ชายรักชายยุคใหม่ใส่ใจไวรัสตับอักเสบ

ชายรักชายยุคใหม่ใส่ใจไวรัสตับอักเสบ

HIGHLIGHTS:

  • ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ รายใหม่ 10% และ ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี รายใหม่  20% เป็นกลุ่มชายรักชาย(Gay) หรือชายที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้กับผู้ชายและผู้หญิง (Bisexual)
  • ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย มักจะมีพฤติกรรมการร่วมเพศที่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ มากกว่ากลุ่มอื่นๆเพราะใช้ปากร่วมรักกับทวารหนักของฝ่ายตรงข้าม
  • ไวรัสตับอักเสบบี สามารถติดต่อได้จากสารคัดหลั่ง เช่น อสุจิ หรือเลือด การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือมีการรับสารคัดหลั่งเหล่านี้ ทางปากและทางทวารหนัก สามารถทำให้ได้รับเชื้อไวรัสนี้ได้โดยไม่รู้ตัว

นิยามของความรัก มักไม่มีเพศมากั้นหรือตีตราว่า ชายต้องคู่กับหญิงเท่านั้น ปัจจุบันหลายประเทศให้การยอมรับคู่รักเพศเดียวกันมากขึ้น แต่การยอมรับที่มากขึ้น ไม่ได้ช่วยให้อัตราการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และโรคที่พบบ่อยรองจากโรคเอดส์ คือโรคไวรัสตับอักเสบเอและบี

ชายรักชายกับโรคไวรัสตับอักเสบ

สมาคมโรคติดเชื้อของสหรัฐอเมริการายงานว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ของไวรัสตับอักเสบเอ 10% และ ไวรัสตับอักเสบบี 20% เป็นกลุ่มชายรักชาย (Gay) หรือชายที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้กับผู้ชายและผู้หญิง (Bisexual) ทำให้องค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมโรคติดเชื้อนานาประเทศ เริ่มรณรงค์วิธีการป้องกันโรคในกลุ่มนี้กันมากขึ้น

โรคไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) เป็นภาวะที่เกิดการอักเสบของตับ  จากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซึ่งมีหลายสายพันธุ์ ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี และอี  โดยไวรัสทั้งหมดมีการติดต่อแตกต่างกันไปตามชนิดและลักษณะเฉพาะ  การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบนอกจากจะส่งผลให้ตับเสียหาย ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติแล้ว  หากปล่อยไว้จนตับอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้เกิดโรคตับแข็ง และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับได้ในอนาคต

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ

สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอแล้วจะไม่เป็นซ้ำอีก การฉีด วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ เป็นการป้องกันโรค ที่ได้ผลเกือบ 100%  และภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนจะอยู่ติดตัวไปได้ตลอด  สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มพาลูกๆ ออกไปมีกิจกรรมนอกบ้าน หรือเริ่มเข้าโรงเรียน   อาจได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือสัมผัสกับเชื้อได้ง่าย โดยฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 6 เดือน  สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ สามารถรับการฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน โดยสามารถขอคำแนะนำหรือปรึกษาแพทย์

ผู้ที่ควรฉีด วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ

  • ผู้ที่จะเดินทางไปยังสถานที่ ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ซึ่งควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อนเดินทางประมาณ 1 เดือน
  • ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบเอ
  • ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ทั้งจากคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม เช่น ผู้ดูแลผู้ป่วย หรือผู้ที่ทำงานในบ่อบำบัดน้ำเสีย
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันไม่ว่าชายกับชายหรือหญิงกับหญิง
  • ผู้ที่ใช้ยาเสพติดทุกประเภท
  • ผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรัง
  • บุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาลหรือห้องปฏิบัติการ
  • พ่อครัว แม่ครัวที่ต้องปรุงอาหารเป็นประจำ

ไวรัสตับอักเสบบี ติดต่อได้อย่างไร

ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Virus) มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี (Hepatitis B virus; HBV)  ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่อันตรายอย่างยิ่งสามารถติดต่อได้จากสารคัดหลั่ง เช่น อสุจิ หรือเลือด หากได้รับเชื้อแล้วไม่ได้รับรักษา อาจนำไปสู่การอักเสบเรื้อรัง  ตับวาย ตับแข็ง และมะเร็งตับ โดยสามารถติดต่อผ่านทางการคลอด การสัมผัสเลือดหรือแผลเปิดของผู้ติดเชื้อ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ และการใช้อุปกรณ์ที่แหลมคมหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น  เข็มฉีดยา มีดโกนหนวด หรือแปรงสีฟัน

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี

อาจเรียกได้ว่าเป็นวัคซีนป้องกันมะเร็งชนิดแรก เนื่องจากสามารถช่วยป้องกันมะเร็งตับ อันเกิดเนื่องจากภาวะไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งตับถึง 80%โดยวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี  ประกอบด้วยโปรตีนจากผิวของไวรัส (HBsAg)  ซึ่งไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แต่จะไปกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานขึ้นในร่างกาย  สามารถฉีดป้องกันได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิด โดยฉีดเหมือนกับผู้ใหญ่ ทั้งหมด 3 เข็ม  หลังจากฉีดเข็มแรกแล้ว 1 เดือนจึงฉีดเข็มที่ 2 และฉีดเข็มที่ 3  หลังจากฉีดเข็มที่ 2 แล้ว 5 เดือน

เมื่อฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี  ครบ 3 เข็ม ส่วนใหญ่พบว่าร่างกายสร้างภูมิคุมกันได้มากถึง  97%  และสามารถป้องกันการติดเชื้อได้นานตลอดชีวิต  อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม ประมาณ 1-2 เดือน  ควรเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อยืนยันว่ามีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่ หากยังไม่มีภูมิต้านทาน  ควรฉีดวัคซีนเพิ่มตามคำแนะนำของแพทย์

ผู้ที่ควรฉีด วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี

  • ทารกแรกเกิด เด็ก และผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเมื่อแรกเกิด
  • ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ทำงานในสถานพยาบาล
  • ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง
  • ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต
  • ผู้ป่วยที่ได้รับเลือดบ่อยๆ
  • ผู้ที่ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น
  • ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค
  • ผู้ที่เสี่ยงต่อโรคเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงทางพฤติกรรมทางเพศ เช่น รักร่วมเพศ มีคู่นอนหลายคน

เนื่องจากไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิดเกิดจากเชื้อไวรัสแตกต่างกัน   การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบแต่ละสายพันธุ์จะสามารถป้องกันเฉพาะไวรัสสายพันธุ์ที่ฉีดเท่านั้น ดังนั้นหากจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดใดควรเจาะจงชนิดของวัคซีนให้ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ และวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีรวมในเข็มเดียวกัน โดยสามารถสอบถามรายละเอียดจากแพทย์หรือโรงพยาบาลที่ต้องการเข้ารับการฉีดวัคซีน

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?