ไขความเชื่อผิดๆ… เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม

ไขความเชื่อผิดๆ… เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม

HIGHLIGHTS:

  • หน้าอกคนเราประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่ เนื้อนม ไขมัน และเนื้อเยื้อเกี่ยวพันที่พยุงเต้านมให้คงรูปอยู่ได้ ซึ่งเนื้อนมที่ประกอบด้วยต่อมและท่อน้ำนมเป็นบริเวณที่เกิดโรคมะเร็ง ส่วนปริมาณเนื้อเยื่อไขมันไม่ใช่ส่วนที่เกิดมะเร็งแต่จะส่งผลต่อขนาดของหน้าอก โดยหญิงที่มีขนาดหน้าอกเล็ก มักมีเนื้อเยื่อส่วนไขมันปริมาณน้อย แต่ส่วนเนื้อนมก็มีตามปกติเหมือนคนทั่วไป จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งได้ไม่ต่างจากผู้หญิงทั่วไปหรือคนที่มีขนาดหน้าอกใหญ่กว่า
  • บางคนมีความเชื่อว่าผู้ชายไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม แต่รู้หรือไม่ผู้ชายก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ แต่ในอัตราส่วนที่น้อยกว่าผู้หญิงเป็นร้อยเท่า หากเป็นกลุ่มเสี่ยง
  •  มะเร็งเต้านมสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบและรักษาเร็ว โดยถ้าอยู่ในระยะเริ่มแรกของโรคคือ ระยะ 0 หรือระยะ 1 จะมีโอกาสหายสูงมากถึง 99%

ความเชื่อที่ 1

ผู้หญิงหน้าอกเล็กมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งน้อยกว่า

ความจริง

หน้าอกคนเราประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ เนื้อนม ไขมัน และเนื้อเยื้อเกี่ยวพันที่พยุงเต้านมให้คงรุปอยู่ได้ ซึ่งเนื้อนมที่ประกอบด้วยต่อมและท่อน้ำนมเป็นบริเวณที่เกิดโรคมะเร็ง ส่วนปริมาณเนื้อเยื่อไขมันไม่ใช่ส่วนที่เกิดมะเร็งแต่จะส่งผลต่อขนาดของหน้าอก โดยหญิงที่มีขนาดหน้าอกเล็ก มักมีเนื้อเยื่อส่วนไขมันปริมาณน้อย แต่ส่วนเนื้อนมก็มีตามปกติเหมือนคนทั่วไป จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งได้ไม่ต่างจากผู้หญิงทั่วไปหรือคนที่มีขนาดหน้าอกใหญ่กว่า โดยผู้หญิงที่มีขนาดหน้าอกใหญ่ต้องมาพิจารณาก่อนว่าใหญ่จากอะไร ถ้าใหญ่เพราะมีปริมาณเนื้อเยื่อไขมันมาก แต่ยังมีเนื้อนมเท่าเดิม โอกาสเกิดมะเร็งเต้านมก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อเยื่อไขมันไม่ใช่ส่วนที่เกิดมะเร็งตามที่กล่าวไว้ตอนต้น แต่ในกรณีที่หน้าอกใหญ่เพราะอัดแน่นไปด้วยเนื้อนม ทางการแพทย์เรียกว่า dense breast tissue ซึ่งจะบอกได้จากการทำแมมโมแกรม โอกาสเกิดมะเร็งเต้านมก็จะเพิ่มขึ้นจากเกณฑ์เฉลี่ยเกือบเท่าตัว

ความเชื่อที่ 2

ผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นกายใต้วงแขนมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม

ความจริง

ศูนย์มะเร็งแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงการใช้ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นกายใต้วงแขนกับการพัฒนาของเชื้อมะเร็ง

ความเชื่อที่ 3

การใส่เสื้อชั้นในแบบมีโครงหรือที่มีลวดเหล็กข้างในจะเพิ่มเปอร์เซ็นต์การเป็นมะเร็งเต้านม

ความจริง

ศูนย์มะเร็งแห่งชาติ และสมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาปฏิเสธความเชื่อดังกล่าว โดยบอกว่าไม่มีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมที่เพิ่มขึ้น กับการใส่เสื้อชั้นในแบบมีโครงหรือรัดมากเกินไป และ การไม่ใส่เสื้อใน (หรือโนบรา) 

ความเชื่อที่ 4

การรับประทานอาหารเสริม เช่น วิตามินหรือฮอร์โมนเสริม กระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านมได้

ความจริง

การรับประทานอาหารเสริม เช่น วิตามินที่กระตุ้นฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือการใช้ฮอร์โมนเพศเสริมในสตรีวัยทอง อาจทำให้มะเร็งเต้านมบางชนิดโดยเฉพาะชนิดที่เซลส์มะเร็งมีตัวรับฮอร์โมนเพศเป็นบวกเจริญเติบโตได้มากกว่าปกติ

ความเชื่อที่ 5

การทำศัลยกรรมเต้านม ทำให้เป็นมะเร็งเต้านม

ความจริง

การเสริมเต้านมแบบมาตรฐานโดยการใส่ซิลิโคนหรือถุงน้ำเกลือไปใต้เนื้อนมหรือใต้กล้ามเนื้อหน้าอกไม่ส่งผลใดต่อเนื้อเต้านม แต่การฉีดสิ่งแปลกปลอมเช่น ฟิลเลอร์ พาราฟิน และสารซิลิโคนเข้าไปที่เนื้อเต้านมโดยตรง สามารถทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ ของเนื้อเต้านมจนอาจส่งผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านมในอนาคตได้ 

ความเชื่อที่ 6

รังสีจากการตรวจแมมโมแกรมเต้านมมีอันตรายต่อร่างกาย

ความจริง

ปริมาณรังสีที่ได้รับจากการตรวจแมมโมแกรมเต้านมปีละครั้งถือว่าน้อยมาก เทียบเท่ากับรังสีที่ได้รับจากการนั่งเครื่องบินไปกลับยุโรปหรืออเมริกา ซึ่งต้องตรวจแมมโมแกรมเต้านมถึงกว่า 100 ครั้ง ปริมาณรังสีที่ร่างกายได้รับจึงจะเริ่มเข้าข่ายต้องเฝ้าระวัง

ความเชื่อที่ 7

การกดทับจากเครื่องแมมโมแกรม ทำให้เต้านมอักเสบและกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านม

ความจริง

เครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมหรือแมมโมแกรมสามมิติในปัจจุบัน ช่วยลดการกดทับที่รุนแรง ทำให้เกิดการอักเสบหรือฟกช้ำเพียงเล็กน้อยซึ่งไม่ส่งผลอันตรายร้ายแรงต่อเนื้อนม เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ในการตรวจพบรอยโรคมะเร็งขนาดเล็กตั้งแต่ระยะเริ่มแรกได้ เช่น หินปูนผิดปกติ การตรวจแมมโมแกรม จึงมีข้อดีมากกว่าข้อเสียมาก

ความเชื่อที่ 8

ตรวจแมมโมแกรมอย่างเดียวก็เพียงพอ

ความจริง

การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมอย่างเดียวไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในผู้หญิงเอเชียที่มีขนาดหน้าอกเล็ก เพราะมีความแม่นยำประมาณ 80% ซึ่งอาจตรวจไม่พบก้อนเนื้อหรือรอยโรคขนาดเล็กได้ จึงแนะนำให้ทำอัลตร้าซาวด์ควบคู่ไปด้วยเพื่อเพิ่มความแม่นยำขึ้นเป็น 85-90% และหากร่วมกับการตรวจเต้านมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ความแม่นยำจะอยู่ที่ประมาณ 99%

ความเชื่อที่ 9

ผู้ชายไม่เป็นมะเร็งเต้านม

ความจริง

ผู้ชายก็เป็นมะเร็งเต้านมได้ แม้จะพบในอัตราส่วนที่น้อยกว่าผู้หญิงเป็นร้อยเท่า โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีประวัติมะเร็งเต้านมหรือรังไข่ในครอบครัว ผู้ที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA ชายที่มีอายุมาก น้ำหนักเกินมาตรฐาน ตับแข็ง หรือมีภาวะเนื้อนมเกินหรือ Gynecomastia ที่มีลักษณะเต้านมเหมือนผู้หญิง 

ความเชื่อที่ 10

ผู้หญิงที่มีประวัติโรคมะเร็งในครอบครัวเท่านั้น ที่จะตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม

ความจริง

70% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไม่มีความเสี่ยงใดๆ ชัดเจน

ความเชื่อที่ 11

“ซีสต์” ปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นมะเร็ง

ความจริง

ซีสต์ หรือ ถุงน้ำ เป็นความเปลี่ยนแปลงปกติของเนื้อนมที่เกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศตามรอบเดือน ไม่ใช่ความผิดปกติของเนื้อนม ก้อนซีสต์จึงไม่มีความเสี่ยงที่จะพัฒนาเป็นมะเร็ง แต่เนื้องอกมะเร็งบางชนิดมีลักษณะคล้ายซีสต์ได้ โดยจะมีส่วนเนื้องอกแทรกอยู่ภายในซีสต์นั้น ที่เรียกว่า complex or complicated cyst ซึ่งควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเต้านม

ความเชื่อที่ 12

การมีก้อนเนื้อในเต้านมหมายความว่าเป็นมะเร็ง

ความจริง

ก้อนเนื้อที่พบในเต้านมของผู้หญิงมากกว่า 80-90% มักเป็นชนิดไม่ร้ายแรง เช่น เนื้องอกธรรมดา หรือซีสต์ นอกเหนือจากนี้ยังอาจเกิดจากโรคหรือการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างอื่น ๆ

ความเชื่อที่ 13

กลัวว่าเมื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแล้วจะเจอก้อนและเป็นทุกข์ จึงไม่ยอมตรวจและขอตายพร้อมมะเร็งดีกว่า

ความจริง

  1. มะเร็งเต้านมสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบและรักษาเร็ว โดยถ้าอยู่ในระยะเริ่มแรกของโรคคือ ระยะ 0 หรือระยะ 1 จะมีโอกาสหายสูงมากถึง 99% 
  2. มะเร็งเต้านมเมื่อเป็นแล้วมักไม่ได้เสียชีวิตจากเต้านม แต่เสียชีวิตจากการที่มะเร็งลามไปอวัยวะสำคัญที่พบบ่อยได้แก่ ปอด ตับ กระดูก และสมอง และไม่ได้ทำให้เสียชีวิตในทันที แต่หากผู้ป่วยปล่อยทิ้งไว้โดยไม่เข้ารับการรักษาจะมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 1-2 ปี แต่จะเป็น 1-2 ปีที่ทุกข์ทรมานและมีคุณภาพชีวิตแย่ที่สุดก่อนจะเสียชีวิต ดังนั้นการตรวจคัดกรองให้พบและรีบเข้ารับการรักษาให้หาย แล้วกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?