มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือที่เรียกกันว่า ลูคีเมีย

มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือที่เรียกกันว่า ลูคีเมีย

HIGHLIGHTS:

  • ลูคีเมีย พบได้ 25 – 30 % ของโรคมะเร็งในเด็กทั้งหมด
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน พบบ่อยที่สุดในเด็ก เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูก
  • อาการจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เช่น มีอาการซีด อ่อนเพลีย มีเลือดออกผิดปกติ หรือจุดเลือดออก เนื่องจากเกล็ดเลือดต่ำ ติดเชื้อง่ายมีไข้สูง
  • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน สามารถรักษาได้ด้วยยาเคมีบำบัด หรือผู้ป่วยที่มีเซลล์มะเร็งที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด อาจจำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตหรือที่เรียกว่า ปลูกถ่ายไขกระดูก

ลูคีเมียในเด็ก หรือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็ก และพบประมาณ 25 – 30 % ของโรคมะเร็งในเด็กทั้งหมด

ลูคีเมีย คืออะไร

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก คือ โรคมะเร็งทางโลหิตวิทยา ที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูก ทำให้มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเซลล์ตัวอ่อนของเม็ดโลหิตขาวเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่เซลล์เหล่านั้นไม่สามารถเจริญเป็นตัวแก่ได้ตามปกติ  โดยเซลล์ตัวอ่อนของเม็ดโลหิตขาวในไขกระดูกจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เซลล์มะเร็งเหล่านี้จะแทนที่และยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ซึ่งสร้างเม็ดเลือดแดงเม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือด จนเกิดอาการ

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันในเด็ก คืออะไร

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน เป็นโรคที่มีพยาธิกำเนิดในระดับเซลล์หลายรูปแบบทำให้แบ่งเป็นชนิดย่อยได้หลายชนิด แต่ละชนิดมีการดำเนินโรคและพยากรณ์โรคที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การพิจารณาเลือกการรักษาต้องคำนึงถึงชนิดย่อยของโรคด้วย การแยกชนิดย่อยทำได้หลายระบบทั้งการจัดแบ่งตามลักษณะรูปร่างของเซลล์ จัดแบ่งกลุ่มตามความผิดปกติของโครโมโซม และความผิดปกติระดับยีน

อาการ ลูคีเมียในเด็ก

อาการจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และอาการจะแสดงในผู้ป่วยในระยะเวลาอันสั้น เช่น มีอาการซีด อ่อนเพลีย มีเลือดออกผิดปกติ หรือจุดเลือดออก เนื่องจากเกล็ดเลือดต่ำ ติดเชื้อง่ายมีไข้สูง นอกจากนี้ยังอาจเกิดอาการผิดปกติจากการที่เซลล์มะเร็งแทรกตัวเข้าไปในเนื้อเยื่ออื่นๆ อีกด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต ตับและม้ามโต มีก้อนที่ผิวหนังและอาการทางระบบประสาท เป็นต้น

อาการ ลูคีเมีย ที่พบบ่อย

  • มีไข้
  • ซีด
  • เลือดออกผิดปกติ
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ตับโต
  • ม้ามโต
  • น้ำหนักลด

ผู้ป่วยเด็กบางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยผื่นหรือปื้นที่ผิวหนัง อัณฑะบวมโต ปวดกระดูก ปวดข้อ นอกจากนั้นยังพบว่าผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันบางรายอาจมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท ได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนพุ่ง เนื่องจากมีเซลล์มะเร็ง แทรกตัวในเยื่อหุ้มสมองทำให้ความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้นได้

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน อาศัยการตรวจเลือด และการตรวจไขกระดูกเป็นหลัก ผู้ป่วยมักมีประวัติการเกิดอาการค่อนข้างเร็ว อาการและอาการแสดงที่ปรากฏ มักเกี่ยวเนื่องกับภาวะไขกระดูกล้มเหลว และเซลล์มะเร็งที่แทรกเข้าไปในเนื้อเยื่อต่างๆ รบกวนการทำงานตามปกติของอวัยวะนั้นๆ ร่วมกับความผิดปกติที่เกิดจากการมีเซลล์มะเร็งจำนวนมากในร่างกาย

การรักษา

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันสามารถรักษาได้ด้วยยาเคมีบำบัด โดยชนิดของยาเคมีบำบัดและระยะเวลาการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดโรค ซึ่งจะได้จากผลการตรวจเซลล์มะเร็งจากไขกระดูก  โดยทั่วไปผลการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันในเด็กได้ผลดี

อย่างไรก็ตามผลการรักษาขึ้นกับชนิดของเซลล์มะเร็ง และการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดเป็นสำคัญ ผู้ป่วยที่มีเซลล์มะเร็งที่ดื้อต่อการรักษาหรือเกิดโรคกลับภายหลังได้รับยาเคมีบำบัด อาจจำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือที่เรียกกันว่า ปลูกถ่ายไขกระดูก

ล่าสุด ทีมกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งในเด็ก

นำโดย ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง , รศ.นพ.สามารถ ภคกษมา และ พญ.พรชนก เอี่ยมศิริรักษ์ ทีมกุมารแพทย์ด้านโรคเลือดและมะเร็งในเด็กอันดับต้นของเมืองไทย  ได้นำวิธีรักษาใหม่ โดยเอาไขกระดูกจากพ่อแม่มาใช้ในการปลูกถ่ายไขกระดูก  หรือที่เรียกว่ากระบวนการรักษาแบบ Haploidentical Bone Marrow Transplantation เพื่อใช้รักษาโรคธาลัสซีเมียและมะเร็งเม็ดเลือดขาวอย่างลูคีเมีย ให้กับเด็กๆ ได้สำเร็จ   ซึ่งก่อนหน้านี้ทางการแพทย์ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้เนื่องจากเซลล์ไขกระดูกของทั้งสองฝ่ายไม่สามารถเข้ากันได้ มีปฏิกิริยาต่อต้านเป็นอย่างมาก จึงทำให้ผู้ป่วยเด็กหลายรายจำเป็นต้องใช้เวลาในการรอไขกระดูกที่เข้ากับผู้ป่วยได้เป็นเวลานาน ทำให้ผู้ป่วยเด็กบางรายเสียชีวิตจากโรคก่อนได้รับการรักษา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

*โปรดระบุ

ชื่อ*
ชื่อ*
นามสกุล*
นามสกุล*
ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรักษามะเร็งในเด็ก ได้ที่นี่*
ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรักษามะเร็งในเด็ก ได้ที่นี่*
อีเมล*
อีเมล*
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?