โรคสมองเสื่อม (Alzheimer’s disease)

โรคสมองเสื่อม (Alzheimer’s disease)

HIGHLIGHTS:

  • ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์มากขึ้น และแนวโน้มผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการมีอายุที่ยืนยาวขึ้นของคนในปัจจุบัน
  • โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมีผลกระทบต่อเซลล์สมอง เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์

หากให้เลือกระหว่าง “ความตายกับพิการ” คำตอบของคนส่วนใหญ่คงมักจะเลือกตายมากกว่าอยู่อย่างพิการ และสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าโรคร้ายแรงที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตและความพิการ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต โรคมะเร็ง หรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ   ก็คือโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์  เพราะโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์จะทำลายความรู้ ความสามารถและ บุคลิกภาพ จนอาจกลายเป็นคนไร้สมรรถภาพ พึ่งพาตนเองไม่ได้

โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์

สมองมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเกือบหมด  เป็นอวัยวะที่มีหน่วยความจำซึ่งเรียกว่าเซลล์ประสาท จำนวนหลายหมื่นล้านเซลล์ รวมถึงยังมีหน้าที่คิด ควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรม การเสื่อมของสมองจึงทำให้ความจำเสื่อม ขาดความคิดริเริ่ม คิดช้า ตัดสินใจช้า ความเฉลียวฉลาดลดลง ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ มีพฤติกรรมผิดไปจากเดิม โดยมากจะมีสภาพแย่ลงคล้ายกลับไปเป็นเด็กทารก จนในระยะสุดท้ายก่อนเสียชีวิติจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย

ภาวะสมองเสื่อม (Dementia syndrome)  เป็นความผิดปกติของสมอง ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุโดยแบ่งสาเหตุของโรคสมองเสื่อมออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่รักษาให้หาย หรือไม่ทรุดลงไปอีก กับกลุ่มที่รักษาไม่หายเพียงแต่ช่วยให้ทุเลา และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งโรคที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มหลังนี้ คือ โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)

10 อาการบ่งชี้โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์

เนื่องจากอาการสำคัญของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ คือ ความจำเสื่อม ซึ่งแตกต่างจากอาการขี้ลืมธรรมดา จึงมีวิธีสังเกตอาการของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ดังนี้

  1. อาการหลงลืมที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
  2. อ่านหนังสือลำบากขึ้น กะระยะทางยากขึ้น
  3. เสียความสามารถในการวางแผน หรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน
  4. รู้สึกยากลำบากในการทำงานที่คุ้นเคย
  5. สับสนเรื่องเวลา และสถานที่
  6. มีปัญหาในการเข้าใจ และใช้ภาษา
  7. ลืมของไว้ในที่ที่ไม่ควรเก็บ
  8. ความสามารถในการตัดสินใจลดลง
  9. แยกตัวออกจากงานที่ทำ หรือกิจกรรมที่ชอบ
  10. อารมณ์ และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป

ปัจจัยเสี่ยงโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์

  • อายุ จากสถิติพบว่าผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ที่อยู่กลุ่มอายุ 65 ปี มีประมาณ 5% ขณะที่กลุ่มอายุ 75 ปี

พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 15% และในกลุ่มอายุตั้งแต่ 85 ปีขึ้นไป พบว่ามีมากขึ้นถึง 40 % จากตัวเลขนี้เองบ่งชี้ว่ายิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์มากขึ้น ทั้งนี้ยังพบอีกว่าแนวโน้มผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์นั้นมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการมีอายุที่ยืนยาวขึ้นของคนในปัจจุบัน 

  • พันธุกรรม แม้จะพบเป็นส่วนน้อย เพียง 5% เท่านั้น แต่ก็เป็นอีกสาเหตุของโรคที่ไม่ควรละเลย โดยส่วนใหญ่มักพบอาการเริ่มแรกเมื่ออายุประมาณ 50-60 ปี
  • อุบัติเหตุทางสมอง ผู้ที่เคยประสบอุบัติทางสมองควรได้รับการตรวจอย่างละเอียด เพื่อป้องกันโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ที่อาจเกิดตามมา
  • โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อเซลล์สมอง อาจเป็นสาเหตุให้เซลล์สมองถูกทำลาย และเกิดโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ในที่สุด

10 วิธียืดอายุสมอง

  1. นอนหลับ พักผ่อนให้เพียงพอ
  2. รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่
  3. ออกกำลังกายเป็นประจำ
  4. คิดในทางบวก หรือคิดในแง่ดี
  5. ฝึกสมาธิ
  6. ไม่อาศัยสิ่งอำนวยความสะดวกแทนสมอง
  7. ไม่เก็บตัว แยกจากสังคม
  8. ไม่เฉื่อยชาหาอะไรทำ แทนการอยู่ว่าง
  9. สร้างแรงบันดาลใจ
  10. อารมณ์แจ่มใสร่าเริง

โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์  เป็นโรคที่น่ากลัว อย่างไรก็ตามในวงการแพทย์ได้มีการศึกษาเพื่อหาวิธีป้องกันและรักษา ซึ่งพบว่าถ้าสามารถวินิจฉัยและรักษาได้ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยให้อาการทุเลาขึ้น การดำเนินโรคช้าลง หรือบางกรณีสามารถแก้ไขให้กลับคืนเป็นปกติได้

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?