4 โรคร้ายของสาววัยทอง

4 โรคร้ายของสาววัยทอง

HIGHLIGHTS:

  • เบาหวานเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการแน่ชัดจน กว่าจะไปตรวจสุขภาพ
  • ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจะมีความดันโลหิต (ตัวบน / ตัวล่าง) มากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) ตลอดเวลา แม้ในขณะพักผ่อนปกติ
  • แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก ปากเบี้ยว กลืนลำบาก พูดไม่ออก ฟัง ไม่เข้าใจภาษา เห็นภาพซ้อน เดินเซ ตามัว ทรงตัวไม่ได้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง โดยเป็นแบบปัจจุบันทันด่วน อาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคหลอดเลือดสมอง

สาววัยทอง มักประสบกับปัญหาสุขภาพที่คืบคลานเข้ามาในชีวิตเสมือนภัยเงียบ ซึ่งหากทำความเข้าใจกับโรคและ รู้จักการป้องกันเบื้องต้น รวมถึงการเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที อาจช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา หรือบางรายอาจหายสนิทก็ได้

1. สาววัยทอง อาจเสี่ยง 'เบาหวาน'

โรคยอดฮิตในหมู่คุณแม่ผู้รักการรับประทานและไม่มีเวลาออกกำลังกาย เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการแน่ชัดจนกว่าจะไปตรวจสุขภาพ แล้วพบว่ามีค่าน้ำตาลในเลือดสูงเกินปกติ ทั้งนี้ผู้เป็นเบาหวานส่วนใหญ่มักตรวจพบโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาด้วย เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิต ไขมันในเส้นเลือด และโรคไต ดังนั้นหากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น อ้วนลงพุง หรือมีกรรมพันธุ์เป็นโรคเบาหวาน รวมทั้งมีอาการเหล่านี้ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองอย่างละเอียด เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี

  • ปัสสาวะมาก และบ่อยครั้ง โดยเฉพาะตอนกลางคืน
  • คอแห้ง กระหายน้ำ
  • น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน
  • อ่อนเพลีย
  • มีแผลติดเชื้อที่ผิวหนังบ่อยๆ และหายช้า
  • สายตาพร่ามัว
  • อาการคันที่อวัยวะเพศ หรือมีอาการตกขาว
  • ชาปลายมือ ปลายเท้า
  • หมดความรู้สึกทางเพศ

การป้องกัน

  • เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเลือกรับประทานผักและผลไม้ที่ไม่หวาน โปรตีนควรเป็นเนื้อปลา หรือเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ละเว้นอาหารที่มีไขมันสูง และอาหารที่มีน้ำตาลสูง
  • ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน จะช่วยเผาผลาญอาหารและป้องกันโรคเบาหวานได้
  • ตรวจสุขภาพประจำทุกๆ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน

2. ความดันโลหิตสูง

ผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงก็ต่อเมื่อมีความดันโลหิต (ตัวบน / ตัวล่าง) มากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) ตลอดเวลา แม้ในระยะพักผ่อนปกติ

จากข้อมูลงานวิจัยใหม่ๆ พบว่าความดันโลหิตที่สูงขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย เป็นความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้การตรวจวัดความดันโลหิตหากพบว่าความดันสูงผิดปกติ ควรทำการตรวจหลายๆ ครั้ง โดยกำหนดเวลาการตรวจให้ตรงกันทุกวัน เพื่อยืนยันว่าค่าความดันโลหิตปกติในชีวิตประจำวัน ที่ถูกต้อง หากพบว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างสูงควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงถือเป็นภัยเงียบที่ผู้ป่วยมักไม่มีอาการใดๆ เลย แต่อวัยวะภายในต่างๆ เสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ จนกระทั่งอวัยวะถูกทำลายไปมากแล้ว หรือเริ่มมีอาการแสดง เช่น เจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจ อัมพฤกษ์จากโรคหลอดเลือดสมอง ตัวบวมปัสสาวะออกน้อยจากโรคไตวาย ฯลฯ ซึ่งเป็นภาวะที่ยากจะฟื้นฟูอวัยวะเหล่านั้น ให้กลับมาเป็นปกติได้อีก

การป้องกัน

  • ลดน้ำหนัก โดยเฉพาะผู้มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน (BMI > 25 kg/m2)
  • รับประทานอาหารที่มีเกลือโซเดียมต่ำ และเพิ่มการรับประทานผักและผลไม้
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน
  • งดบุหรี่และแอลกอฮอล์
  • ลดภาวะตึงเครียดในชีวิตประจำวัน (Psychosocial stress)
  • รักษาภาวะนอนกรนที่มีลักษณะการหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) กรณีสงสัยภาวะดังกล่าว ควรให้แพทย์เฉพาะทางด้านโรคหูคอจมูกช่วยตรวจยืนยันและวินิจฉัย

3. โรคหลอดเลือดสมอง

หากมีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก ปากเบี้ยว กลืนลำบาก พูดไม่ออก ฟัง ไม่เข้าใจภาษา เห็นภาพซ้อน เดินเซ ตามัว ทรงตัวไม่ได้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรงแบบไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเป็นแบบปัจจุบันทันด่วน เป็นในทันทีทันใด ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเกิดจากภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองลดลง เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อสมอง ทำให้การทำงานของสมองเกิดความผิดปกติหรือสูญเสียไป ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น ได้แก่

  • ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือ อายุ เพศ พันธุกรรม
  • ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงผู้ที่สูบบุหรี่และ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

การป้องกัน

  • ควบคุมควบคุมน้ำหนักและโรคประจำตัวให้ดี เช่น ความดัน เบาหวาน ระดับไขมันในเลือด
  • งดแอลกอฮอล์และบุหรี่
  • รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และมีประโยชน์ ลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว รับประทานอาหารประเภทกากใยให้มากขึ้น
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

4. โรคสมองเสื่อม กับ สาววัยทอง

สมองเสื่อมในผู้สูงวัย เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมองหลายๆ ด้านแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้มีการเสื่อมของระบบความจำ ความเข้าใจเหตุผล การคิดวิเคราะห์ และการควบคุมตนเอง
สาเหตุของโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคอัลไซเมอร์ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น การดูแลทางการแพทย์ จึงต้องเน้นการปรับสภาพแวดล้อมของผู้ป่วยให้มีความปลอดภัย รวมถึงช่วยเหลือญาติหรือผู้ดูแลในการรับมือกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ป่วย

10 อาการเตือนโรคสมองเสื่อม

  1. ถามซ้ำแล้วซ้ำอีก หลงลืมเรื่องราวหรือเหตุการณ์ใหม่ๆ ในขณะที่เรื่องเก่าๆ ยังจำได้ดี
  2. ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ เป็นขั้นตอนได้อย่างถูกต้อง เช่น ลืมขั้นตอนจ่ายเงินเมื่อไปธนาคาร หรือขับรถ
  3. มีความยากลำบากในการทำงาน หรือทำกิจกรรมที่คุ้นเคย ไม่ว่าที่บ้าน หรือที่ทำงาน
  4. สับสนเรื่องบุคคล วัน เวลา หรือสถานที่
  5. ไม่ค่อยเข้าใจในภาพที่มองเห็น และเชื่อมโยงการมองกับการตัดสินใจได้ไม่ดี เช่น กะระยะห่างยากขึ้น วางของบนโต๊ะ แต่มักปล่อยลงก่อนถึงโต๊ะ นึกชื่อสิ่งของที่เห็นไม่ออก หลงทาง หรือเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์บ่อยๆ
  6. รู้สึกมีปัญหาในการใช้คำที่เหมาะสมในการพูดหรือเขียน เช่น มักจะหยุดระหว่างกำลังสนทนาและไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไรต่อ หรืออาจพูดคำหรือประโยคเดิมซ้ำๆ
  7. ลืมของไว้ในที่ที่ไม่ควรวางและไม่สามารถย้อนนึกกลับไปได้ว่าวางไว้ที่ใด เช่น เก็บรองเท้าไว้ในตู้เย็น
  8. ความสามารถในการตัดสินใจลดลงหรือสูญเสียไป ละเลยการดูแลความสะอาดร่างกายและที่อยู่อาศัย เช่น เมื่อจะไปงานสำคัญ แต่ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรกับตนเอง ไม่ทำผม ไม่อาบน้ำ
  9. แยกตัวออกจากงานที่ทำหรือกิจกรรมที่ชื่นชอบ
  10. อารมณ์และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป เช่น ดูสับสน วิตกกังวล หวาดกลัว หรือซึมเศร้า

การป้องกัน

  • นอนหลับ พักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เป็นประจำ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • คิดในทางบวก หรือคิดในแง่ดี
  • ฝึกสมาธิ
  • ไม่อาศัยสิ่งอำนวยความสะดวกแทนสมอง
  • ไม่เก็บตัว แยกจากสังคม
  • ไม่เฉื่อยชา หาอะไรทำแทนการอยู่ว่าง
  • สร้างแรงบันดาลใจ

จะเห็นได้ว่าโรคร้ายภัยเงียบทั้ง 4 นี้ มีปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ รวมถึงความเครียด ดังนั้นการป้องกันโรคที่ดีขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ชีวิตให้ถูกสุขลักษณะ ควบคุมน้ำหนัก หมั่นออกกำลังกาย งดเหล้าบุหรี่ และทำจิตใจให้สดใส ทั้งนี้ยังควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หรือตามแพทย์สั่ง เพื่อชีวิตที่มีคุณภาพและสุขภาพที่ดีตลอดไป

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?