แม่ท้องกับการ ”แท้ง”

แม่ท้องกับการ ”แท้ง”

HIGHLIGHTS:

  • การแท้งตามธรรมชาติมีมากถึง 10-15 % ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด ส่วนใหญ่มักเกิดในช่วงอายุครรภ์ 4-20 สัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 13 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ 
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรงดบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดโดยเด็ดขาด รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีต่างๆ เช่น ยาฆ่าแมลง หรือน้ำยาทำความสะอาดที่ผสมสารเคมี เพื่อป้องกันการแท้ง
  • หากพบอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดไหลออกทางช่องคลอด ปวดท้องติดต่อกันหลายวัน ท้องไม่โตขึ้นหรือมีขนาดเล็กลง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

จากละครยอดนิยม “กรงกรรม” แม้เรณูจะท้องปลอมๆ และสบช่องเมื่อประจำเดือนไหลเลอะ อ้างว่าหกล้มจนแท้งลูก ผู้คนรอบตัวต่างพากันสงสาร ด้วยเห็นนางทำงานหนักหาบคอนขายขนมอย่างแข็งขัน

ละครจบ ความจริงไม่จบ  ว่าที่คุณแม่ทั้งที่ดูละครและไม่ได้ดู มักมีความวิตกกังวลถึงสุขภาพพลานามัยของทารกน้อยที่กำลังจะเกิดมาดูโลก รวมถึงมีความกังวลไม่น้อยถึงความปลอดภัยในครรภ์  กลัวว่าจะเกิดการแท้งขึ้น  ซึ่งความวิตกกังวลเหล่านี้อาจทำให้เกิดความเครียดโดยที่คุณแม่ไม่ได้ตั้งใจ

จากสถิติการแท้งบุตรพบว่า  การแท้งตามธรรมชาติมีมากถึง 10-15 % ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการแท้งมีหลากหลาย  ทั้งสามารถป้องกันได้ และปัจจัยที่ไม่สามารถป้องกัน   รวมถึงบางกรณีอาจไม่มีปัจจัยเสี่ยงเลยก็ตาม

ปัจจัยเสี่ยงแท้งบุตร

  • การท้องในคุณแม่ที่อายุมากกว่า 35 ปี
  • สุขภาพไม่ดี ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง
  • เคยคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงอนามัยที่มีภาวะแทรกซ้อน
  • มีประวิตแท้งลูก มาก่อน หรือเคยมีการขูดมดลูกจากสาเหตุอื่นๆ ส่งผลให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโต
  • มีความเครียดสูง รวมถึงภาวะซึมเศร้าหรือผิดหวังอย่างรุนแรง
  • ได้รับการกระแทกบริเวณท้อง หรือเกิดอุบัติเหตุโดยตรง
  • เล่นกีฬาที่มีการกระแทก หรือใช้แรงมาก
  • คุณแม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือติดยาเสพติด

อาการที่เป็นสัญญาณว่าแท้ง

  • มีเลือดไหลออกทางช่องคลอด ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • ปวดท้องติดต่อกันหลายวัน หรือปวดอย่างรุนแรง เพราะอาจเป็นสัญญาณของ อาการแท้ง
  • น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ท้องไม่โตขึ้นหรือมีขนาดเล็กลง ทั้งๆ ที่อายุครรภ์มากขึ้น
  • รู้สึกถึงการบีบตัวของมดลูกบ่อยมากขึ้น
  • อาการต่างๆ หายไปอย่างฉับพลัน เช่น ไม่แพ้ท้อง ทั้งๆ ที่เคยแพ้ท้อง หรืออาเจียนคลื่นไส้อย่างหนัก

การป้องกันการแท้ง

  • ปรึกษาแพทย์ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
  • ฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ รวมถึงบอกประวัติอย่างละเอียด เช่น เคยแท้ง หรือปัจจัยเสี่ยงการแท้งลูกต่างๆ
  • ลดความเครียด รู้จักปล่อยวาง ไม่วิตกกังวลกับปัญหาที่แก้ไม่ได้ หรือยังไม่มาถึง รวมถึงพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
  • ควบคุมโรคประจำตัว โดยพบแพทย์สม่ำเสมอ ปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด และที่สำคัญไม่ควรซื้อยารับประทานเองเด็ดขาด
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ ตามระยะเวลาตั้งครรภ์ โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารไขมันสูง เลี่ยงอาหารรสจัด และออกกำลังกายตามความเหมาะสม หรือตามแพทย์แนะนำ โดยหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือกีฬาที่อาจได้รับการกระแทก การวิ่ง หรือกระโดดสูง
  • หลีกเลี่ยงการติดเชื้อโรค โดยไม่ไปในสถานที่ที่มีคนแออัด โดยเฉพาะคุณแม่ที่สุขภาพไม่ดี หรือมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ
  • งดบุหรี่ แอลกอฮอล์  และสารเสพติดโดยเด็ดขาด รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีต่างๆ  เช่น ยาฆ่าแมลง หรือน้ำยาทำความสะอาดที่ผสมสารเคมี
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์แบบรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์อ่อน ๆ


การแท้งบุตรสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึง 28 สัปดาห์ แต่การแท้งส่วนใหญ่มักเกิดในช่วงอายุครรภ์ 4-20 สัปดาห์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 13 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์  คุณแม่ที่แท้งบุตรสามารถตั้งครรภ์ได้อีกครั้งทันที แต่ควรมีการเตรียมตัวทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงควรเข้ารับคำปรึกษาเพื่อวางแผนการตั้งครรภ์กับแพทย์ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากผู้ที่มีประวัติการแท้งมักพบว่ามีความเสี่ยงมากกว่าปกติ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?