ทำยังไง ถ้านกเขาไม่ขัน (ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ)

ทำยังไง ถ้านกเขาไม่ขัน (ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ)

HIGHLIGHTS:

  • ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ พบได้ถึง 50 % ในผู้ชายอายุมากกว่า 40 ปี แต่ในปัจจุบันพบว่าปัญหานี้กลับพบในช่วงอายุที่น้อยลงเรื่อย ๆ  
  • โรคความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ได้ร้อยละ 62 เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีความดันโลหิตสูง และพบ 8 – 10% ของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นความดันโลหิตสูงภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ร่วมอยู่แล้ว
  • การรักษาด้วย shockwave เป็นเทคโนโลยีล่าสุดในการรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โดยไม่ต้องใช้ยา เป็นการใช้คลื่นเสียงที่มีความเข้มต่ำแบบแรงกระแทกจากภายนอก พบว่าผู้ที่เข้ารับการรักษาหลังจากครั้งที่ 3 – 4 จะมีความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศดีขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนการรักษา

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ แม้จะเป็นภาวะหรือความผิดปกติที่พบได้ทั่วไปสำหรับผู้ชายที่อายุมากขึ้น แต่ในปัจจุบันพบว่าปัญหานี้กลับพบมากขึ้นอย่างมาก รวมถึงพบในช่วงอายุที่น้อยลงเรื่อย ๆ

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศคืออะไร

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “erectile dysfunction”  นั้นมีคำจำกัดความทางแพทย์ว่า ภาวะที่อวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัวได้อย่างเพียงพอ หรือไม่สามารถคงการแข็งตัวไว้ได้นานขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์จนเสร็จกิจได้  

ภาวะนี้ แม้จะไม่อันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ก็เป็นสัญญานบ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพทางกายโดยรวม โดยเฉพาะโรคที่มีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิตและหลอดเลือด เช่น โรคเส้นเลือดสมองอุดตัน โรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งล้วนมีปัญหาจากเลือดไปเลี้ยงอวัยวะนั้นไม่เพียงพอนั่นเอง  

นอกจากนี้ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ยังอาจส่งผลถึงสัมพันธภาพกับคู่สมรสจนอาจทำให้มีปัญหาในครอบครัวตามมาได้

ผู้ชายจะเสื่อมสมรรถภาพเมื่ออายุเท่าไหร่

  • ชายอายุต่ำกว่า 40 ปี – พบประมาณ 5 %
  • ผู้ชายอายุมากกว่า 40 ปี - พบประมาณ 50 %

โดยธรรมชาติแล้ว การแข็งตัวขององคชาต เป็นการทำงานร่วมกันของระบบประสาทและหลอดเลือด (neurovascular) ภายใต้การควบคุมของฮอร์โมน การแข็งตัวขององคชาตต้องอาศัยการทำงานที่ปกติของ 4 ปัจจัยคือ  

  1. เส้นประสาทที่มาเลี้ยง (intact neuronal innervations)  
  2. เลือดที่มาเลี้ยง (intact arterial supply)  
  3. กล้ามเนื้อเรียบที่ copora (appropriately responsive corporal smooth muscle)  
  4. การอุดตันของหลอดเลือดดำ (intact veno-occlusive mechanics)   

ในภาวะปกติองคชาตจะมีลักษณะอ่อนตัว และจะมีการตอบสนองเมื่อได้รับการกระตุ้นทางเพศ

เสื่อมสมรรถภาพทางเพศแบ่งได้เป็น 3 ระดับ

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศจะสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ

  • อาการน้อย คือ สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้สำเร็จเกือบทุกครั้ง  
  • อาการปานกลาง คือ สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้สำเร็จประมาณครึ่งหนึ่ง
  • อาการรุนแรง คือ แทบจะไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้สำเร็จเลย

ถ้ามีการแข็งตัวได้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ถือว่าปกติ ซึ่งสาเหตุของภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศส่วนใหญ่มักเกิดร่วมกันระหว่างโรคทางกายและและปัญหาทางด้านจิตใจ โดยพบว่าสาเหตุหลักๆ ก็คือ การที่เลือดไปเลี้ยงอวัยวะเพศได้ไม่เพียงพอ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการซักประวัติ ตรวจร่างกายและตรวจเพิ่มเติมพิเศษอื่น ๆ  

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

  1. อายุ เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่ออายุสูงขึ้น โอกาสที่จะเกิดภาวะ ED ก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย
  2. สังคมและเศรษฐกิจ พบภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศมากขึ้นในกลุ่มคนที่ฐานะ/สถานะทางเศรษฐกิจสังคมที่ไม่ค่อยดี
  3. โรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง
    • โรคหัวใจและหลอดเลือด พบว่าโรคหัวใจมีผลมากที่สุดที่ทำให้เกิดภาวะ ED ระดับสูง ถึงร้อยละ 13.2
    • โรคความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดภาวะ ED ได้ร้อยละ 62 เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีความดันโลหิตสูง และพบ 8 – 10% ของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นความดันโลหิตสูงมีภาวะ ED ร่วมอยู่แล้ว
    • โรคเบาหวาน ทำให้เกิดภาวะ ED ได้ร้อยละ 74.7  เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีเบาหวาน
      ถ้าพบว่ามีโรคทั้ง 3 ร่วมกัน จะมีภาวะ ED ร่วมทุกราย
  4. เคยได้รับการผ่าตัดมาก่อน เช่น การผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน การผ่าตัดผ่านทางท่อปัสสาวะ ได้รับอุบัติเหตุบริเวณอุ้งเชิงกราน อุบัติเหตุที่ไขสันหลัง  
  5. ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย  
  6. การรับประทานยาบางชนิด
  7. พฤติกรรมอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การออกกำลังกาย พฤติกรรมทางเพศ
  8. ภาวะทางจิตใจ โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้า จากการศึกษาพบว่าคนที่มีภาวะซึมเศร้ามีภาวะ ED ร้อยละ 50 – 90

การป้องกันภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงทั้งทางกายและจิตใจ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ

การรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

ทั้งแบบไม่ใช้ยาและการใช้ยาหรือใช้อุปกรณ์ช่วย ซึ่งมีวิธีการรักษาหลักอยู่ 4 วิธี ได้แก่

  1. ยากลุ่มยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ phosphodiesterase type 5 เป็นทางเลือกแรกในการรักษาผู้ที่ไม่มีข้อห้ามใช้ (ผู้ที่ห้ามใช้คือ ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยากลุ่ม nitrate)อาการข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ ปวดศีรษะ การมองเห็นผิดปกติ อาการร้อนวูบวาบและปวดเมื่อยตามตัว
  2. การรักษาด้วยยาฉีดเข้าที่องคชาต โดยฉีดเข้าอวัยวะเพศโดยตรง ยาชนิดนี้เป็นยาที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัว เพื่อนำเลือดเข้าสู่อวัยวะเพศชาย จนเกิดการแข็งตัว และจะแข็งได้นาน 30 – 60 นาที
  3. การรักษาด้วยยาสอดเข้าทางท่อปัสสาวะ ใช้ตัวยาเดียวกับที่ใช้ฉีดเข้าอวัยวะเพศ แต่เป็นรูปแบบเม็ดเล็ก ๆ สอดเข้าทางท่อปัสสาวะ หลังจากคลึงอวัยวะเพศประมาณ 5 – 10 นาที ยาจะซึมเข้าอวัยวะเพศและทำให้แข็งตัวขึ้นมาได้
  4. การรักษาด้วยกระบอกสุญญากาศ โดยนำกระบอกสุญญากาศสวมเข้าที่อวัยวะเพศชายหลังทำการปั๊ม อากาศจะถูกปั๊มออกจากท่อพลาสติกที่สวมเข้าไปภายในเวลา 2-3 นาที เลือดจะถูกดึงให้เข้าไปที่เนื้อเยื่อแทน ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวได้ เมื่ออวัยวะเพศแข็งตัวเต็มที่แล้ว จึงถอดกระบอกสูญญากาศออก แล้วนำยางรัดที่ฐานของอวัยวะเพศชาย เพื่อช่วยให้ยังคงการแข็งตัวต่อไปได้
  5. การผ่าตัดใส่แกนองคชาตเทียม

การรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศด้วย shockwave

เป็นเทคโนโลยีล่าสุดในการรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศโดยการใช้คลื่นเสียงที่มีความเข้มต่ำแบบแรงกระแทกจากภายนอก (low intensity extracorporeal shockwave therapy) ไปกระตุ้นบนอวัยวะเพศของผู้ป่วย ส่งผลให้มีการสร้างหลอดเลือดฝอยขึ้นใหม่ เมื่อหลอดเลือดในอวัยวะเพศมีจำนวนมากขึ้น เลือดจึงเข้าไปเลี้ยงอวัยวะเพศได้มากขึ้นด้วย การตื่นตัวและการขยายขนาดของอวัยวะเพศจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังพบว่ามีความปลอดภัยสูง ไม่มีผลข้างเคียงของการรักษาด้วยยา

ขั้นตอนการรักษาด้วย shockwave

  • ระยะเวลาในการรักษาครั้งละ 30 นาที โดยต้องทำอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ต่อเนื่อง 2 – 3 สัปดาห์
  • ไม่จำเป็นต้องใช้ยาชาหรือยาระงับประสาทก่อนทำการรักษา
  • ขณะทำการรักษาจะรู้สึกเหมือนมีแรงกระแทกเบาๆ บริเวณอวัยวะเพศ ไม่รู้สึกเจ็บ ไม่ต้องพักฟื้น สามารถดำเนินชีวิตหรือมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ เนื่องจากเป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัย ปราศจากผลข้างเคียง 

การรักษาด้วย shockwave เหมาะกับใครบ้าง

  • ที่ไม่ต้องการรักษาด้วยการรับประทานยา
  • ผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อยา หรือผู้ที่เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา
  • ผู้ที่ตอบสนองต่อการักษาด้วยยาแล้ว แต่ยังต้องการความมั่นใจมากขึ้น

ผลการรักษา

ผู้ที่เข้ารับการรักษาหลังจากครั้งที่ 3 – 4 จะพบว่ามีความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศดีขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนการรักษา และสมรรถภาพทางเพศจะค่อยๆ ฟื้นฟูขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเข้ารับการรักษาครบตามกำหนด ทั้งนี้จำนวนครั้งของการรักษาอาจขึ้นกับภาวะความรุนแรงของโรคหรือปัจจัยอื่น ๆ เช่น เบาหวาน ภาวะเครียด โดยแพทย์ผู้ทำการรักษาจะเป็นผู้พิจารณาและประเมินผล

การรักษาด้วยวิธี shockwave ควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งต้องทำการตรวจวินิจฉัยให้รู้สาเหตุที่แท้จริง ประเมินและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด เพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด

ทำยังไงดีเรา ถ้า “นกเขาไม่ขัน”

ทำยังไง ถ้านกเขาไม่ขัน (ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ)

Video Call ปรึกษาปัญหาสุขภาพกับคุณหมอได้ที่บ้าน
ทำนัดหมายเพื่อปรึกษาแพทย์ คลิกที่นี่
สอบถามเพิ่มเติม คลิกที่นี่

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?