำนี้เป็นปกติ  เมื่อมีการเคลื่อนไหวของน้ำในหู จะกระตุ้นเซลล์ประสาทดังกล่าวให้มีการส่งสัญญานไปยังสมองเพื่อรับข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อใดก็ตามที่มีความผิดปกติของการไหลเวียนของน้ำในหูชั้นใน เช่น การดูดซึมของน้ำในหูไม่ดี ทำให้น้ำในหูชั้นในมีปริมาณมากกว่าปกติ (Endolymphatic Hydrop) ส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาทที่ควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัวและการได้ยิน ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะตามมา ยิ่งไปกว่านั้น ในระยะยาวจะทำให้ระดับการได้ยินลดลงเรื่อยๆ อาจถึงขั้นสูญเสียการได้ยิน ในระยะแรกอาจมีอาการที่หูข้างเดียว หากมีอาการรุนแรงมากขึ้น ในระยะหลังอาจมีอาการได้ที่หูทั้งสองข้าง

อาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

  • อาการเวียนศีรษะ / บ้านหมุน มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีเหงื่อออกร่วมด้วย มักเป็นไม่เกินครึ่งชั่วโมง แต่ในบางรายอาจเป็นนานเกินชั่วโมงได้ และอาจเป็นซ้ำได้
  • การได้ยินที่แย่ลง หูอื้อ อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างได้ในรายที่โรคมีความรุนแรงมาก
  • เสียงดังในหู

การรักษาและข้อควรปฏิบัติตัว

  • รับประทานยาเพื่อลดอาการเวียนศีรษะ โดยอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
  • หากเกิดอาการขณะเดินหรือเคลื่อนไหว ควรหยุดการเคลื่อนไหว เนื่องจากอาจทำให้ผู้ป่วยเสียการทรงตัวหรือล้ม และเกิดอุบัติเหตุตามมาได้
  • ควรนอนราบ จ้องมองวัตถุนิ่งที่ไม่มีการเคลื่อนไหว
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยเรือหรือเครื่องบินประมาณ 1 สัปดาห์
  • งดการรับประทานอาหารบางชนิดที่ลดการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงที่หูชั้นใน เช่น ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ อาหารที่มีโซเดียมสูง รวมถึงงดสูบบุหรี่ด้วย
  • หลังจากอาการดีขึ้น ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมองและหูชั้นใน

2. อาการเวียนศีรษะที่เกิดจากตะกอนหินปูนหลุด (Benign Paroxysmal Positional Vertigo- BPPV)

เป็นโรคที่พบได้ในทุกช่วงอายุเช่นกัน แต่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากการเสื่อมของอวัยวะในหูชั้นใน ซึ่งเป็นอวัยวะที่ช่วยควบคุมการทรงตัว (Utricle, Saccule, Semicircular canal) และเป็นอวัยวะที่เกี่ยวกับการได้ยิน (Cochlea) ในอวัยวะที่ช่วยควบคุมการทรงตัว (Utricle) จะมีตะกอนหินปูน (Otoconia) เพื่อรับรู้การเคลื่อนไหวของศีรษะ เมื่อมีสาเหตุที่ทำให้ตะกอนหินปูนดังกล่าวหลุดออกไป เช่น ความเสื่อมตามวัย อุบัติเหตุโดยเฉพาะที่บริเวณศีรษะ โรคของหูชั้นใน การติดเชื้อ การผ่าตัดของหูชั้นกลางหรือหูชั้นใน การผ่าตัดที่ต้องนอนนานๆ การเคลื่อนไหวท่าเดิมซ้ำๆ เช่น ก้มเงยหรือนอนเตียงสระผม ก็จะทำให้ฝุ่นหินปูนเคลื่อนที่ไปอยู่ในอวัยวะควบคุมการทรงตัวอีกชนิดหนึ่งคือ Semicircular canal เกิดการส่งสัญญานไปยังระบบประสาทส่วนกลางและกระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะ / บ้านหมุน คลื่นไส้อาเจียนตามมาได้

อาการที่เกิดขึ้นเมื่อตะกอนหินปูนหลุด

  • อาการเวียนศีรษะ รู้สึกโคลงเคลง เสียการทรงตัวเมื่อมีการเคลื่อนไหวของศีรษะในทิศทางจำเพาะ เช่น ก้มเงย หันด้านข้าง โดยอาการจะเป็นไม่นาน มักเป็นวินาที หรือนาทีหลังจากมีการเคลื่อนไหว อาการเวียนจะดีขึ้น แต่เมื่อผู้ป่วยเคลื่อนที่ศีรษะในท่าเดิมอีก ก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการอีก แต่อาการอาจไม่รุนแรงเท่าครั้งแรกๆ อาจเป็นๆ หายๆ ใน 1 วัน และอาการเวียนศีรษะอาจอยู่ได้หลายวันหรือเป็นสัปดาห์ แล้วจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีกเช่นกัน
  • การมองเห็นภาพหรือสิ่งแวดล้อมเคลื่อนไหวได้ อาจสังเกตเห็นตากระตุก
  • อาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • ผู้ป่วยมักไม่มีอาการทางหู เช่น หูอื้อ เสียงในหู รวมถึงไม่มีอาการทางระบบประสาทอื่น เช่น แขนขาอ่อนแรง ชา
  • ตรวจร่างกายโดยทำการทดสอบ Dix-Hallpike Test พบผลบวก คือ ให้ผู้ป่วยล้มตัวลงนอนในท่านอนตะแคง จะเห็นตากระตุก (Nystagmus) อาการจะเว้นระยะเล็กน้อยหลังล้มตัวลงนอน (Latency period) และหายไปภายใน 5-60 วินาที โดยการทดสอบนี้สามารถทำได้ทีละด้าน

การรักษาและข้อควรปฏิบัติตัว

  • การใช้ยาบรรเทาอาการเวียนศีรษะ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
  • ควรเคลื่อนไหวร่างกายในท่าทางต่างๆ ช้าๆ
  • นอนหนุนหมอนสูง เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
  • รักษาโดยการทำกายภาพบำบัด เป็นการขยับศีรษะและคอเพื่อใช้แรงโน้มถ่วงช่วยให้หินปูนเคลื่อนกลับที่เดิม (Epley Maneuver) รวมถึงการฝึกระบบประสาทการทรงตัวต่อเนื่อง (Vestibular Rehabilitation)
  • หลีกเลี่ยงการนอนราบและการนอนตะแคงด้านที่มีอาการลง รวมถึงท่าทางที่กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะ
  • งดการทำท่าที่มีการก้มเงยมากๆ เช่น นอนบนเก้าอี้สระผม เงยหน้าเพื่อหยอดตา
  • งดการออกกำลังกายที่มีการก้มเงยหรือเปลี่ยนท่า เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เช่น โยคะ ว่ายน้ำ พิลาทิส

3. อาการเวียนศีรษะจากโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

หากมีอาการเวียนศีรษะจากโรคหลอดเลือดสมองนั้น ผู้ป่วยมักมีอาการเวียนศีรษะร่วมกับอาการทางระบบประสาทอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะโดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย เห็นภาพซ้อน ภาพมัวลง เดินเซ อ่อนแรง พูดไม่ชัด ชา เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากภาวะของโรคมีความรุนแรง มีอาการที่จำเพาะและแตกต่างจากการเวียนศีรษะจากสาเหตุอื่น โดยอาการมักเป็นทันที หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม อาจเกิดความรุนแรงจนนำไปสู่ภาวะทุพพลภาพและเสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะจากโรคของสมองร่วมกับอาการทางระบบประสาทข้างต้นจึงควรได้รับการตรวจภาพวินิจฉัยสมองและได้รับการรักษาที่จำเพาะโดยเร็วที่สุด

จะเห็นได้ว่า อาการเวียนศีรษะ / บ้านหมุน เกิดได้จากหลายสาเหตุ และมีความรุนแรงของแต่ละกลุ่มอาการแตกต่างกันไป ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือการตรวจแยกโรคเพื่อวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคใด และหากมีอาการรุนแรงจะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ความทุพพลภาพ และอันตรายถึงชีวิตที่อาจจะเกิดจะขึ้นได้ทุกเมื่อ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?