ตรวจคัดกรองและป้องกันมะเร็งเต้านม

ตรวจคัดกรองและป้องกันมะเร็งเต้านม

HIGHLIGHTS:

  • คนเอเชียพบมะเร็งเต้านมในช่วงอายุ 40-60 ซึ่งเป็นช่วงที่น้อยกว่าชาวตะวันตก
  • ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป การตรวจเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม (Digital Mammogram) สามารถลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมได้ถึง 30%
  • ความผิดปกติในรหัสพันธุกรรมของยีน BRCA ซึ่งสามารถถ่ายทอดสู่ลูกได้ทั้งจากบิดาหรือมารดา เพิ่มความเสี่ยงให้ลูกสาวในการเป็นมะเร็งเต้านมเกือบร้อยละ 90 และมะเร็งรังไข่ร้อยละ 50

ปัจจุบันพบว่ามะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง และยังไม่มีวัคซีนป้องกันเหมือนมะเร็งปากมดลูก วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดในขณะนี้คือต้องทราบความเสี่ยงของตนเอง และหมั่นตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ

วิธีการป้องกันและการคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมมีดังนี้

วิธีการ ความถี่ในการตรวจ ผู้ควรเข้ารับการตรวจ
อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง และตรวจเป็นประจำทุกเดือน ผู้หญิงทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
การตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ 1-2 ครั้งต่อปี – ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่

 

  • มีลูกหลังอายุ 30 ปี
  • เริ่มมีประจำเดือนเร็ว (ตั้งแต่อายุ 12 ปี)
  • หมดประจำเดือนช้า (หลังอายุ 65 ปี)
  • ไม่มีบุตร
  • ได้รับฮอร์โมน หรือยาคุมกำเนิดมาเป็นเวลานาน
  • เคยมีประวัติฉายแสงบริเวณเต้านม

– ผู้หญิงอายุน้อยกว่า 40 ปีที่พบความผิดปกติของเต้านม หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมสูงกว่าปกติ อาทิ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม หรือเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน

อายุน้อยกว่า 40 ปี
การตรวจอัลตราซาวด์ 1-2 ครั้งต่อปี – ผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี โดยเฉพาะ

 

  • ชาวเอเชียที่มีเนื้อเต้านมค่อนข้างแน่นมากกว่าชาวตะวันตก
  • พบความผิดปกติ เมื่อทำการตรวจโดยแพทย์หรือการตรวจแมมโมแกรม

– หญิงมีครรภ์ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการได้รับรังสี

อายุมากกว่า 30 ปี
การตรวจพันธุกรรม BRCA ผู้หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม หรือเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน

 

การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง (Breast Self-Examination)

ควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเองตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป โดยตรวจเป็นประจำทุกเดือน ในช่วงหลังหมดประจำเดือนแล้ว 7-10 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่เต้านมไม่มีการคัดตึงแล้ว ความผิดพลาดจะน้อยลง โดยเริ่มจากการยืนหน้ากระจก เพื่อดูความผิดปกติของเต้านมในท่าห้อยแขน ยกแขน และเอามือเท้าสะเอว อย่าลืมใช้นิ้วมือรีดบริเวณฐานนมไปหาหัวนมเพื่อดูว่ามีสิ่งคัดหลั่งที่ผิดปกติไหลออกมาจากหัวนมหรือไม่ จากนั้นจึงใช้ส่วนปลายของฝ่านิ้วมือ 3 นิ้ว คือ ชี้ กลาง นาง กดคลำและคลึงให้ทั่วเต้านม ในท่านอน และท่ายืน (แนะนำให้ใช้สบู่หรือโลชั่นช่วย เพื่อให้การคลึงและคลำทำได้สะดวกขึ้น)

สิ่งที่ควรดูขณะอยู่หน้ากระจก

ดูขนาด ลักษณะ รูปร่าง ลักษณะของผิวและสีผิวเต้านม หากพบสิ่งผิดปกติดังต่อไปนี้ให้รีบปรึกษาแพทย์

  • มีก้อนนูน
  • บวม แดง ร้อน
  • ขนาดหรือรูปร่างเต้านมผิดปกติไป
  • มีการบุ๋มหรือบอดของหัวนม (หากเดิมไม่บุ๋ม) หรือผิวของเต้านมมีลักษณะคล้ายเปลือกส้ม
  • ผื่น สะเก็ด หรือคันบริเวณหัวนม
  • มีน้ำผิดปกติไหลจากหัวนมเช่น สีเลือด หรือสีขุ่นคล้ายหนอง

checkBeast-myself

หลักการคลำเต้านมด้วยตัวเอง

การคลำหรือการคลึงเต้านมด้วยตัวเอง จะใช้บริเวณสัมผัสของปลายนิ้ว 3 นิ้วคือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง โดยตรวจข้างไหนต้องใช้มือด้านตรงข้ามในการคลำหรือคลึง ใช้วิธีการสัมผัสเป็นวงกลมและเคลื่อนไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องยกนิ้วมือสัมผัสขึ้นจากผิวของเต้านม และการคลำหรือคลึงต้องทำให้ได้ทุกพื้นที่ของเต้านม รวมถึงบริเวณหางนม (บริเวณระหว่างช่วงหัวนมถึงไหล่ข้างนั้น) และบริเวณรักแร้ การคลำอาจจะทำได้หลายรูปแบบด้วยกันเช่น เป็นรูปวงกลมก้นหอย รูปซิกแซกขึ้นลง หรือรูปรัศมีพระอาทิตย์ เมื่อตรวจเต้านมข้างดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ให้ทำการตรวจเช่นเดียวกันในเต้านมอีกข้าง หากสัมผัสได้ก้อนหรือไม่แน่ใจว่าเป็นก้อนอย่าลังเลที่จะไปพบหรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

check

 

การตรวจดิจิตอลแมมโมแกรม (Digital Mammogram)

ควรเริ่มทำเมื่ออายุ 35 ปี และเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจทุก 1-2 ปี การตรวจเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม หรือ ดิจิตอล แมมโมกราฟฟี่ นั้นเป็นเทคโนโลยีแบบใหม่ ที่ถ่ายภาพและเก็บรักษาภาพไว้ในฐานข้อมูลของระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้แพทย์สามารถอ่านผลได้สะดวก และตรวจพบมะเร็งได้ง่ายขึ้นด้วยความสว่างและคมชัดของภาพ เมื่อแพทย์พบจุดที่น่าสงสัยหรือสังเกตเห็นความผิดปกติก็สามารถขยายภาพให้เห็นได้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจหาความผิดปกติได้แต่เนิ่นๆ เนื่องจากสามารถเห็นเงาการเกาะตัวของแคลเซียมในเต้านมได้ชัดเจนกว่าระบบเดิม ยิ่งกว่านั้น การตรวจด้วยวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีเนื้อเยื่อเต้านมมีลักษณะเฉพาะ ซึ่งอาจดูกลมกลืนกับเนื้อร้ายได้ จึงทำให้ตรวจพบความเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่มะเร็งเต้านมได้เร็วยิ่งขึ้น

การตรวจเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม (Digital Mammogram) ในกลุ่มผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้นไปสามารถลดความเสี่ยงการตายจากมะเร็งเต้านมได้ถึง 30%

ข้อดีของการเอ็กซเรย์เต้านม โดยใช้เครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม

  • การตรวจดิจิตอลแมมโมแกรมใช้เครื่องเอกซเรย์ที่มีปริมาณรังสีค่อนข้างต่ำและน้อยกว่ารังสีเอกซเรย์ทั่วๆ ไป
  • สามารถที่จะค้นหาลักษณะเนื้อเยื่อที่ผิดปกติและหินปูนได้ละเอียดและชัดเจน ตั้งแต่ขนาดเพียง 0.1-1 ซม. จึงทำให้ค้นพบระยะแรกเริ่มของมะเร็งได้อย่างรวดเร็ว และดีกว่าการเอกซเรย์เต้านมด้วยเครื่องแบบเดิมๆ
  • สามารถปรับความคมชัดของฟิล์มได้โดยที่ไม่ต้องถ่ายซ้ำใหม่ ทำให้สามารถลดอัตราการกลับมาทำและรับรังสีซ้ำ
  • เป็นการตรวจที่ปลอดภัย และไม่ทำอันตรายใดๆ ต่อเต้านม

การเตรียมตัวก่อนตรวจแมมโมแกรม (mammogram)

  • ไม่ควรทาแป้ง โลชั่น หรือฉีดน้ำหอมบริเวณหน้าอก เต้านม และรักแร้ เพราะจะมีผลต่อภาพแมมโมแกรม
  • ควรนำฟิล์มเก่ามาเปรียบเทียบด้วยเสมอ เพื่อให้แพทย์สามารถเปรียบเทียบความผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่ได้
  • ควรตรวจแมมโมแกรมในช่วงที่ไม่เจ็บหรือคัดเต้านม โดยช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการตรวจแมมโมแกรม คือ 7-14 วันหลังหมดประจำเดือน เพราะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนในร่างกายเริ่มลดลง ทำให้เต้านมไม่คัดตึง ทำให้เวลาตรวจแมมโมแกรมจะเจ็บน้อยกว่า
  • ไม่จำเป็นต้องงดน้ำงดอาหาร
  • กรณีที่มีการผ่าตัดเสริมเต้านม ควรบอกแพทย์หรือเจ้าหน้าที่เทคนิคทุกครั้ง เพื่อการตรวจอย่างเหมาะสม
  • ควรสวมเสื้อคลุมคนละท่อนกับกางเกงหรือกระโปรง และไม่ควรสวมเครื่องประดับที่หูหรือคอ

การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound)

การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม เมื่อคลื่นเสียงกระทบกับเนื้อเยื่อต่างๆ จะสะท้อนกลับขึ้นมาที่เครื่องตรวจ ทำให้สามารถตรวจจับความแตกต่างของเนื้อเยื่อปกติกับก้อนในเต้านมได้ และยังสามารถตรวจสอบได้ว่าก้อนในเต้านมนั้นมีองค์ประกอบเป็นน้ำ หรือเป็นก้อนเนื้อ หากเป็นก้อนเนื้อ อัลตราซาวด์จะช่วยบอกว่าก้อนเนื้อนั้นมีขอบที่ดูเรียบหรือดูค่อนไปทางเป็นเนื้อร้ายมากน้อยเพียงใด

หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องตรวจอัลตราซาวด์ร่วมด้วย เป็นเพราะว่าคนไทยหรือชาวเอเชียส่วนใหญ่มีเนื้อเต้านมค่อนข้างแน่น (Dense breast) กว่าชาวตะวันตก หากมีก้อนเนื้อหรือความผิดปกติใดๆ ก็มีโอกาสถูกบดบังจากภาพแมมโมแกรม และการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ยังสามารถเห็นรอยโรคขนาดเล็ก 2-3 มิลลิเมตร ซึ่งช่วยในการตรวจหาความผิดปกติได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าการตรวจแมมโมแกรมเพียงอย่างเดียวมีผลลบลวง (false negative) ซึ่งหมายความว่า ผู้ป่วยเป็นมะเร็งแต่มองไม่เห็นจากแมมโมแกรม 4-34 % แต่เมื่อทำการตรวจอัลตราซาวด์ร่วมด้วย จะทำให้ผลลบลวงลดเหลือ 2-3 % เท่านั้น

การตรวจพันธุกรรม BRCA

สาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งเต้านมเกิดจากความผิดปกติในรหัสพันธุกรรมของยีน BRCA ซึ่งสามารถถ่ายทอดสู่ลูกได้ทั้งจากบิดาหรือมารดา ผู้ที่ได้รับยีนที่ผิดปกตินี้จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเกือบร้อยละ 90 และมะเร็งรังไข่ร้อยละ 50 หากตรวจพบได้ว่าตนเองมีความผิดปกติในพันธุกรรมก็สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีป้องกันการเป็นมะเร็งข้างต้นได้ก่อนที่จะมีอาการ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?