ผ่าตัดไส้เลื่อน ทางหน้าท้องและขาหนีบด้วยวิธีส่องกล้อง 3 มิติ (Three-dimensional laparoscopy)

ผ่าตัดไส้เลื่อน ทางหน้าท้องและขาหนีบด้วยวิธีส่องกล้อง 3 มิติ (Three-dimensional laparoscopy)

HIGHLIGHTS:

  • การพบก้อนโป่งนูนบริเวณด้านข้างหัวหน่าวหรือถุงอัณฑะ หรือที่บริเวณสะดือ โดยไม่มีอาการอื่นๆ เลย มักสังเกตว่ามีก้อนบริเวณสะดือหรือขาหนีบในตอนยืน เดิน ยกของ ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา และก้อนอาจจะยุบหายไปตอนนอนราบ อาจเป็นอาการแสดงของไส้เลื่อน
  • การผ่าตัดรักษาไส้เลื่อน นิยมผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic) เนื่องจากแผลเล็ก เจ็บน้อย เสียเลือดน้อย ฟื้นตัวไว ปัจจุบันการผ่าตัดผ่านกล้องมักจะใช้ระบบ 3 มิติ ( Three-dimensional laparoscopy) ซึ่งทำให้ศัลยแพทย์สามารถเห็นภาพได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น เสมือนดูภาพยนตร์ 3 มิติ ทำให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพและแม่นยำขึ้น

ไส้เลื่อน คือ ภาวะที่ผนังหน้าท้องยืดโป่งเป็นรูหรือเป็นโพรง ทำให้ลำไส้บางส่วนหรืออวัยวะภายใน เลื่อนไหลออกจากช่องท้องมาติดค้างในโพรงหรือช่องบริเวณผนังหน้าท้อง เห็นเป็นก้อนนูนตรงบริเวณใดบริเวณหนึ่ง อีกทั้งยังเกิดได้ในบริเวณอื่นๆ เช่น บริเวณขาหนีบ

ไส้เลื่อนเกิดจากอะไร?

  • ความบกพร่องของการยึดเกาะภายในผนังช่องท้อง
  • ความอ้วน การไอ จาม และยกของหนัก ที่ทำให้ความดันในช่องท้องสูงขึ้น
  • มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อในช่องท้อง
  • การตั้งครรภ์
  • ท้องผูกเป็นประจำ
  • การเบ่งปัสสาวะในเพศชายที่ต่อมลูกหมากโตผิดปกติ

อาการที่บอกว่าเป็นไส้เลื่อน

ไส้เลื่อนอาจเป็นแค่การพบก้อนโป่งนูนบริเวณด้านข้างหัวหน่าวหรือถุงอัณฑะ หรือที่บริเวณสะดือ โดยไม่มีอาการอื่นๆ เลย หรืออาจมีอาการปวดตึงเล็กน้อย ผู้ป่วยมักสังเกตได้เองว่ามีก้อนบริเวณสะดือหรือขาหนีบในตอนยืน เดิน ยกของ ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา และก้อนอาจจะยุบหายไปตอนนอนราบ ก้อนในลักษณะนี้มักสามารถใช้มือดันเข้าไปได้

หาก ก้อนไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ จะมีอาการปวดมากขึ้น ร่วมกับมีการอาเจียน ไม่ผายลม เนื่องจากเกิดภาวะลำไส้อุดตันจากไส้ที่เลื่อนออกมาและไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ (incarcerated hernia) และอาจนำไปสู่ภาวะลำไส้ขาดเลือด (strangulation) ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายและจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วนฉุกเฉิน

การตรวจวินิจฉัยไส้เลื่อน

แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายของผู้ป่วย มักจะเริ่มต้นด้วยการตรวจในท่ายืน โดยแพทย์สามารถตรวจได้ด้วยการคลำที่สะดือ และอาจจำเป็นต้องสอดนิ้วเข้าไปในช่องไส้เลื่อน (inguinal canal) บริเวณเหนือถุงอัณฑะ แล้วให้ผู้ป่วยเบ่งช่องท้อง หรือไอ อีกทั้งยังจำเป็นต้องตรวจทั้งสองข้าง หากตรวจด้วยวิธีนี้แล้วพบว่าเป็นไส้เลื่อนขาหนีบก็สามารถให้การรักษาได้เลย แต่หากยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน โดยเฉพาะในคนอ้วนหรือคนที่เคยผ่าตัดไส้เลื่อนมาแล้ว ก็มีความจำเป็นต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น การทำอัลตราซาวด์ (ultrasonography) และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เป็นต้น

การรักษาไส้เลื่อน

การผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนนั้นทำเพื่อให้ลำไส้ที่เลื่อนลงมานั้นกลับเข้าไปอยู่ในตำแหน่งเดิม และเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อที่อ่อนแอลงด้วยตาข่ายสังเคราะห์ชนิดพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้ลำไส้เลื่อนลงมาอีก การผ่าตัดไส้เลื่อนนั้น หากผ่าตัดในภาวะปกติ จะไม่ได้มีการตัดลำไส้ออกไปแต่อย่างใด แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้น หากเป็นกรณีที่เร่งด่วนฉุกเฉิน เช่น มีภาวะลำไส้ขาดเลือดร่วมด้วย (Strangulated hernia) ก็อาจจำเป็นต้องตัดลำไส้บางส่วนออกด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ หากแพทย์ตรวจร่างกายผู้ป่วยแล้วพบว่ามีภาวะไส้เลื่อนพร้อมกับแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัด ผู้ป่วยก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่เช่นนั้นหากทิ้งไว้อาจก่อให้เกิดอาการลำไส้ขาดเลือด ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ผ่าตัดไส้เลื่อน แผลเล็ก เจ็บน้อย

ปัจจุบันการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อน นิยมทำการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic) เนื่องจากผลที่ได้ คือ แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1.2 ซม. 1 แผล และ 0.5 ซม. 2 แผล ทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อย ฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่มาก ระยะเวลาการนอนในโรงพยาบาลสั้น ฟื้นตัวไว ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ แพทย์จะวางแผ่นสังเคราะห์ เพื่อ ปิดรูไส้เลื่อน ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันการผ่าตัดผ่านกล้องก็มักจะใช้ระบบ 3 มิติ (Three-dimensional laparoscopy) ซึ่งทำให้ศัลยแพทย์สามารถเห็นภาพได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น เสมือนดูภาพยนตร์ 3 มิติ ส่งผลให้การผ่าตัดรักษานั้นแม่นยำขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง

ข้อดีของการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบผ่านกล้อง 3 มิติ

  • รอยแผลเล็ก
  • รบกวนเนื้อเยื่อน้อยกว่า ลดโอกาสการเกิดพังผืดในช่องท้อง
  • การปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่า
  • ภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า
  • ลดอัตราการเป็นซ้ำ
  • ซ่อมไส้เลื่อนขาหนีบได้ทั้ง 2 ข้าง ในแผลเดียวกัน เจ็บตัวเพียงครั้งเดียว
  • พักฟื้นในโรงพยาบาลเพียง 1 วันเท่านั้น ในผู้ป่วยบางท่านสามารถกลับบ้านได้เลยทันทีหลังฟื้นตัว
  • ภายใน 1 สัปดาห์ก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติ และหากไม่มีอาการเจ็บแผลอีกภายใน 2-4 สัปดาห์ ก็สามารถเริ่มออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาได้เลย

รู้จักกับนายแพทย์ พรเทพ ประทานวณิช MD, FACS, FASMBS, FRCST

นายแพทย์พรเทพ ประทานวณิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการศัลยกรรมผ่าตัดผ่านกล้อง ผ่าตัดไส้เลื่อน ไส้ติ่ง ระบบทางเดินอาหารและช่องท้อง รวมถึงการศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และศัลยกรรมผ่าตัดผ่านกล้องลดความอ้วน

  • มีประสบการณ์การผ่าตัดผ่านกล้องมานานกว่า 10 ปี
  • ผ่าตัดผ่านกล้องในโรคไส้เลื่อนมามากกว่า 700 ราย
  • มีประสบการณ์การผ่าตัดผ่านกล้อง 3 มิติ และการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดในประเทศสหรัฐอเมริกามามากกว่า 5 ปี
  • เป็นคณะกรรมการสมาคมผ่าตัดผ่านกล้องและสมาคมผ่าตัดไส้เลื่อนแห่งประเทศไทย
  • เป็นสมาชิกสมาคมศัลยกรรมผ่าตัดผ่านกล้องและผ่าตัดโรคอ้วนแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา

รวมถึงมีประสบการณ์การผ่าตัดริดสีดวงทวารหนัก, ฝีคัณฑสูตร, มะเร็งลำไส้ใหญ่, ผ่าตัดไส้เลื่อนผ่านกล้อง, ไส้ติ่ง และอื่นๆ มากกว่า 1000 ราย

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?