ไรฝุ่น ภัยเงียบโรคภูมิแพ้ทางจมูกและโรคหืด

ไรฝุ่น ภัยเงียบโรคภูมิแพ้ทางจมูกและโรคหืด

HIGHLIGHTS:

  •  ในประเทศไทยพบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ “ไรฝุ่น” เป็นอันดับหนึ่งถึง 70-80% ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประจำวัน
  • การรักษาการแพ้ไรฝุ่นด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดสามารถลดอาการ ลดการใช้ยารักษา และป้องกันการกำเริบของอาการ รวมทั้งป้องกันการพัฒนาจากโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบไปเป็นโรคหืดได้ 
  • พบว่ามากกว่า 80% ของเด็กที่ป่วยด้วยโรคหืดจะมีความไวต่อการกระตุ้นโดยสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่พบในบ้าน เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ หรือเชื้อรา

แพ้ไรฝุ่น กับอาการโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

พบว่าผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศไทย จะมีอาการแพ้ไรฝุ่นมากเป็นอันดับหนึ่งถึงร้อยละ 70-80  โดยโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยก็คือ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ พบได้ร้อยละ 23-30 โดยผู้ป่วยจะมีอาการ เช่น น้ำมูกใส จาม คันจมูก คัดจมูก บางรายอาจมีอาการทางตา เช่น คันตา ตาแดง รอบตามีสีคล้ำ หรืออาจมีอาการหูอื้อ ปวดบริเวณดั้งจมูกและใบหน้า และ พบโรคหืดจากภูมิแพ้ร้อยละ 10-15 ซึ่งจะมีอาการ หอบเหนื่อย หายใจลำบาก หายใจมีเสียงวี้ด ไอเรื้อรังโดยเฉพาะในเวลากลางคืน เวลาเป็นหวัดจะไอนานกว่าปกติ

ทำความรู้จักกับ “ไรฝุ่น”

โดยปกติไรฝุ่นที่พบตามบ้านร้อยละ 80 มีสองสายพันธุ์คือ Dermatophagoides pteronyssinus และ Dermatophagoides farina มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องมองผ่านกล้องที่มีกำลังขยายถึง 25 เท่า ในการทดลองเลี้ยงไรฝุ่นพบว่าเจริญเติบโตได้ดีในสถานที่ ที่มีอุณหภูมิ 45 เซลเซียสและความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 75 และพบว่าในสิ่งแวดล้อมดังกล่าวทำให้เชื้อราที่เจริญบนซากผิวหนังของมนุษย์และสัตว์เลี้ยง หลุดลอกออกมา เป็นอาหารของไรฝุ่น ยิ่งมีอาหารปริมาณมากยิ่งทำให้ ไรฝุ่นจึงเจริญเติบโตดีตามไปด้วย 

โดยส่วนที่ก่อภูมิแพ้ของไรฝุ่นจะเป็นทั้งส่วนลำตัวและอุจจาระของไรฝุ่น บริเวณของบ้านที่พบไรฝุ่นปริมาณมากมักจะเป็น ที่นอน หมอน โซฟา พรม, ตู้เสื้อผ้า รวมทถึงทุกที่ที่มีฝุ่นปกคลุมอยู่

การรักษาอาการภูมิแพ้จากไรฝุ่น

ปัจจุบันแนวทางการรักษาโรคภูมิแพ้และโรคหืด ระบุว่า การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ โดยเฉพาะไรฝุ่นด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งอาจไม่มีประสิทธิภาพดีเท่าที่ควรและอาจต้องใช้หลากหลายวิธีร่วมกัน ทั้งการออกกำลังกาย การใช้ยาไม่ว่าจะเป็นยาพ่นจมูก หรือปาก หรือการฉีดวัคซีนป้องกันภูมิแพ้ นอกจากนี้ยังมีวิธีรักษาอาการแพ้ไรฝุ่น เช่น 

  • การปรับลดปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง : เช่น ลดน้ำหนัก หยุดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันจากไอเสียรถยนต์ ควันธูป เพื่อลดการกระตุ้นอาการภูมิแพ้ที่อาจกำเริบจากสิ่งแวดล้อมที่ผู้ป่วยต้องพบเจอทุกวัน 
  • การใช้ยาพ่นจมูก หรือพ่นทางปาก : เพื่อควบคุมอาการภูมิแพ้ทางจมูกและโรคหืดต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปีย่อมต้องก่อเกิดความกังวลจากการใช้ยา อย่างไรก็ตามข้อมูลจากอดีตถึงปัจจุบันยังไม่พบอาการข้างเคียงอันตรายใด ๆ ต่อผู้ป่วย 
  • การใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดรักษาอาการแพ้ไรฝุ่น : ปัจจุบันการรักษาที่ต้นเหตุ คือการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดรักษาการแพ้ไรฝุ่น ซึ่งมีทั้งแบบฉีด และเม็ดอมใต้ลิ้น ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้มีความง่ายและผู้ป่วยสามารถนำไปใช้ได้เองที่บ้าน

รักษาที่ต้นเหตุ ไม่แพ้ไรฝุ่น ปลอดภัยจากโรคหืด

การรักษาการแพ้ไรฝุ่นด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดสามารถลดอาการแพ้และยาที่ใช้ควบคุมโรค ป้องกันการพัฒนาจากโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบไปเป็นโรคหืดได้ ปัจจุบันมีรูปยารูปแบบใหม่ เป็นชนิดอมใต้ลิ้น สามารถใช้ได้ง่าย สะดวก ราคาไม่สูงเมื่อเทียบกับยารักษาภูมิแพ้อื่น ๆ และปลอดภัยยิ่งขึ้นกว่าวิธีดั้งเดิมที่ใช้การฉีดใต้ผิวหนัง 

วิธีการคือ อมยาไว้ใต้ลิ้นเพียงวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 ปี ใช้เวลาอมไม่ถึง 10 วินาทียาก็ละลายหมด และหลังจากอมให้งดกลืนน้ำลาย 1 นาที และรออีก 5 นาทีสามารถดื่มน้ำและทานอาหารได้ตามปกติ สำหรับผู้ป่วยที่ทดสอบแล้วว่าแพ้ไรฝุ่นด้วยวิธีการสะกิดผิวหนังหรือวิธีการตรวจจากเลือด การให้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดรักษาไรฝุ่น ชนิดอมใต้ลิ้นทุกวันเพื่อเป็นการปรับธรรมชาติของโรคให้มีการแพ้ต่อไรฝุ่นน้อยลง สามารถลดอาการทางจมูก ลดการใช้ยาพ่นจมูก ได้อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และลดอาการทางตาได้อีกด้วยเมื่อใช้ติดต่อกันเกิน 14 สัปดาห์เป็นต้นไป นอกจากนี้ในผู้ป่วยโรคหืดยังสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดอาการหอบกำเริบในระดับความรุนแรงปานกลางได้ในระหว่างที่ลดการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นเข้าปาก

ข้อห้ามในการใช้ยาชนิดอมใต้ลิ้น

  • เคยแพ้ยานี้ หรือส่วนประกอบของยานี้
  • มีอาการหอบหืดกำเริบรุนแรงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
  • มีโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือโรคมะเร็ง
  • กำลังใช้ยาที่ส่งผลกดภูมิคุ้มกัน
  • เพิ่งถอนฟัน ผ่าตัดในช่องปาก มีแผลหรือติดเชื้อในช่องปาก

หากมีภาวะต่อไปนี้ควรแจ้งแพทย์ก่อนใช้ยาเพื่อความปลอดภัย

  • กำลังใช้ยาในการรักษาโรคซึมเศร้าหรือโรคสั่นพาร์กินสัน
  • แพ้เนื้อปลา หรืออาหารที่มีเนื้อปลาเป็นส่วนประกอบ
  • ใช้ยา สมุนไพร อาหารเสริมอื่นอยู่
  • ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร
  • เคยมีอาการแพ้รุนแรงหลังได้รับการฉีดสารก่อภูมิแพ้ของไรฝุ่นบ้าน

อาการที่ต้องหยุดยาแล้วไปพบแพทย์ทันที

  • บวมที่ใบหน้า เปลือกตา ริมผีปาก ลมพิษ
  • หน้ามืด เป็นลม แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
  • ผื่นแดง ตุ่มพอง ผิวหนังหลุดลอก มีไข้
  • อาการหอบหืดกำเริบรุนแรง หรือแย่ลงผิดปกติ
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?