ทำยังไงดี ถ้าไม่มีรังไข่

ทำยังไงดี ถ้าไม่มีรังไข่

“จริงหรือไม่ ถ้าผู้หญิงที่ไม่มีรังไข่ก็เหมือนผู้หญิงสิ้นไร้ความเป็นอิสตรี”

รังไข่ เป็นอวัยวะขนาดเล็กมีอยู่ 2 ข้าง ที่ด้านซ้ายและด้านขวาของมดลูก ทำหน้าที่ผลิตเซลล์สืบพันธุ์ และผลิตฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้ผู้หญิงมีความแตกต่างจากผู้ชาย แต่เมื่อเข้าสู่วัยทอง รังไข่ก็จะค่อย ๆ ทำงานลดลงเนื่องจากความเสื่อม จนในที่สุดไม่สามารถเจริญพันธุ์ได้ ลักษณะความเป็นหญิงและความต้องการทางเพศที่เกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนก็ค่อย ๆ เสื่อมลงเช่นเดียวกัน

ทำไมต้องตัดรังไข่

สาเหตุที่พบได้เป็นส่วนใหญ่คือ โรคของรังไข่เอง เช่น เนื้องอกรังไข่ การอักเสบของอวัยวะสืบพันธุ์ภายในและลุกลามมาที่รังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งที่เป็นผลพวงจากโรคของมดลูก ซึ่งเมื่อจำเป็นต้องผ่าตัดเอามดลูกออกในวัยใกล้ ๆ 50 ปีขึ้นไป ก็มักจะพิจารณาตัดรังไข่ร่วมไปด้วยในคราวเดียวกัน เนื่องจากรังไข่ในวัยนี้ แทบจะไม่ได้มีการทำงานอีกแล้ว และยังเป็นการป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ตัดรังไข่แล้วจะเป็นวัยทองหรือไม่

ถ้ามาตัดเอาตอนใกล้ๆ จะวัยทองก็คงไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ เพราะอาการมันเริ่มจะค่อยเป็นค่อยไปในการเข้าสู่วัยทองมาแล้ว แต่สำหรับบางคนที่มีความจำเป็นต้องตัดรังไข่ตั้งแต่ในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งรังไข่ยังคงทำงานดีอยู่ อันนี้อาจมีอาการวัยทองอย่างกะทันหัน เช่น ร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ถ้าเป็นกรณีนี้หลังจากที่ตัดรังไข่ออกไปแล้ว แพทย์อาจจะพิจารณาให้ฮอร์โมนเพื่อรักษาต่อไป แต่การให้ฮอร์โมนก็ต้องมีขอบเขต จำกัดระยะเวลา บางคน 3 เดือนก็ดีขึ้น บางคน 6 เดือน หรือบางคนอาจจะต้องทานนานถึง 1 ปี เมื่อดีขึ้นแล้วก็หยุด แต่ไม่ใช่ว่าจะให้กินกันไปได้ตลอด ผู้หญิงบางคนบอกว่าไม่มีรังไข่ เข้าสู่วัยทองแล้วกลัวแก่เร็วเหี่ยวเร็ว อยากจะกินฮอร์โมนนานๆ แบบนี้คงทำไม่ได้ เพราะการกินฮอร์โมนไปนานๆ ก็อาจมีผลข้างเคียงได้เช่นกัน

ผ่าตัดรังไข่

การผ่าตัดรังไข่สามารถทำได้เหมือนกับการตัดมดลูก คือ การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง การผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งการตัดรังไข่สามารถทำได้ไดยการตัดเพียงข้างเดียว หรือตัดทั้ง2 ข้าง ขึ้นกับโรคที่เป็นสาเหตุ ในบางกรณี เช่น เป็นมะเร็งรังไข่ ถึงแม้จะเป็นข้างเดียวก็อาจต้องตัดออกทั้ง 2 ข้างรวมถึงต้องผ่าตัดมดลูกออกไปด้วย

ผลกระทบจากการ ผ่าตัดรังไข่

ถ้าตัดรังไข่ออกข้างเดียวไม่ค่อยมีผลกระทบเท่าไหร่ เพราะอีกข้างหนึ่งยังทำงานได้ เพียงแต่จากแต่ก่อนที่มีรังไข่ 2 ข้าง ไข่ก็สลับกันตกเดือนละข้าง คราวนี้เหลือข้างเดียว ข้างที่เหลือก็ต้องทำหน้าที่ตลอดทุกเดือน จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติ ทำให้อาการวัยทองมาเร็วขึ้น เนื่องจากปริมาณฮอร์โมนที่ผลิตได้น้อยลงกว่ามีรังไข่ 2 ข้าง

ข้อคิดจากคุณหมอ “รังไข่ เป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนรายใหญ่ แน่นอนว่าการตัดรังไข่ออกไปอาจมีผลทำให้อารมณ์ทางเพศลดลงบ้าง แต่ก็ไม่ได้มากมายอย่างที่คิด  เพราะปัญหาทางเพศไม่ได้ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนเพียงอย่างเดียว แต่มาจากหลายปัจจัย หรือคุณผู้หญิงท่านไหนที่ห่วงสวย กลัวแก่เร็ว ก็ไม่ต้องกังวลมากเกินไป เพราะปัจจุบันมีวิธีดูแลตัวเองให้ดูดีได้มากมายหลายวิธี หากเราดูแลตัวเองให้ดี กินอาหารที่ประโยชน์ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ แบบนี้ชีวิตก็ความสุข ถึงแม้จะไม่มีรังไข่ก็ตาม”

รู้จักกับคุณหมอพงษ์ธร วิโรจน์ชัยวงษ์ กับการผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช

ผศ.นพ. พงษ์ธร วิโรจน์ชัยวงษ์ มีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โดยคุณหมอจบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังมีวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

โดยคุณหมอมีความชำนาญด้านการผ่าตัดเกี่ยวกับโรคทางนรีเวช เช่น

  • การผ่าตัดมดลูก
  • การผ่าตัดรังไข่ เนื่องจากภาวะท่อนำไข่ผิดปกติ เช่น ท้องนอกมดลูก ผังผืดในช่องท้อง หรือผู้หญิงที่มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • การผ่าตัดมดลูกฉุกเฉินหลังคลอด
  • การรักษามะเร็งของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งท่อนำไข่ หรือมะเร็งรังไข่

การพักฟื้น และการดูแลหลังผ่าตัดรังไข่

  • การผ่าตัดรังไข่ พักฟื้นกี่วัน : หลังการผ่าตัดส่องกล้อง MIS ส่วนใหญ่จะอยู่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 1-2วัน ในบางกรณี พักฟื้นเพียง 1-2 วันก็อาจกลับไปทำงานตามปกติได้แล้ว
  • บริการ Samitivej PACE ติดตามคนไข้ทุกสถานะการผ่าตัด : เพราะ #เราไม่อยากให้ใครห่วง โรงพยาบาลสมิติเวชจึงมีบริการ Samitivej PACE ระบบติดตามทุกสถานการณ์ผ่าตัด ช่วยให้เราสามารถรู้สถานะคนไข้ว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนไหน เช่น กำลังอยู่ในห้องผ่าตัดหรือห้องพักฟื้น ซึ่งไม่ว่าญาติผู้ป่วยจะอยู่ที่ไหน ก็สามารถเข้าไปดูสถานะการผ่าตัดได้ทุกที่ ทุกเวลา เพียงแอดไลน์ @Samitivej
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?