ฮอร์โมน ว้าวุ่น ของหนุ่มรุ่นใหญ่

ฮอร์โมน ว้าวุ่น ของหนุ่มรุ่นใหญ่

HIGHLIGHTS:

  • ภาวะพร่องฮอร์โมนนั้น มีผลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ แต่สามารถรักษาได้ เพื่อความสุขของทุกคนในครอบครัว
  • ผู้ชายก็มีอาการวัยทองเหมือนกับผู้หญิงและมักจะเริ่มเมื่อก้าวเข้าสู่ “หลักสี่…สิบ”
  • อาการหงุดหงิดง่าย เริ่มเห็นอะไรขวางหูขวางตาไปหมด หลงลืมรวมถึงเรื่องบนเตียงที่ไม่เหมือนเก่า สัญญาณของการเข้าสู่วัยทอง
  • ความต้องการทางเพศลดลงไม่สามารถแข็งตัวได้ หรือแข็งตัวได้แต่ไม่เต็มที่ แข็งตัวได้แต่ไม่สามารถไปสู่เป้าหมายสาเหตุหนึ่งมากจาก ”ภาวะพร่องฮอร์โมน”

ฮอร์โมน ว้าวุ่น ของหนุ่มรุ่นใหญ่ (ภาวะพร่องฮอร์โมน)

ฮอร์โมน…เรามักจะได้รู้จักคำนี้กันครั้งแรกช่วงแตกพานหรือช่วงเริ่มก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ช่วงนี้ฮอร์โมนจะทำให้ร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่ นับตั้งแต่อายุราว 14-16 ปี เป็นช่วงที่ร่างกาย จิตใจ และการกระทำ จะแสดงผลด้านต่างๆ ออกมาควบคู่กันอย่างชัดเจน จิตใจก็เริ่มจะเต็มไปด้วยอารมณ์ที่พุ่งพล่านโดยเฉพาะอารมณ์กับเพศตรงข้าม ด้านการกระทำก็จะเห็นถึงความกล้าได้กล้าเสีย บ้าบิ่น เพราะฮอร์โมนช่วยผลักดัน

ฮอร์โมน จะทำงานไปเรื่อยๆ จนถึงช่วงที่เริ่มก้าวเข้าสู่วัยทอง ซึ่งเป็นช่วงที่หน้าที่การงานดีเป็นที่ยอมรับของสังคม แต่เป็นวัยที่ผู้คนไม่ค่อยยอมรับความจริงสักเท่าไหร่ ว่าร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพอ่อนแอลงในทุกๆ ด้าน ใครมาถามว่า วัยทองหรือเปล่า? ก็จะหงุดหงิด แบบนี้ถือว่าเริ่มเข้าสู่“ภาวะพร่องฮอร์โมน” แล้ว

ภาวะพร่องฮอร์โมนคืออะไร?

ในผู้ชายก็มีอาการวัยทองเหมือนกับผู้หญิง สำหรับผู้ชายเมื่ออายุมากขึ้นระดับฮอร์โมนที่สร้างก็น้อยลง มักจะเริ่มเมื่ออายุ 40 ปี ซึ่งการขาดฮอร์โมนจะดำเนินไปอย่างช้าๆ จนเหลือประมาณร้อยละ 10 ของวัยรุ่น

ภาวะพร่องฮอร์โมน คือ ช่วงเริ่มก้าวเข้าสู่ “วัยทอง” นั่นเอง ความสำคัญของฮอร์โมนจะเกี่ยวกับการเจริญเติบโต กระดูก กล้ามเนื้อ การเพิ่มพลังงาน เพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดง ในช่วงวัยรุ่นฮอร์โมนจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่

ในเพศชายที่มีอายุมากขึ้น ร่างกายเสื่อมโทรม การทำงานที่เครียดเกินไปหรือใช้ร่างกายหนัก พักผ่อนน้อย การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย รวมถึงเรื่องโภชนาการด้วย เหล่านี้มีส่วนทำให้ฮอร์โมนลดลง

ลองสำรวจตัวเองได้จากคนรอบข้างถ้าคนรอบข้างบอกว่าคุณเริ่มมีอาการหงุดหงิดง่าย เริ่มเห็นอะไรขวางหูขวางตาไปหมด หลงลืม รวมถึงเรื่องบนเตียงที่ไม่เหมือนเก่า แสดงว่าร่างกายเข้าสู่วัยทองแล้ว

  • ปัญหาของภาวะพร่องฮอร์โมน ส่งผลทั้งด้านร่างกายและอารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์ทางเพศ ความต้องการทางเพศลดลง ไม่สามารถแข็งตัวได้ หรือแข็งตัวได้แต่ไม่เต็มที่ แข็งตัวได้แต่ไม่สามารถไปสู่เป้าหมายได้จนอาจทำให้เกิดปัญหาครอบครัวตามมา นอกจากนี้ปัญหาของภาวะพร่องฮอร์โมนยังส่งผลถึงการนอนหลับ หลับไม่ค่อยสนิท หลับๆ ตื่นๆ แม้ไม่มีภาวะเครียดเลยก็ตาม กระทบไปถึงหน้าที่การงานเนื่องจากอารมณ์เบื่อ หงุดหงิดง่าย การทำงานเริ่มไม่มีประสิทธิภาพ เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มาจากวัยโดยเฉพาะคนที่เริ่มก้าวเข้าสู่ “หลักสี่…สิบ”
  • ด้านร่างกาย แม้ว่าจะเป็นคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอก็จะเริ่มรู้สึกได้ว่าจากที่เคยวิ่งสบายๆ ก็จะเริ่มเหนื่อยง่ายขึ้น ระยะทางเท่าเดิมก็จะใช้เวลามากขึ้นหรือต้องหยุดพักนานขึ้น
  • กรณีที่ตรวจเช็คร่างกายเป็นประจำ แล้วไม่พบความผิดปกติ ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานหรือความดันสูง สภาวะที่ร่างกายถดถอยอาจจะไม่ได้เกิดจากอายุที่มากขึ้นหรือโรคประจำตัว แต่อาจจะเป็นเรื่องของฮอร์โมน จึงควรที่จะมารับการตรวจอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
  • ฮอร์โมนกับความอ้วนลงพุง นั้นมีความสัมพันธ์กัน เพราะเมื่อกล้ามเนื้อไม่แข็งแรงเหมือนเก่าประกอบกับอายุที่มากขึ้น ร่วมกับภาวะพร่องฮอร์โมน ทำให้ประสิทธิภาพในการออกกำลังกายลดลง และเมื่อออกกำลังกายได้น้อย เผาผลาญพลังงานได้น้อยก็ทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุงตามมา มีโรคต่างๆ แทรกซ้อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความดัน ไขมัน เบาหวาน โรคหัวใจ หรือภาวะกระดูก

การรักษาภาวะพร่องฮอร์โมน มีหลายวิธี

  • ยาทา ต้องทาผิวหนังเฉพาะที่ อาจจะยุ่งยากเพราะต้องทายาในเวลาเดียวกันทุกวันเพื่อควบคุมฮอร์โมนให้คงที่ หลังทายาก็ต้องล้างมือให้สะอาดป้องกันผลข้างคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
  • ยากิน มีข้อดีคือสะดวก แต่ข้อเสียคือต้องทานยาพร้อมกับอาหารไขมันสูง เพื่อช่วยให้ยาดูดซึมได้ดี จึงทำให้ไม่เหมาะกับกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุที่มีภาวะอ้วนหรือมีไขมันในเลือดสูง
  • ยาฉีด เป็นฮอร์โมนทดแทนที่ออกฤทธิ์ระยะยาว หนึ่งเข็มจะอยู่ได้ 3 เดือน การควบคุมฮอร์โมนจะคงที่สม่ำเสมอกว่า การเลือกใช้ยาแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ป่วย

ระยะเวลาในการรักษานั้นส่วนใหญ่จำเป็นจะต้องรักษาไปตลอดเพราะร่างกายมีปัญหาการสร้างฮอร์โมน และต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ ต้องตรวจดูค่า PSA เพื่อดูโอกาสในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากที่เป็นผลข้างเคียงจากการได้รับฮอร์โมนเป็นระยะเวลานาน

ไม่ว่าจะวัยทองหรือวัยไหนก็มีความสุขได้ ถ้าเรารู้จักดูแลตัวเอง หมั่นสังเกตตัวเองให้ดีว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง และถ้ามีใครมาทักว่าเราวัยทองหรือเปล่าก็ไม่ต้องไปโมโหโกรธา แต่ให้รีบไปปรึกษาแพทย์จะดีกว่า เพราะภาวะพร่องฮอร์โมนนั้น มีผลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ แต่สามารถรักษาได้ เพื่อความสุขของทุกคนในครอบครัวนะครับ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?