NOTES นวัตกรรมผ่าตัดไร้รอยแผล แก้ปัญหาปวดท้อง ประจำเดือนผิดปกติ

NOTES นวัตกรรมผ่าตัดไร้รอยแผล แก้ปัญหาปวดท้อง ประจำเดือนผิดปกติ

HIGHLIGHTS:

  • ประจำเดือนผิดปกติ สังเกตได้จาก ประจำเดือนมาถี่ ระยะเวลายาวนานขึ้น มีเลือดออกกะปริดกะปรอยระหว่างรอบเดือน มีปริมาณหรืออาการปวดมากกว่าปกติ อาการเหล่านี้ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาให้ถูกต้อง
  • การผ่าตัดผ่านกล้องแบบไร้แผลบนหน้าท้อง (NOTES)  เป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้องและเครื่องมือผ่าตัดสอดเข้าไปทางช่องคลอด ผ่านไปยังช่องท้อง ทำให้ไม่มีรอยแผลบริเวณผิวหนังภายนอก มีความปลอดภัยสูง เสียเลือดน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว
  • โรคหรือความผิดปกติที่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดแบบ NOTES เช่น เนื้องอกในมดลูก เนื้องอกในรังไข่ ถุงน้ำรังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก

เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ รังไข่จะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนในช่วงก่อนไข่ตก จากการกระตุ้นของไฮโปทาลามัส และต่อมใต้สมอง ส่งผลให้ผู้หญิงมีความเป็นสาวมากขึ้น เริ่มมีประจำเดือน มีความสูงเพิ่มขึ้นเร็วในช่วง 1-2 ปีแรกของการมีประจำเดือน  รวมถึงส่งผลกระตุ้นมดลูกให้ใหญ่ขึ้น เยื่อบุโพรงมดลูกหนา ปากมดลูกมีการสร้างมูก ท่อรังไข่มีการเคลื่อนที่มากขึ้น ทั้งหมดเกิดขึ้นเพื่อพร้อมรับการตั้งครรภ์ เนื่องจากผู้หญิงเป็นเพศที่มีอวัยวะภายในร่างกายที่ซับซ้อน โดยเฉพาะอวัยวะสืบพันธุ์ เต็มไปด้วยรายละเอียดที่ต้องใส่ใจ ดังนั้นจึงไม่ควรละเลยการสังเกตหากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือแม้แต่เรื่องเล็กน้อย อย่างเช่นอาการปวดท้อง ซึ่งอาจเป็นอาการที่บ่งชี้ถึงโรคร้ายหรือโรคที่รุนแรงกว่าปกติได้

ปวดท้องประจำเดือน แบบไหนเรียกว่าอันตราย

ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์หรือมีประจำเดือนแล้ว กว่า 90% มักพบปัญหาปวดท้องช่วงมีประจำเดือน โดยจะมีระดับความปวดประจำเดือน (Pain Scale) ปกติอยู่ที่ 4/10 แต่หากผู้หญิงวัย 40-50 ปี มีอาการปวดประจำเดือนเป็นอย่างมากและปวดมากขึ้นเรื่อยๆ จนพัฒนาไปเป็น 7/10 – 10/10 ก็ถือว่าอันตราย เนื่องจากอาจมีพยาธิสภาพของโรคให้เห็นเด่นชัด เช่น เนื้องอกที่อาจพัฒนาจนกลายเป็นมะเร็งได้ ดังนั้น หากมีอาการมากขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุเพื่อให้การรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ เนื่องจากมดลูกซึ่งเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ตั้งอยู่บริเวณท้องส่วนล่าง เมื่อเกิดความผิดปกติบริเวณมดลูกจึงมักมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วอาการปวดอาจสัมพันธ์กับความผิดปกติที่มดลูกหรือไม่สัมพันธ์เลยก็ได้ เช่น การมีเนื้องอกกดทับกระเพาะปัสสาวะ หรือการขับถ่ายอุจจาระลำบากหรือปวดในช่วงมีประจำเดือน เป็นต้น โดยเฉพาะหากมีการพัฒนาความเจ็บปวดมากขึ้นก็ถือว่าเป็นอาการปวดท้องแบบผิดปกติที่ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุโดยเร็วที่สุดด้วยเช่นกัน

ประจำเดือนแบบไหนเรียกว่าผิดปกติ และ อาการที่ควรพบแพทย์

ปัจจุบัน ด้วยระบบสาธารณสุขที่เจริญก้าวหน้า อาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ การเข้าสู่วัยสาวของเด็กผู้หญิงจึงเกิดได้เร็วขึ้น  โดยปกติแล้วเด็กผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุ 11-12 ปี ในผู้หญิงที่สุขภาพดีควรมีประจำเดือนสม่ำเสมอทุกๆ  21-35 วัน  โดยระยะเวลาของการมีประจำเดือนแต่ละครั้งนาน 2-5 วัน มีการใช้ผ้าอนามัยปกติอยู่ที่ประมาณ 2-3 ชิ้นต่อวัน และมีระดับความปวดประจำเดือน อยู่ที่ 4/10 หรือต่ำกว่า

แต่ในกรณีที่พบอาการดังต่อไปนี้ถือว่าเป็นอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อปรึกษา ตรวจประเมินร่างกายและรับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม

  1. เริ่มมีประจำเดือนช้าเกินไปที่อายุ 16 ปี อาจมีสาเหตุจากเนื้องอกต่อมใต้สมอง  ไม่มีรังไข่ หรือทางออกของประจำเดือนอุดตัน  เช่น ช่องคลอด หรือเยื่อพรหมจารีปิด
  2. ประจำเดือนขาด 5-6 เดือน: อาจมีเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง ความเครียด ความผิดปกติของระบบฮอร์โมน หรือความผิดปกติที่ศูนย์ควบคุมอารมณ์ ส่งผลให้มีอารมณ์หงุดหงิด โกรธง่าย
  3. ไม่มีประจำเดือนเลย แม้ถึงวัยเจริญพันธุ์   ส่วนใหญ่เกิดจากระบบฮอร์โมนผิดปกติ    มีภาวะอุดตันของทางเดิน เช่น เยื่อพรหมจารีย์ปิดแน่น โพรงปากมดลูกตีบตัน ไม่มีมดลูก ไม่มีรังไข่ หรือรังไข่ไม่ทำงาน
  4. ประจำเดือนมาถี่ทุก 1-2 สัปดาห์ ระยะเวลาการมีประจำเดือนยาวนานขึ้น มีเลือดออกกะปริดกะปรอยระหว่างรอบเดือน ประจำเดือนมีปริมาณมากกว่าปกติ อาการปวดมากกว่าปกติ (Pain Scale: 7/10 - 10/10) เหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากระบบฮอร์โมนผิดปกติ โรคเนื้องอกที่ปากมดลูก เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก เนื้องอกเยื่อบุโพรงมดลูก เนื้องอกรังไข่ มดลูกมีขนาดใหญ่มากและหนาตัวผิดปกติ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกหรือปากมดลูก หรืออาจมีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัย

  • ซักประวัติ เบื้องต้นว่าผู้ป่วยมีอาการอย่างไร เช่น ปวดท้องแบบไหน ประจำเดือนมาน้อยหรือมากแค่ไหน เป็นต้น
  • ตรวจร่างกาย ตรวจความสมบูรณ์แข็งแรงของมดลูกโดยการคลำ รวมถึงการตรวจภายใน (สามารถตรวจได้ทางช่องคลอดและทวารหนัก) และในบางกรณีอาจมีการตรวจเต้านมร่วมด้วย
  • อัลตร้าซาวด์ เพื่อให้เห็นพยาธิสภาพภายในโพรงมดลูกมากขึ้น มีอยู่ 2 ประเภท คือ อัลตร้าซาวด์หน้าท้อง กับ อัลตร้าซาวด์ผ่านทางช่องคลอด ซึ่งการทำอัลตร้าซาวด์ผ่านทางช่องคลอดจะทำให้เห็นโครงสร้างและความผิดปกติภายในโพรงมดลูกได้ชัดเจนกว่าแบบแรก หรืออาจตรวจผ่านทางทวารหนักก็ได้
  • MRI ใช้ในกรณีที่ผลการตรวจข้างต้นไม่ชัดเจนเพื่อยืนยันพยาธิสภาพของโรค เป็นที่นิยมเนื่องจากผลการวินิจฉัยจะทำให้เห็นเนื้อเยื่อได้ชัดเจนกว่าแบบอื่นๆ และยังสามารถใช้ในผู้ป่วยตั้งครรภ์ได้อีกด้วย
  • CT scan ใช้ในกรณีที่ทำการตรวจข้างต้นแล้วเห็นภาพไม่ชัด เพื่อยืนยันพยาธิสภาพของโรค ทั้งนี้ วิธีนี้ไม่สามารถใช้ในผู้หญิงตั้งครรภ์ได้
  • ผ่าตัดผ่านกล้อง จะทำการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อวินิจฉัยเมื่อผลการวินิจฉัยด้วยวิธีที่กล่าวมาข้างต้นคลุมเครือ หรือไม่สามารถวินิจฉัยโรคด้วยวิธีอื่นๆ ได้ อีกทั้งยังสามารถทำการรักษาต่อได้ทันทีหากพบความผิดปกติ เช่น เนื้องอกรังไข่ เป็นต้น ทั้งนี้ การผ่าตัดผ่านกล้อง ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

การรักษา / เมื่อไหร่ที่ต้องผ่าตัดมดลูก

1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด ได้แก่ การรับประทานยาลดปวด ในกรณีที่มีอาการปวดประจำเดือนไม่มากนัก

2. การรักษาแบบผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาลดปวดแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือผ่านการตรวจประเมินโดยแพทย์แล้ว ซึ่งแพทย์จะต้องทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจแบบอื่นๆ อย่างละเอียด เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะเลือกให้การรักษาแบบใดที่ถูกต้องและเหมาะสมกับพยาธิสภาพของโรคมากที่สุด โดยปกติแล้วจะทำการผ่าตัดเมื่อพบว่ามดลูกมีขนาดใหญ่มาก หรือมีเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกที่มีขนาดใหญ่กว่า 4-5 เซนติเมตร มีภาวะตกเลือดในช่องท้องหรือบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก มีติ่งเนื้อในโพรงมดลูก มีอาการปวดท้องร่วมกับมีภาวะประจำเดือนผิดปกติ มีพังผืดในช่องท้องมาก หรือมีช็อกโกแลตซีสต์ เป็นต้น

การรักษาโดยการผ่าตัดแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

2.1 การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง เป็นการกรีดเปิดแผลบริเวณหน้าท้องเข้าไปภายในช่องท้องหรือมดลูก แผลผ่าตัดค่อนข้างใหญ่ และต้องพักฟื้นเป็นเวลานาน รวมถึงเสี่ยงต่อผลกระทบข้างเคียง

2.2 การผ่าตัดผ่านกล้อง เป็นการส่องกล้องเข้าไปภายในช่องท้อง หรือโพรงมดลูก ปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

  • การผ่าตัดผ่านกล้องผ่านหน้าท้องเข้าไปในช่องท้อง (Laparoscopic Surgery)
    เป็นการเปิดแผลเล็กประมาณ 0.5-1.0 ซม. บนหน้าท้อง 3-5 แผล เพื่อนำกล้องเข้าไปวินิจฉัยและทำการผ่าตัดเนื้องอกและพังผืด เช่น เนื้องอกรังไข่ เนื้องอกในกล้ามเนื้อมดลูกเจริญเติบโตในช่องท้อง กล้ามเนื้อมดลูกหนามาก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือมีพังผืดในช่องท้องมาก เป็นต้น ซึ่งวิธีนี้มีข้อดี คือ แผลมีขนาดเล็ก เสียเลือดน้อย แผลหายไว และไม่ต้องพักฟื้นนาน
  • การผ่าตัดผ่านกล้องโพรงมดลูก (Hysteroscopic Surgery)
    เป็นการสอดกล้องเข้าไปทางช่องคลอดผ่านปากมดลูก เข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อตรวจวินิจฉัยพยาธิสภาพที่ผิดปกติภายในมดลูก เช่น มีติ่งเนื้อหรือเนื้องอกในโพรงมดลูก เป็นต้น รวมถึงสามารถรักษาได้ทันทีโดยไม่ทำให้เกิดแผลที่หน้าท้อง

นอกจากนั้นแล้ว ปัจจุบันการผ่าตัดผ่านกล้องได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนค้นพบนวัตกรรมที่เรียกว่า  NOTES  (Natural Orifice Transluminal Endoscopic Surgery) หรือ การผ่าตัดผ่านกล้องแบบไร้แผลบนหน้าท้อง

การผ่าตัดผ่านกล้องแบบไร้แผลบนหน้าท้อง (NOTES)

เป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้องและเครื่องมือผ่าตัดสอดเข้าไปตามช่องรูเปิดตามธรรมชาติของร่างกาย เช่น ช่องคลอด และรูทวารหนัก ผ่านไปยังช่องท้อง ทำให้ไม่มีรอยแผลบริเวณผิวหนังภายนอก อย่างไรก็ตาม NOTES ยังคงมีข้อจำกัดในผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ มีการอักเสบเรื้อรังภายในมดลูก หรือมีพังผืดรัดในช่องท้องจำนวนมาก ซึ่งอาจเกิดขึ้นเองหรือเกิดจากการผ่าตัดทางหน้าท้องมาก่อน หรือจากการมีก้อนมะเร็งจำนวนมากซึ่งก่อให้เกิดพังผืดมาก เป็นต้น

การรักษาผ่านการผ่าตัดแบบ NOTES สามารถรักษาโรคหรืออาการผิดปกติ ดังต่อไปนี้ เช่น

  • เนื้องอกในมดลูก (Uterine Fibroids)
  • เนื้องอกในรังไข่บางชนิด
  • ถุงน้ำรังไข่ ที่มีขนาด 3 – 4 ซม.
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis หรือ Chocolate Cyst) ที่มีขนาด 3 – 4 ซม.
  • เยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติ (Endometrial Hyperplasia)
  • ความผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูกที่ยังไม่เป็นมะเร็ง
  • เซลล์บริเวณปากมดลูกผิดปกติที่อาจกลายเป็นเซลล์มะเร็ง

ข้อดีของการ ผ่าตัดมดลูกแบบส่องกล้อง แบบ NOTES

  • มีความปลอดภัยสูง
  • เสียเลือดน้อย ฟื้นตัวเร็ว
  • ไม่มีร่องรอยแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง
  • ไม่จำเป็นต้องหยุดงานเป็นเวลานาน
  • ลดค่าใช้จ่ายการพักฟื้นในโรงพยาบาล

การปฏิบัติตัวและดูแลตัวเองหลังผ่าตัดส่องกล้องแบบ NOTES

  • อาบน้ำได้ตามปกติ หลังผ่าตัด
  • งดมีเพศสัมพันธ์ งดว่ายน้ำ แช่น้ำ ดำน้ำ เป็นระยะเวลา 3 เดือน
  • ระวังไม่ให้หกล้ม ด้วยการไม่เดินขึ้นลงบันได หรือยกของหนักโดยไม่จำเป็น เป็นเวลา 1 เดือน เพราะจะเป็นสาเหตุให้เกิดการตกเลือดได้
  • ไม่ควรทำอาหารหน้าเตาไฟที่มีความร้อน หรือรับประทานของที่มีรสเผ็ด เป็นเวลา 1 เดือน เพราะอาจทำให้ตกเลือดได้เช่นกัน
  • ขับรถได้ หลังผ่าตัดประมาณ 1 เดือน แต่ไม่ควรขับเร็ว เนื่องจากแผลอาจได้รับการกระทบกระเทือนได้
  • รับประทานยา และพบแพทย์ตามนัด

แม้เป็นเรื่องปกติที่อาการปวดท้องน้อยมักมาพร้อมกับการมีประจำเดือน แต่หากพบภาวะปวดท้องเรื้อรัง มีอาการปวดเพิ่มขึ้น หรือประจำเดือนมามากขึ้นผิดปกติ การพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุ รวมถึงเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัย ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันที่มีการพัฒนาเป็นอย่างมาก นวัตกรรมการผ่าตัดด้วยเทคนิค NOTES ก็เป็นอีกนวัตกรรมทางเลือกหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์ผู้ป่วยหลายกลุ่ม เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง อัตราการเสียเลือดน้อย ฟื้นตัวเร็ว จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ไม่ต้องลางานหลายวัน และที่สำคัญ ไม่ทิ้งรอยแผลไว้บนหน้าท้องให้รำคาญใจ

นายแพทย์มฆวัน ธนะนันท์กูล : ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์การรักษา

ประสบการณ์การเป็นสูตินรีแพทย์ยาวนานกว่า 37 ปี ทำการผ่าตัดมดลูกผ่านกล้องมามากกว่า 3,000 เคสในระยะเวลา 30 กว่าปี มีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดผ่านกล้องทุกรูปแบบ รวมถึงการผ่าตัดด้วยนวัตกรรม NOTES ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของแพทย์ ที่มากกว่าการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopy/Hysteroscopy) ทั่ว ๆ ไป

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?