ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด อีกหนึ่งภาวะครรภ์เสี่ยงที่คุณควรรู้

ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด อีกหนึ่งภาวะครรภ์เสี่ยงที่คุณควรรู้

HIGHLIGHTS:

  • ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด ทางการแพทย์เรียกว่า Premature rupture of membranes : PROM คือ ภาวะที่ถุงน้ำคร่ำรั่ว หรือแตกเองก่อนมีการเจ็บครรภ์คลอด
  • อาการน้ำเดินก่อนกำหนด พบในช่วงอายุครรภ์ครบกำหนดประมาณ 10% และก่อนอายุครรภ์ครบกำหนดประมาณ 3% ของการคลอดบุตรทั้งหมด
  • ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดนั้น สิ่งที่แพทย์กังวลมากที่สุดก็คือเรื่องของการติดเชื้อของคุณแม่ ซึ่งจะเกิดจากการอักเสบติดเชื้อในโพรงมดลูก ซึ่งจะสัมพันธ์กับระยะเวลาตั้งแต่น้ำเดินจนถึงระยะคลอด

สำหรับเรื่องของน้ำเดิน ปกติแล้วจะเกิดขึ้นได้เมื่อเข้าสู่ระยะเจ็บครรภ์คลอด แต่ถ้าเกิดมีน้ำเดินก่อนการเจ็บครรภ์คลอด อันนี้ถือว่าคุณแม่ตั้งครรภ์กำลังอยู่ในภาวะครรภ์เสี่ยง ปัญหาภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดเป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อย และเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเป็นอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์ ซึ่งบทความนี้เราจะมาว่ากันด้วยเรื่องปัญหาภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดกัน

ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดคืออะไร

ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด ทางการแพทย์เรียกว่า PROM (Premature rupture of membranes) หมายถึง ภาวะที่ถุงน้ำคร่ำรั่วหรือแตกเองก่อนมีการเจ็บครรภ์คลอด ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นขณะอายุครรภ์ครบกำหนดตั้งแต่ 37 สัปดาห์ (Term PROM) หรือ ก่อนอายุครรภ์ครบกำหนด 37 สัปดาห์ (Preterm PROM) โดยภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดพบในช่วงอายุครรภ์ครบกำหนดประมาณ 10% และก่อนอายุครรภ์ครบกำหนดประมาณ 3% ของการคลอดบุตรทั้งหมด

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด

ถึงแม้สาเหตุพยาธิกำเนิดของภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างสมบูรณ์ โดยในรายๆ หลายอาจจะไม่พบสาเหตุที่เกี่ยวข้อง แต่พบว่ามีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่เกี่ยวข้องได้แก่

  1. ประวัติน้ำเดินก่อนกำหนดในครรภ์ก่อน โดยเฉพาะก่อนอายุครรภ์ครบกำหนด
  2. การติดเชื้อในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น ปากมดลูก ช่องคลอด และปากช่องคลอด ซึ่งพบว่าเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดจะสร้างสาร Phospholipase ซึ่งเป็นเอนไซม์อย่างหนึ่งที่กระตุ้นการสร้างสาร prostaglandins ซึ่งจะมีผลกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกตามมา และตัวเชื้อแบคทีเรียที่เข้าไปสู่บริเวณปากมดลูกและถุงน้ำคร่ำจะกระตุ้นให้มีการสร้าง inflammatory mediators หลายชนิด ทำให้เกิดการแตกของถุงน้ำคร่ำขึ้น
  3. ภาวะเลือดออกทางช่องคลอด เช่นในรายที่คุณแม่มีประวัติเลือดออกในไตรมาสแรก โดยเฉพาะถ้ามีเลือดออกบ่อยๆ และในหลายๆ ช่วงของการตั้งครรภ์มากกว่าหนึ่งไตรมาส
  4. สูบบุหรี่ จะเพิ่มความเสี่ยงสูง 2-4 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ ตั้งครรภ์แฝด, ภาวะน้ำคร่ำมาก, เนื้องอกมดลูก, ประวัติเคยผ่าตัดปากมดลูก, ตรวจพบปากมดลูกสั้น, ประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, รกเกาะต่ำ, รกลอกตัวก่อนกำหนด, โลหิตจาง และตรวจพบความพิการของทารกในครรภ์

ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์

ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดนั้น สิ่งที่แพทย์กังวลมากที่สุดก็คือเรื่องของการติดเชื้อของคุณแม่ ซึ่งจะเกิดจากการอักเสบติดเชื้อในโพรงมดลูก ซึ่งจะสัมพันธ์กับระยะเวลาตั้งแต่น้ำเดินจนถึงระยะคลอด โดยเฉพาะถ้าภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดเกิดก่อนอายุครรภ์ครบกำหนด นอกจากทารกจะเสี่ยงต่อภาวะการติดเชื้อที่รุนแรงและภาวะทุพพลภาพด้านพัฒนาการในระยะยาวแล้ว ยังเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดจากการคลอดก่อนกำหนด เช่น ภาวะหายใจยากลำบากจากปอดพัฒนาไม่สมบูรณ์ หรือที่เรียกว่า RDS (Respiratory distress syndrome) รวมถึงทารกอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่ส่งผลให้การทำงานของหัวใจและปอดของทารกผิดปกติอีกด้วย

การวินิจฉัยและการรักษาภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด

ก็จะเริ่มจากการซักประวัติว่าคนไข้มีอาการน้ำไหลออกจากช่องคลอดก่อนเข้าสู่ระยะคลอดบ้างหรือไม่ จากนั้นก็ตรวจร่างกายเพื่อดูน้ำที่ไหลออกจากช่องคลอด โดยแพทย์จะให้คนไข้ออกแรงไอหรือเบ่งก็จะเห็นน้ำไหลออกจากปากมดลูก ปกติแล้วแพทย์จะไม่ใช้วิธีตรวจภายในเพราะจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้น จากนั้นก็จะส่งน้ำจากช่องคลอดนั้นเข้าตรวจในแล็บต่อไป หรืออาจจะใช้การตรวจอัลตราซาวด์เพื่อใช้ร่วมในการประกอบการวินิจฉัย

การรักษา อาการน้ำเดินก่อนกำหนด

ส่วนการรักษาถ้าแพทย์ตรวจพบแล้วว่ามีภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดซึ่งเป็นภาวะครรภ์เสี่ยงแล้ว แพทย์ก็จะให้คนไข้ admit จนกว่าจะคลอด แนวทางการดูแลรักษาก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งเรื่องอายุครรภ์ การติดเชื้อของคุณแม่ตั้งครรภ์ อาการเจ็บครรภ์ ท่าทางและการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์ การเปิดของปากมดลูก โดยจะพิจารณาปัจจัยเหล่านี้แล้วกำหนดแนวทางในการรักษาอีกครั้งหนึ่ง

การดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมาก คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนควรรู้ไว้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ล้วนมีผลต่อทารกในครรภ์ทั้งสิ้นไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม และคงไม่มีใครที่ต้องการจะตกอยู่ในภาวะครรภ์เสี่ยง ดังนั้น เมื่อคุณรู้ว่าตั้งครรภ์ ก็ควรฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ เพื่อความมั่นใจและความปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูกน้อย

โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ริเริ่มโปรแกรมการดูแลสุขภาพ ป้องกันการคลอดก่อนกำหนด และประสบความสำเร็จตั้งแต่ปี 2559

โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท คว้ารางวัลทรงเกียรติ “Healthcare Asia Award 2023” สาขา “Clinical Service Initiative of the Year”

ริเริ่มโปรแกรมการดูแลสุขภาพ ป้องกันการคลอดก่อนกำหนด และประสบความสำเร็จตั้งแต่ปี 2559

โดยมี รศ.ดร.นพ.บุญศรี จันทร์รัชชกูล ประธานโครงการและหัวหน้าคลินิกป้องกันการคลอดก่อนกำหนด เป็นตัวแทนขึ้นรับรางวัลในครั้งนี้

โรงพยาบาลสมิติเวชยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโปรแกรมป้องกันการคลอดก่อนกำหนด เพื่อลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยจะทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในประเทศไทยและในต่างประเทศ ช่วยเพิ่มคุณภาพในการดูแลสตรีตั้งครรภ์และทารกแรกเกิด เพื่อลดอัตราการคลอดก่อนกำหนด


คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?