โรคออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome)

โรคออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome)

โรคออฟฟิศซินโดรมเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยมีกลุ่มอาการหลากหลายดังนี้

  • กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด (ปวดเมื่อยตามร่างกาย) ซึ่งพบในเวชปฏิบัติได้บ่อยที่สุด
  • กลุ่มอาการทางเส้นเอ็น (นิ้วล็อก, ปลอกหุ้มเส้นเอ็นอักเสบ)
  • กลุ่มอาการผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลาย (ชามือ, ชาลงขา)
  • กลุ่มอาการผิดปกติทางตาและการมองเห็น
  • กลุ่มอาการทางจิตใจ (ภาวะเครียด)

กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด (Myofascial pain syndrome)

ส่วนมากพบได้บ่อยในคนวัยทำงาน โดยเกิดจากการที่กล้ามเนื้อทำงานมากเกินไปจนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน (overuse injury) จนยากแก่การซ่อมแซมเนื้อเยื่อได้อย่างสมบูรณ์  โดยอาการปวดมักจะเรื้อรัง ร่วมกับคลำพบลำกล้ามเนื้อแข็งเป็นแนว (taut band) และอาจมีจุดกดเจ็บในลำกล้ามเนื้อนั้นๆ (trigger point) ที่ทำให้ปวดร้าวไปยังบริเวณอื่นตามแนวกล้ามเนื้อได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนกับโรคอื่น เช่น โรคปวดศีรษะข้างเดียว (ไมเกรน) หากมี trigger point ในกล้ามเนื้อบ่าหรือคอ และโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท หากมี trigger point ในกล้ามเนื้อสะโพก เป็นต้น

สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคออฟฟิศซินโดรม

สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ปัจจัยด้วยกัน ดังนี้

  • ปัจจัยเกื้อหนุนให้เกิดอาการ (Predisposing factor)  ได้แก่  ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ, ภาวะกล้ามเนื้อมีความทนทานต่ำ
  • ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ (Precipitating factor)  เป็นปัจจัยที่พบได้บ่อยที่สุด แต่แก้ไขยากที่สุด เพราะเกี่ยวกับความเคยชินในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะบุคลิกภาพและท่าทางที่ไม่เหมาะสมในขณะทำงาน
  • ปัจจัยที่ทำให้อาการไม่หายและคงอยู่ตลอด (Perpetuating factor)  ได้แก่  ความเครียดทางจิตใจ,  ภาวะพร่องทางโภชนาการต่างๆ เช่น วิตามินบี, วิตามินซี, โฟลิค, แร่ธาตุแคลเซียม, ธาตุเหล็ก, ธาตุโปแทสเซียม หรือภาวะพร่องโคเอนไซม์ คิวเทน (Co-enzyme Q 10) เป็นต้น

หลักการรักษากลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืดจากโรคออฟฟิศซินโดรม

การกำจัด Trigger Point

  • การคลายจุดกดเจ็บในลำกล้ามเนื้อ (trigger point release) ด้วยการฝังเข็มซึ่งมีขนาดเล็กเข้ากล้ามเนื้อนั้นๆ โดยตรง หรือใช้การฉีดยาชา, ยาสเตียรอยด์ หรือยาโบทอกซ์ เฉพาะจุด
  • การทำกายภาพบำบัดด้วยอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อบรรเทาอาการปวดและคลายจุด trigger point เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้า, คลื่นอัลตราซาวน์, คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า, พลังงานแสงเลเซอร์, คลื่นช๊อคเวฟ, การประคบร้อน-เย็น, การแปะไคเนซิโอเทป (Kinesio tape) ที่ผิวหนัง หรือการนวดเฉพาะจุด เป็นต้น

การแก้ไขปัจจัยต่างๆ

  • การปรับเปลี่ยนท่าทางในชีวิตประจำวัน หรือการนั่งทำงาน
  • การออกกำลังเสริมความแข็งแรงและความทนทานของกลุ่มกล้ามเนื้อที่มีปัญหา
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?