ขนมไทย กับเบาหวาน

ขนมไทย กับเบาหวาน

HIGHLIGHTS:

  • องค์การอนามัยโลก แนะนำให้รับประทานน้ำตาลวันละไม่เกิน 6 ช้อนชา (24 กรัม)
  • โรคเบาหวานเป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต ตาบอด  และไตวาย และพบว่า 1 ใน 2 คน จะเป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัว
  • การลดของหวาน ทำได้โดยค่อยๆ ลดปริมาณลงวันละนิด จนกว่าร่างกายจะปรับตัวกับความหวานที่น้อยลง  ดื่มน้ำเปล่า โดยไม่ปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ เนื่องจากจะทำให้รู้สึกหิวและเพิ่มความอยากของหวานมากขึ้น

ของหวานคือความพึงพอใจของใครหลายคน โดยเฉพาะขนมไทยที่หอมหวานชวนกิน   ไม่ว่าจะเป็นขนมถ้วย หม้อแกง ตะโก้เผือก หรือเปียกปูน รวมถึงขนมในงานมงคลต่างๆ อย่างฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด เม็ดขนุน และอีกสารพัด แม้ขนมไทยจะไม่มีนม เนย แต่ก็มีแป้ง น้ำตาล และไข่เป็นส่วนผสมหลัก หากกินแป้ง หรือน้ำตาลมากเกินไปอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานซึ่งเป็นภัยเงียบ ถ้าหากปล่อยจนเรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เบาหวานขึ้นตา ไตวาย และที่พบเห็นบ่อยคือแผลที่รักษาไม่หาย จนทำให้ต้องถูกตัดขา

เบาหวาน เรื่องหวานๆ ที่ต้องระวัง

โรคเบาหวานเป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต  ตาบอด  และไตวาย และ 1 ใน 2 คน เป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัว   สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation) คาดการณ์ว่า จะมีผู้ป่วยเบาหวานถึง 522 ล้านคน ในอีก 10 ปีข้างหน้า ( ปี คศ.2030)

คนไทยติดหวาน

รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายแห่งประเทศไทย พบว่าอัตราการบริโภคน้ำตาลของคนไทยได้เพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน เฉลี่ยมากถึง 20-26 ช้อนชาต่อคนต่อวัน  ซึ่งองค์การอนามัยโลก แนะนำให้รับประทานน้ำตาลเพียงแค่วันละ 6 ช้อนชา (24 กรัม)  เทียบง่ายๆ โดยน้ำตาล 4 กรัม  เท่ากับ 1 ช้อนชา   จะเห็นได้ว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเกินจากปริมาณที่แนะนำหลายเท่าตัว โดยน้ำตาลอาจแฝงมาในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะขนมไทยชนิดต่างๆ เนื่องจากขนมหวานไทยมีวิธีปรุงและตักแบ่งขายโดยไม่มีบรรจุภัณฑ์มาตรฐานที่ระบุคุณค่าอาหารและปริมาณน้ำตาลไว้ให้เห็นชัดเจน

ตัวอย่างปริมาณน้ำตาลในขนมแต่ละชนิด

ชื่อขนม ปริมาณ น้ำหนัก(กรัม) ปริมาณน้ำตาล (กรัม)
ขนมเปียกปูน 1 ชิ้น 50 10
ข้าวต้มมัดไส้กล้วย 1 ชิ้น 70 10.5
ข้าวเหนียวสังขยา 1 ห่อ 100 19
ข้าวเหนียวหน้าปลาแห้ง 1 ห่อ 100 22
ขนมทองหยอด 1 ลูก 9 5.1
 ขนมเม็ดขนุน 1 เม็ด 8 3
ขนมฝอยทอง 1 แพ 32 12.8

รู้ได้อย่างไรว่าติดหวาน

  1. อยากรับประทานขนมหวาน รวมถึงผลไม้รสหวาน ผลไม้แห้งและผลไม้แช่อิ่มบ่อยๆ
  2. หากไม่ได้รับประทานของหวานจะรู้สึกไม่มีแรง เหนื่อย หงุดหงิด
  3. หิวบ่อย หรือมักนึกถึงอาหารอยู่เสมอ แม้จะเพิ่งรับประทานเสร็จ
  4. หลังอาหารทุกมื้อต้องตามด้วยของหวาน ผลไม้หวาน น้ำอัดลม หรือน้ำหวาน
  5. มีของหวานติดบ้านเป็นประจำ
  6. เติมน้ำตาลในอาหารคาวเกือบทุกจาน
  7. ดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน ชา กาแฟรสชาติหวาน แทนน้ำเปล่าตลอดทั้งวัน

เลิกหวาน เลี่ยงโรค

  1. รับประทานของหวานแต่พอดี หรือเพียงชิ้นเล็กๆ
  2. เลือกผลไม้ไม่หวานจัดแทนขนมหรือผลไม้รสหวาน เช่น ชมพู่ ฝรั่ง เป็นต้น
  3. งดเติมน้ำตาลลงในอาหาร เครื่องดื่ม หรือขนม โดยอาจเริ่มต้นจากลดปริมาณลงเรื่อยๆ จนในที่สุดจึงไม่ต้องเติมอีกเลย
  4. ดื่มน้ำเปล่า โดยไม่ปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ เนื่องจากจะทำให้รู้สึกหิวและเพิ่มความอยากของหวานมากขึ้น
  5. รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง และถั่วเปลือกแข็ง เพื่อช่วยบรรเทาความอยากของหวาน
  6. เลิกตุนขนมไว้ในบ้าน รวมถึงควรอ่านฉลากโภชนาการ เพื่อดูปริมาณน้ำตาล
  7. ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที นอกจากช่วยเผาผลาญพลังงาน ยังช่วยให้มีกิจกรรมน่าสนใจ จะได้ไม่คิดแต่เรื่องอาหาร

การเลี่ยงของหวาน อาจไม่จำเป็นต้องหักดิบเลิกของหวานโดยเด็ดขาด แต่สามารถทำได้โดยค่อยๆ ลดปริมาณลงวันละนิด จนกว่าร่างกายจะปรับตัวกับความหวานที่น้อยลง แม้ขนมไทยจะมีความหอมหวานและรสชาติอร่อย แต่ความหวานที่มากเกินไปเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน โรคที่ค่อยๆ กัดกินสุขภาพ จนอาจทำให้สูญเสียอวัยวะและถึงแก่ชีวิตในที่สุด

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?