พัฒนาการที่น่าสนใจของการผ่าตัดเอ็นข้อเข่า

พัฒนาการที่น่าสนใจของการผ่าตัดเอ็นข้อเข่า

เอ็นข้อเข่าฉีกขาด เป็นลักษณะการบาดเจ็บที่พบได้ทั่วไป แต่โดยส่วนมากแล้วจะพบมากในนักกีฬาโดยเฉพาะกีฬาซึ่งต้องมีการเปลี่ยนทิศทางอย่างกะทันหัน เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล เป็นต้น ซึ่งเอ็นข้อเข่าที่จะได้รับบาดเจ็บมากที่สุดก็คือ เอ็นไขว้หน้าของข้อเข่า นอกจากนั้นแล้วก็จะพบการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าได้จากกรณีอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ล้ม หรือการหกล้มแล้วหัวเข่าบิดพลิกจนเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดก็สามารถพบได้เช่นกัน ทีนี้โดยทั่วไปแล้วถ้ามีการบาดเจ็บของเอ็นข้อเข่า แพทย์ก็มักจะทำการผ่าตัดเอ็นข้อเข่าเพื่อรักษา วันนี้เราจะมาดูพัฒนาการที่น่าสนใจของเรื่องนี้กัน

การผ่าตัดเอ็นข้อเข่ารูปแบบเก่า

ในประเทศไทยช่วงสักประมาณปี พ.ศ. 2530 ในช่วงนั้นการผ่าตัดเอ็นข้อเข่า ยังเป็นการผ่าตัดแบบเปิดอยู่ คือผ่าตัดเปิดบริเวณลูกสะบ้าและก็ทำการเย็บซ่อมเอ็นข้อเข่า ซึ่งผลการรักษาไม่เป็นที่น่าพอใจนัก ต้องยอมรับว่าไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ เพราะเทคโนโลยีในตอนนั้นยังไม่เข้ามา แพทย์ยังไม่เข้าใจถึงตำแหน่งที่เหมาะสมในการรักษาจึงทำให้ทำการรักษาไม่นานคนไข้ก็มีอาการเข่าหลวม ต่อมาช่วงระหว่างปี 2530 -2535 เริ่มมีการพัฒนานำเอ็นเทียมเข้ามาใช้ร่วมกับการผ่าตัดเอ็นข้อเข่า ช่วงเข้ามาแรกๆ ก็ได้รับกระแสตอบรับดี เพราะทำไปแล้วหัวเข่าที่เคยหลวมก็กลับมาแน่นขึ้น แต่ถึงอย่างไรเอ็นที่นำมาใช้ก็ยังเป็นของเทียมดังนั้นจึงมีอายุการใช้งาน หากใช้งานหรือมีการขยับเขยื้อนบ่อยอายุการใช้งานเอ็นเทียมพวกนี้ก็จะสั้นลง เมื่อเอ็นเทียมเปื่อยก็จะต้องกลับมาผ่าตัดใหม่เพื่อใส่เอ็นเข้าไปเหมือนเดิม ตรงนี้จึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้วงการแพทย์เลิกใช้เอ็นเทียมและหันกลับมาใช้เอ็นในร่างกายของคนไข้เองในการรักษาอีกครั้ง และต่อมาเทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องก็เริ่มเข้ามาแทนที่การผ่าตัดรูปแบบเก่า จากจุดนี้นี่เองจึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของการผ่าตัดเอ็นข้อเข่าในปัจจุบัน

การผ่าตัดเอ็นข้อเข่ารูปแบบใหม่

“ในช่วงเวลานั้นน่าจะราวๆ ปี 2539 (1996) ผมได้นำเทคนิคที่เรียกว่า single-bundle มาใช้ในการผ่าตัดเอ็นข้อเข่าเป็นคนแรกในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้แม้ว่าการผ่าตัดเอ็นข้อเข่าจะเป็นรูปแบบใหม่แล้วคือ เป็นการผ่าตัดผ่านกล้องแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นการผ่าตัดที่เปิดแผลตรงกลางและนำเอ็นตรงสะบ้ามาใช้อยู่ ซึ่งก็ไม่ค่อยต่างจากเดิมนัก แต่เทคนิคที่ผมใช้ก็คือ การเปิดแผลเล็กๆ ที่ใต้เข่า เจาะรู 2 รูเพื่อสอดกล้องร้อยขึ้นไป ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคนแรกของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ที่นำเทคนิคของการผ่าตัดแบบ MIS จริงๆ มาใช้ในการผ่าตัดเอ็นข้อเข่าและเอ็นที่นำมาใช้ก็จะเป็นเส้นเอ็น hamstring ที่ด้านหลังต้นขาของผู้ป่วยเอง ซึ่งการรักษาก็เป็นไปได้ด้วยดี แต่ต่อมาเราก็พบว่ายังมีปัญหาอยู่เล็กน้อย คือ ทำให้คนไข้มีอาการขาอ่อนแรงลงบ้าง ซึ่งตรงจุดนี้ไม่ใช่มีปัญหาแค่เราเท่านั้น ปัญหาที่ต่างประเทศก็เป็นเช่นนี้ จึงนำไปสู่การหาทางออกใหม่ ในอเมริกาจึงคิดกันว่าจะนำเอ็นของคนที่เสียชีวิตแล้วที่มีการบริจาคเอาไว้ก่อนที่จะเสียชีวิตมาใช้ ซึ่งในอเมริกาก็ได้ผลดี แต่ในเมืองไทยไม่ค่อยได้ผลที่น่าพอใจนัก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นเส้นเอ็นของผู้สูงอายุซึ่งไม่ค่อยสมบูรณ์นัก แต่ภายหลังก็มีการปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ”

ผ่าตัดเอ็นข้อเข่าระหว่างแบบเก่ากับแบบใหม่อันไหนดีกว่ากัน

“ในด้านการรักษาก็ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ถ้าเป็นในเรื่องของขนาดแผลผ่าตัดและการพักฟื้น ก็ต้องบอกว่ารูปแบบใหม่ที่เป็นการผ่าตัดแบบ MIS ซึ่งใช้การผ่าตัดผ่านกล้องนี้ ตอบโจทย์ได้ดีกว่า เพราะการผ่าตัดแบบ MIS แผลผ่าตัดเล็กกว่า แผลเล็กก็ย่อมเสี่ยงน้อยกว่า เจ็บน้อยกว่า และใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน ตรงจุดนี้จึงเป็นอะไรที่น่าจะเรียกว่าตอบโจทย์คนในยุคปัจจุบันมากกว่าด้วย”

ถ้าบาดเจ็บที่เอ็นเข่าแล้วไม่ผ่าตัดเอ็นข้อเข่าได้ไหม

“จริงๆ ไม่ผ่าก็ได้ เพราะการจะพิจารณาผ่าตัดเอ็นข้อเข่าหมอก็จะพิจารณาจากอายุโดยเฉพาะถ้าอายุน้อยกว่า 30 ปี และอะไรๆ อีกหลายอย่าง ดูถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้เข่าของคนไข้ด้วยเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วหมอแนะนำให้ผ่าจะดีกว่า เพราะถ้าปล่อยไว้อาจมีอาการเข่าหลวมและเข่าทรุด อาจจะเดินไม่สะดวก และวิ่งไม่ได้ นอกจากนี้ก็จะมีอาการปวดเข่า เข่าบวมเป็นๆ หายๆ ซึ่งเป็นอาการแสดงของการบาดเจ็บอวัยวะอื่น เช่น หมอนรองเข่า หรือกระดูกอ่อนของข้อร่วมด้วย”

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?