แค่ “สำลัก” ในผู้สูงอายุ ก็อาจเสียชีวิตได้

แค่ “สำลัก” ในผู้สูงอายุ ก็อาจเสียชีวิตได้

HIGHLIGHTS:

  • เมื่อสำลัก ให้จัดท่าก้มหรือตะแคงกึ่งคว่ำ เอาอาหาร และฟันปลอมออกจากปาก แต่ไม่ควรล้วงคอ ถ้ามีอาการหายใจหอบ เหนื่อย หน้าซีด ปากคล้ำ ต้องรีบมาพบแพทย์
  • สามารถวัดระดับการสำลักได้ด้วยการตรวจ Dysphagia Severity Rating Scale หากมีการสำลักมากกว่า 10 % แสดงว่าอยู่ในขั้นรุนแรง

 

แค่ “สำลัก” ในผู้สูงอายุ ก็อาจเสียชีวิตได้

ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานช้าลง ระบบภูมิคุ้มกันเริ่มไม่แข็งแรงเหมือนเดิมเรื่องเล็กๆ แค่สำลักก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ เช่น หากสำลักอาหารเข้าไปในปอดอาจส่งผลทำให้ปอดติดเชื้อ หรือผู้สูงอายุบางรายสำลักมากๆ จน เกิดความกลัวการกลืนอาหาร ไม่ยอมรับประทานข้าว นำไปสู่ปัญหาภาวะขาดสารอาหาร รวมถึงคนไข้บางโรคที่มักสำลักน้ำลายหรือเสมหะ แล้วเข้าไปอุดกลั้นทางเดินหายใจ จนเกิดอาการหายใจล้มเหลวได้ ดังนั้นอย่าปล่อยให้ แค่ “สำลัก” ในผู้สูงอายุ เกิดขึ้นบ่อยจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ทำลายทั้งสุขภาพโดยรวม ทำให้เกิดความเสี่ยงการเจ็บป่วยที่รุนแรงตามมา

การกลืนในผู้สูงอายุ

แม้กระบวนการกลืนไม่ได้เปลี่ยนแปลง ยังใช้กล้ามเนื้อมัดเดิม แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเสื่อมสภาพ เริ่มตั้งแต่ช่องปากและฟัน ผู้สูงอายุมักมีปัญหา ฟันโยก หัก มีโรคเหงือก หรือน้ำลายในช่องปากแห้ง ทำให้การเคี้ยวและการกลืนมีปัญหา รวมถึงผู้สูงอายุที่เป็นโรคบางชนิดที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมกล้ามเนื้อ การสั่งการของสมองในระหว่างการเคี้ยว หรือการกลืน เช่น พาร์กินสัน อัมพฤกษ์ อัมพาต และสมองเสื่อม ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการสำลักเช่นกัน

สำลักบ่อยแค่ไหน หรือมีอาการแบบไหน ที่ต้องมาพบแพทย์

  • เกิดการสำลักทุกครั้ง หรือเกือบทุกครั้งที่รับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำ
  • เกิดการสำลักจนทำให้ หน้าแดง มีอาการไอ หรือหอบรุนแรง หรือมีอาการทางเดินหายใจอุดกั้น
  • เคยมีประวัติการติดเชื้อจากการสำลักมาแล้ว
  • สำลักจนกระทั่งรับประทานอาหารได้น้อย น้ำหนักลดลง
  • การสำลักในผู้เป็นโรคกลุ่มเสี่ยง เช่น พากินสัน อัมพฤกษ์ อัมพาต สมองเสื่อม

จะรู้ได้อย่างไรว่าระดับการสำลักรุนแรงหรือไม่

ระดับความรุนแรงของการสำลัก สามารถทำได้โดยการตรวจ Dysphagia videofluoroscopy โดยแพทย์จะส่องกล้องเข้าไปช่วงคอหอยและให้คนไข้ทำการกลืนเพื่อดูลักษณะการกลืน จังหวะการกลืน และการไหลย้อนของอาหารหากการสำลักเกิดขึ้นมากกว่า 10% ของการกลืนทั้งหมดแสดงว่าคนไข้อยู่ในขั้นสำลักรุนแรง และถ้ามีการสำลักจนกระทั่งฝาปิดกล่องเสียงไม่ปิด สำลักจนอาหารเข้าไปในหลอดลม ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น

การตรวจวินิจฉัย

  1. ประเมินการสำลักเบื้องต้น โดยการตรวจการกลืน เช่น กลืนน้ำ เพื่อดูว่ามีการสำลักหรือไม่
  2. ประเมินว่าคนไข้สำลักอาหารประเภทไหน เช่น อาหารแข็ง อาหารอ่อน หรืออาหารเหลว
  3. ตรวจโดยการส่องกล้อง และประเมินความรุนแรงโดยใช้ Dysphagia Severity Rating Scale
  4. ดูความถี่ของการสำลัก และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการสำลัก
  5. ตรวจร่างกายเพื่อหาโรคร่วม เช่น โรคพาร์กินสัน อัมพฤกษ์ อัมพาต สมองเสื่อม
  6. ตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุอื่น เช่น เกลือแร่บางตัวผิดปกติอาจทำให้สำลักได้

 

การรักษาอาการสำลัก

  • หาสาเหตุการสำลัก ที่แพทย์สามารถแก้ไขได้ เช่น ความผิดปกติของระดับเกลือแร่บางชนิด ยาที่ทำให้เกิดการสำลัก หรือโรคร่วมที่ทำให้เกิดการสำลักง่าย
  • ให้คนไข้ทำการฝึกกลืน (ในรายที่ฝึกได้) คนไข้ที่ไม่ได้มีข้อห้ามการรับประทานอาหารทางปาก ยังรู้สึกตัวและ รู้เรื่องดี ซึ่งจะต้องฝึกกับนักกายภาพเฉพาะทาง การฝึกกลืนประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักๆ
    • บริหารกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน คือ กล้ามเนื้อใบหน้า ช่องปาก ลิ้น คอ และหลอดอาหาร
    • ฝึกเทคนิคการกลืน จังหวะการกลืน ท่าทางการกลืนที่ทำให้สำลักน้อยที่สุด
  • ปรับอาหาร ให้มีลักษณะเนื้อสัมผัส ข้น เหนียว เช่น โจ๊ก ไอศกรีม โยเกิร์ต หรือน้ำผึ้ง นอกจากนี้อาจใช้สารข้นเหนียว(Thickener) ซึ่งไม่มีสีไม่มีกลิ่น เพิ่มเข้าไปในอาหารและน้ำ เพื่อช่วยให้อาหารมีความหนืด ข้น ลดความเสี่ยงของการสำลักได้ โดยสัดส่วนและปริมาณจะต้องอยู่ในความดูแลของนักโภชนากร และควรหลีกเลี่ยงอาหารเนื้อสัมผัสร่วนๆ หรือเหลวเป็นน้ำ เพราะจะสำลักได้ง่ายกว่า

การปฏิบัติของคนไข้และผู้ดูแล

  • ไม่ควรรับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมาก ควรแบ่งอาหารในแต่ละวันออกเป็นมื้อย่อยๆ หลายๆ มื้อ
  • ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ดื่มน้ำช้าๆ ตั้งใจกลืน ไม่ดูทีวีหรือพูดคุยกันระหว่างรับประทานอาหาร
  • จัดท่าทางในการรับประทานอาหาร โดยนั่งตัวตรง หลีกเลี่ยงท่านอน และไม่ควรนอนทันทีหลังอาหารทุกมื้อ หรือเดินอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ในกรณีที่คนไข้ติดเตียง ให้ยกศีรษะคนไข้ขึ้นอย่างน้อย 45 องศา เพื่อป้องกันการสำลักเข้าปอด
  • ควรทำความสะอาดช่องปากก่อน และหลังอาหารทุกมื้อ โดยทำความสะอาดฟัน ฟันปลอม เหงือก อาจใช้สำลีชุบน้ำเช็ด กวาดลิ้น เป็นประจำ เพื่อช่วยลดการสะสมเชื้อโรคในช่องปาก และป้องกันการติดเชื้อจากการสำลัก

การช่วยเหลือเบื้องต้น เมื่อผู้สูงอายุสำลัก

  • หยุดรับประทานอาหารทันที
  • จัดท่านั่งให้ก้มไปข้างหน้าเล็กน้อย หรือนอนตะแคงกึ่งคว่ำ
  • นำอาหาร หรือฟันปลอม ที่อยู่ในปากออกให้หมด
  • ไม่ควรทำการล้วงคอเด็ดขาด
  • ในกรณีที่มีอาการ เหนื่อยหอบ หายใจหิวอากาศ หน้าซีด ปากเขียวคล้ำ ต้องรีบพบแพทย์ทันที

การสำลักในผู้สูงอายุ อย่ามองว่า แค่ “สำลัก” หรือเป็นเพียงเรื่องเล็กที่มองข้ามได้ เพราะแม้สำลักเพียงเล็กน้อย แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ หมั่นสังเกตการสำลักในผู้สูงอายุ เพื่อการช่วยเหลือเบื้องต้น และพบแพทย์ทันที

 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?