เด็กจำเป็นต้องเล่นของเล่นตามเพศหรือไม่?

เด็กจำเป็นต้องเล่นของเล่นตามเพศหรือไม่?

HIGHLIGHTS:

  • การเลือกของเล่นให้เด็กควรคำนึงถึงของที่ส่งเสริมพัฒนาการได้รอบด้าน ทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ พัฒนาการทางภาษา และทักษะทางสังคมตามวัย ทั้ง IQ และ EQ
  • ความแตกต่างในการเลือกและการเล่นเป็นไปตามเพศ พื้นฐานอารมณ์ และบุคลิกภาพของเด็กแต่ละคน รวมถึงสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กมีการเลียนแบบพฤติกรรมจากสิ่งที่เห็น
  • การให้เด็กได้เลือกของเล่นด้วยตัวเอง จะส่งเสริมตัวตนของเด็ก ส่งเสริมให้เด็กกล้าตัดสินใจ กล้าแสดงออก เป็นตัวของตัวเอง โดยการเลือกนั้นต้องอยู่ในสายตาและการควบคุมของผู้ปกครองด้วยเช่นกัน

ในปัจจุบันที่ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปนั้น แนวคิดของผู้ใหญ่ในการเลือกของเล่นให้เหมาะกับเด็ก ยังจำเป็นต้องเลือกให้เหมาะสมกับเพศสภาพและความน่าจะเป็นต่อไปนี้อีกหรือไม่? เด็กผู้ชายต้องเล่นหุ่นยนต์ รถบังคับ ยิงปืน เตะฟุตบอล ส่วนเด็กผู้หญิงก็ต้องเล่นแต่งตัวทำผมให้ตุ๊กตา เล่นทำกับข้าว เท่านั้นหรือเปล่า?

การเลือกของเล่นให้เหมาะสมกับเพศและวัย

การเลือกของเล่นของเด็กๆ พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรคำนึงถึงของเล่นที่สามารถส่งเสริมพัฒนาการได้รอบด้าน ทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ พัฒนาการทางภาษา และทักษะทางสังคมตามวัยทั้งในด้าน IQ และ EQ

เหตุผลของความชอบที่แตกต่าง

ความแตกต่างในการเลือกและการเล่น เป็นไปตามเพศ พื้นฐานทางอารมณ์ และบุคลิกภาพของเด็กแต่ละคน รวมถึงสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กมีการเลียนแบบพฤติกรรมจากสิ่งที่เห็นแตกต่างกัน จึงนำมาเลียนแบบและเล่นในแบบที่แตกต่างกันในท้ายที่สุด

พฤติกรรมและความชอบที่เปลี่ยนไปตามวัย

การเล่นของเด็กมีการเปลี่ยนไปตามระดับพัฒนาการและการเรียนรู้ที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงอายุประมาณ 3 ปี เด็กจะเริ่มแยกแยะ รู้จักความแตกต่างของเพศ ชาย หญิง และมีความชอบและการเล่นที่เป็นไปตามเพศของตน

เมื่อเด็กเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบจากต้นแบบที่เห็นบ่อยๆ ร่วมกับได้แรงเสริมจากการทำพฤติกรรมนั้นๆ การรับรู้หรือการได้ยินได้ฟังเรื่องราวจากสื่อก็ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมความชอบของเด็กๆ ได้เช่นกัน  ดังนั้น ผู้ปกครองควรตระหนักและแนะนำลูกหลานอย่างใกล้ชิดในการเลือกรับสารจากสื่อต่างๆ อย่างถูกต้องและเหมาะสม รับฟังและพูดคุย ทำความเข้าใจในการรับข้อมูลจากสื่อไปพร้อมๆ กับลูก มากกว่าที่จะไปปิดกั้น

ของเล่น และกิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัย

1. ของเล่น วัยแรกเกิด - 1 ปี 

  • ทารก 0 - 3 เดือน ควรเล่นของเล่นประเภทโมบายที่มีเสียง เพราะจะช่วยส่งเสริมการมองเห็น การได้ยิน รวมถึงกระตุ้นให้เด็กรู้จักไขว่คว้า เอื้อมจับสิ่งของ
  • อายุ 3 - 6 เดือน ของเล่นที่เหมาะสม คือ ของที่สามารถถือ เขย่า เอาเข้าปากได้และปลอดภัย เพราะเด็กวัยนี้จะเริ่มคันเหงือก หรืออาจจะเป็นการอ่านนิทานที่มีสีสันสดใส หรือการฝึกให้เด็กพลิกคว่ำ หงาย บนแผ่นรองคลาน
  • อายุ 6 - 12 เดือน การนั่งเล่นบนแผ่นรองคลาน หรือของเล่นที่ถือ จับ เขย่า เคาะ รวมถึงการให้เด็กได้ฝึกคืบคลาน หรือเกาะของเล่นที่เดินไปรอบๆ ได้ และอาจมีปุ่มกดที่มีเสียงดนตรี มีสีสันสดใส เช่น around we go เป็นต้น (วัยนี้ยังไม่ควรใช้รถหัดเดิน เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย) หรือการเล่นอีกแบบ คือ การอ่านหนังสือด้วยกันกับลูก จะส่งเสริมเรื่องทักษะของภาษา การพูดคุยกับลูก เล่นเสียง สอนพูดเรียกคนใกล้ชิด เล่นเลียนแบบท่าทาง เช่น บ๊ายบาย สวัสดี ตบมือ ร้องเพลงตบมือ หรือเต้นตาม เป็นต้น

2. ของเล่น วัย 1 - 2 ปี 

  • รถเข็นเดิน เพื่อฝึกเดินให้มั่นคงขึ้น
  • การพาเด็กออกไปเดิน วิ่ง เล่นในสนาม
  • ของเล่นประเภทบล็อกไม้รูปทรงง่าย การหยอดบล็อก การต่อบล็อกสูง
  • เล่นของเล่นที่เลียนแบบของในบ้าน เช่น โทรศัพท์ รถ ตุ๊กตา

3. ของเล่น วัย 2 - 3 ปี 

  • ให้เด็กเล่นโดยการขีดเขียน ลากเส้น จะช่วยฝึกเรื่องกล้ามเนื้อ
  • ของเล่นที่ช่วยฝึกทักษะและสมองที่อาจเกิดขึ้นจากจินตนาการ เช่น เครื่องครัว อาบน้ำตุ๊กตา เล่นเป็นหมอตรวจคนไข้ หรือเป็นช่าง
  • การอ่านหนังสือนิทานร่วมกัน

4. ของเล่นวัย 3 - 6 ปี 

  • การวาดรูป ระบายสี ที่พัฒนาจนเป็นรูปร่างได้
  • กิจกรรมตัดแปะ
  • การต่อจิ๊กซอว์ง่ายๆ หรือเล่นตัวต่อ เช่น เลโก้
  • การปั่นจักรยาน 3 ล้อ
  • การอ่านหนังสือนิทานร่วมกัน

5. ของเล่นวัย 6 - 12 ปี 

  • ให้เด็กเล่นกิจกรรมกลางแจ้ง ออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เตะบอล เล่นบาส เต้นบัลเล่ต์
  • ให้เด็กเล่นเครื่องดนตรี ซึ่งจะช่วยเสริมสมาธิ ทักษะกล้ามเนื้อมือ
  • เล่นเกมกระดาน โดยพิจารณาความยากง่ายตามวัย รวมถึงฝึกการเข้าสังคม การรอคอย เช่น เกมเศรษฐี เกมจับคู่ หมากฮอส หมากรุก ครอสเวิร์ด
  • การต่อจิ๊กซอว์ ที่มีจำนวนชิ้นและระดับความยากมากขึ้น
  • ฝึกให้เด็กมีส่วนร่วมกับการทำงานบ้าน เช่น ทำกับข้าว ทำขนม

การส่งเสริมให้เด็กได้เล่นในสิ่งที่พ่อแม่คิดมาแล้ว กับการให้เด็กเลือกสิ่งที่อยากเล่น อันไหนตอบโจทย์กว่ากัน

จริงๆ แล้วทางเลือกทั้งสองทางถือว่าดีทั้งคู่ แต่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากๆ ก็คือความเอาใจใส่ในลูกๆ ซึ่งพ่อแม่ควรให้ความใส่ใจและคอยสังเกตมองดูว่าการเล่นแต่ละอย่างส่งผลต่อลูกอย่างไร หากเป็นสิ่งที่ดีและตรงกับความชอบของลูกก็ส่งเสริม แต่หากเห็นจุดบกพร่องของการเล่นนั้นอาจต้องลองปรับเปลี่ยน พร้อมกับการอธิบายให้ลูกเข้าใจในเหตุและผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ด้วย

ในความเป็นจริงนั้น พ่อแม่ย่อมเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับระดับพัฒนาการ ส่งเสริมการเรียนรู้ และเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกอยู่เสมออยู่แล้ว การให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการเลือกของเล่นเองด้วย จะยิ่งช่วยส่งเสริมตัวตนของเด็ก ช่วยส่งเสริมให้เด็กกล้าตัดสินใจ กล้าแสดงออก และมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นอีกด้วยเช่นกัน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

*โปรดระบุ

ชื่อ*
ชื่อ*
นามสกุล*
นามสกุล*
คำถาม*
คำถาม*
อีเมล*
อีเมล*
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?