สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับ วัคซีนโควิด-19

สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับ วัคซีนโควิด-19

HIGHLIGHTS:

  • การแพ้วัคซีนรุนแรง (anaphylaxis) ที่ทำให้ความดันเลือดตก หรือหลอดลมอุดกั้นเฉียบพลัน มีโอกาสเกิด 1 ต่อ 100,000 ถึง 1 ต่อ 400,000 ส่วนการเกิดเกล็ดเลือดต่ำรุนแรงและมีเลือดออก มีโอกาสเกิด 1 ต่อ 1,000,000 ถึง 1 ต่อ 2,000,000 ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่น้อยกว่าการติดโรคโควิด-19
  • การจะมีภูมิต้านทานโรคโควิด-19 มี 2 วิธีคือ สร้างภูมิคุ้มกันเองจากการยอมติดเชื้อแต่อาจจะแลกมาด้วยชีวิต และ การมีภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว อัมพฤกษ์อัมพาต มะเร็ง โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต โรคภูมิคุ้มกันตัวเอง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีน

นับตั้งแต่ ธันวาคม พ.ศ. 2562 จากข่าวการระบาดของไวรัสชนิดใหม่ ในนครอู่ฮั่น เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการติดต่อจากสัตว์สู่คน ปัจจุบันส่งผลให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างไปทั่วโลก นับเป็นหายนะครั้งสำคัญของสงครามชีวภาพ ที่มนุษย์กำลังหาทางต่อสู้กับไวรัสที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ไวรัสมีการแพร่เชื้อระหว่างคนโดยผ่านการติดเชื้อจากละอองเสมหะ โดยทั่วไปแล้วอาการจะปรากฎให้เห็นในอยู่ที่ 5 วัน หรืออยู่ในช่วงเวลาระหว่าง 2 ถึง 14 วัน อาการที่พบบ่อย คือ มีไข้ ไอ อ่อนเพลีย หายใจลำบาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ เจ็บคอ ปวดศีรษะและหนาวสั่น ภาวะแทรกซ้อนอาจรวมไปถึงปอดบวม หายใจลำบากเฉียบพลันและเสียชีวิต โดยปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสจำเพาะ การรักษาจึงเป็นการดูแลตามอาการและรักษาแบบประคับประคอง โดยภาครัฐเน้นย้ำให้ทุกคนใช้มาตรการป้องกัน เช่น การล้างมือ การอยู่ห่างจากบุคคลอื่น (โดยเฉพาะกับบุคคลที่ป่วย) ติดตามอาการ และกักตนเองเป็นเวลา 14 วัน ในกรณีที่สงสัยว่าตนอาจติดเชื้อ

วัคซีนโควิด-19 ชนิดต่างๆ ที่ใช้ในประเทศไทย

สื่งที่ควรแจ้งแพทย์ / พยาบาล ก่อนรับการฉีดวัคซีน

  • มีประวัติแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน หรือผู้ที่ฉีดเข็มแรกแล้วมีอาการแพ้รุนแรง เช่น หายใจติดขัด (Shortness of Breath) มีอาการบวมที่หน้า ลิ้น หรือในทางเดินหายใจ เป็นต้น
  • มีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียสในวันที่ฉีดวัคซีน
  • มีรอยช้ำ รอยจ้ำเลือด หรือเลือดออกผิดปกติ หรือกำลังใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน
  • ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือใช้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่ เช่น ยาสเตียรอยด์ขนาดสูง ยารักษาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง
  • ตั้งครรภ์ หรือมีแผนจะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
  • อาการข้างเคียงทุกชนิดจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้ในเข็มแรก
  • ได้รับการถ่ายเลือด พลาสมา หรือสารประกอบของเลือด ได้ยาต้านไวรัส ยาอิมมูโนโกลบูลิน สำหรับรักษาโรคโควิด-19 ภายใน 90 วัน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก หอบ เหนื่อย ใจสั่น ฯลฯ ผู้ที่มีอาการเกี่ยวกับสมองหรือระบบประสาทอื่นๆ
  • ผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา
  • ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน หรือนอนรักษาตัวและออกจากโรงพยาบาลในช่วง 14 วันที่ผ่านมา

ข้อควรทราบเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19

  • อาการข้างเคียงหลังฉีด เช่น อาการไข้ต่ำๆ ปวดบวม มีรายงานไม่ถึง 10%  ซึ่งการมีไข้เป็นอาการปกติ แสดงว่าร่างกายมีปฎิกิริยาตอบสนองต่อวัคซีน
  • วัคซีนทุกประเภทไม่ได้เพิ่มโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน และโรคลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดที่ปอด ดังนั้น คนที่มีโรคประจำตัวที่เคยเป็น อัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหลอดเลือดดำอุดตันสามารถฉีดวัคซีนได้
  • การฉีดวัคซีนไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดทั่วไป แต่เป็นการเกิดลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษ ซึ่งยังไม่พบในคนไทย และหากเกิดก็สามารถรักษาได้ แต่ภาวะหลอดเลือดอุดตันหลังเป็นโรคโควิด-19 มีโอกาสเกิดสูงถึง 1 ใน 10 และมักเป็นหลอดเลือดอุดตันที่รุนแรง
  • สำหรับผู้ที่กลัวว่าการฉีดวัคซีน Sinovac แล้วจะเป็นอัมพฤกษ์ หรืออัมพาต ข้อมูลจากสาขาวิชาประสาทวิทยาของ รพ.จุฬาลงกรณ์ ได้ทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยการทำ MRI, MRA และ SPECT imaging ไม่พบว่าเกิดจากหลอดเลือดสมองอุดตัน แต่เกิดจากหลอดเลือดสมองส่วนปลายหดตัว และสามารถแก้ไขด้วยการให้ยาขยายหลอดเลือด จนสามารถทำให้ภาวะชาหรืออ่อนแรงกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งโอกาสเกิดหลอดเลือดสมองหดตัว มีเพียง 3 ใน 10,000 คน
  • ภาวะเกล็ดเลือดต่ำร่วมกับหลอดเลือดอุดตัน โดยเฉพาะที่สมอง ที่เรียกว่า Vaccine-induced Immune Thrombotic Thrombocytopenia (VITT) ที่มีรายงานหลังฉีดวัคซีนของ AstraZeneca หรือ Johnson and Johnson นั้น มีโอกาสเกิดต่ำกว่า อยู่ระหว่าง 1 ต่อ 100,000 ถึง 1 ต่อ 500,000 ภาวะนี้สามารถให้การวินิจฉัยและรักษาได้ด้วยยาที่มีอยู่ในประเทศไทย ดังนั้นถึงมีโอกาสเกิด แต่สามารถให้การดูแลรักษาได้
  • วัคซีนทุกชนิดมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไป การแพ้รุนแรง (anaphylaxis) ที่ทำให้ความดันเลือดตก หรือหลอดลมอุดกั้นเฉียบพลัน มีโอกาสเกิด 1 ต่อ 100,000 ถึง 1 ต่อ 400,000 ส่วนการเกิดเกล็ดเลือดต่ำรุนแรงและมีเลือดออก มีโอกาสเกิด 1 ต่อ 1,000,000 ถึง 1 ต่อ 2,000,000 ซึ่งความเสี่ยง เป็นความเสี่ยงที่น้อยกว่าการติดเชื้อโควิด-19
  • ข่าวลือที่ว่ามีคนฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานว่าเกิดจากการฉีดวัคซีนโดยตรง
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว อัมพฤกษ์อัมพาต มะเร็ง โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต โรคภูมิคุ้มกันตัวเอง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีน

หลายคนตั้งคำถามว่า เมื่อไหร่ที่เชื้อก่อโรคโควิด-19 นี้จะหมดไปจากประเทศเรา คำตอบ คือ มากกว่า 70% ของคนในประเทศจะต้องมีภูมิต้านทาน ไวรัสถึงจะหมดไปได้เร็ว พร้อมเศรษฐกิจของประเทศจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง  ดังนั้น การจะมีภูมิต้านทาน มี 2 วิธีคือ สร้างภูมิคุ้มกันเองจากการยอมติดเชื้อแต่อาจจะแลกมาด้วยชีวิต และ การมีภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีน ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงเป็นทางออกเดียวที่จะทำให้เชื้อตัวนี้สูญพันธุ์ไปในที่สุด ณ ตอนนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2021)

ท่านสามารถอัพเดทสถานการณ์ผู้ติดเชื้อได้ที่นี่ (คลิก)

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?