แก้ไขเข่าเสื่อม เข่าโก่ง ด้วยการผ่าตัดแบบ HTO (High Tibial Osteotomy -HTO)

แก้ไขเข่าเสื่อม เข่าโก่ง ด้วยการผ่าตัดแบบ HTO (High Tibial Osteotomy -HTO)

HIGHLIGHTS:

  • “การผ่าตัด ดัดเข่าแบบ HTO” เหมาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่อายุยังน้อยแต่ยังต้องใช้เข่าอย่างหนักในชีวิตประจำวัน ในการทำงานหรือเล่นกีฬา
  • “การผ่าตัด ดัดเข่าแบบHTO ยังคงเก็บรักษาสภาพผิวข้อเดิมไว้ ไม่มีการตัดทำลายกระดูกหรือเลาะกระดูกอ่อนทิ้ง
  • อาการบาดเจ็บจากการผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วกว่าปกติ

แก้ไขเข่าเสื่อม เข่าโก่ง ด้วยการผ่าตัดแบบ HTO (High Tibial Osteotomy)

“จะดีแค่ไหน ถ้ายังได้ใช้เข่าของตัวเอง” ผู้ที่มีปัญหาปวดเข่า เข่าโก่ง เข่าเสื่อมทั้งหลายอาจยังกลัวๆ กล้าๆ กับการเข้ารับการรักษา เพราะเกรงว่าต้องลงเอยด้วยการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม แต่ความจริงแล้วการรักษาข้อเข่ามีทางเลือกให้คุณมากกว่าที่คิด “การผ่าตัด ดัดเข่า” หรือ High Tibial Osteotomy (HTO) แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวได้ไว ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

“การผ่าตัด ดัดเข่า (HTO)” เป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาผู้ป่วยเข่าโก่ง ซึ่งมีต้นเหตุมาจากการเสื่อมของข้อเข่าด้านใน  ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมมากกว่า 90% เกิดจากการเสื่อมของข้อเข่าจากช่องด้านใน การผ่าตัดวิธีนี้เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ทั่วโลกว่าได้ผลดีมาก เหมาะสำหรับทุกวัยที่กระดูกยังแข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่อายุยังน้อยแต่ยังต้องใช้เข่าอย่างหนักในชีวิตประจำวัน ในการทำงานหรือเล่นกีฬา เพราะการผ่าตัดไม่ได้ถูกเปลี่ยนเป็นข้อเข่าเทียม แต่ยังคงเป็นข้อเข่าจริงดั่งเดิมที่ถูกปรับ แก้ไขแนวแรง เปลี่ยนจุดของการรับน้ำหนักของข้อเข่า จากการรับน้ำหนักที่ลงตรงจุดช่องด้านในมากกว่าปกติ ให้มาลงที่ช่องเข่าด้านนอกแทน ผลที่ได้รับคือ

  1. ความเจ็บปวดที่เคยมีอยู่หายไป เมื่อเปลี่ยนจุดรับน้ำหนักซึ่งปกติจะลงที่ช่องเข่าด้านในจากมากให้น้อยลงและไปลงน้ำหนักมากขึ้นที่ช่องเข่าด้านนอก
  2. ผิวกระดูกอ่อนบนข้อมีความสามารถในการสร้างเซลล์ตนเองขึ้นมาทดแทนส่วนที่สึกหรอได้ในสภาวะที่เหมาะสม เมื่อช่องเข่าด้านในลดแรงบดกระแทกลง การสร้างผิวกระดูกอ่อนที่เคยถูกทำลายจากการกดทับจะสามารถสร้างได้มากขึ้นจนมีผิวกระดูกอ่อนหนาพอรับน้ำหนักได้และไม่เกิดอาการเจ็บปวดอีก
  3. กระดูกงอกที่มีอยู่ทางด้านข้างของช่องเข่าด้านในจะไม่ถูกสร้างเพิ่มมากขึ้นตรงกันข้ามยังค่อย ๆ ลดขนาดลงไปตามเวลา เนื่องด้วยธรรมชาติของข้อและกระดูกในร่างกาย จุดไหนที่ไม่มีแรงกระทำ จุดนั้นจะไม่ต้องการสร้างอะไรขึ้นมารับแรงมาก แต่ถ้าหากจุดไหนรับแรงมากร่างกายก็จะไปสร้างส่วนของเนื้อเยื่อตรงนั้นให้แข็งแรงมากขึ้น เซลล์กระดูกสร้างตัวเองให้เพิ่มขึ้นใหญ่ขึ้นได้ ดังนั้น เวลาที่ข้อเข่าถูกรับน้ำหนักมากๆ ร่างกายก็พยายามสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมารองรับ แต่กระดูกที่สึกไปแล้วไม่สามารถสร้างเสริมขึ้นมาให้ตรงจุดเดิมที่สึกไปได้ แต่จะสร้างเบี่ยงเบนออกไปกลายเป็นกระดูกงอก ทำให้มีปัญหากระดูกงอก สุกและความเจ็บปวดนั่นเอง

ข้อดีของการผ่าตัดแบบ “HTO”

  • ยังคงเก็บรักษาสภาพผิวข้อเดิมไว้ ไม่มีการตัดทำลายกระดูกหรือเลาะกระดูกอ่อนทิ้ง
  • เป็นการผ่าตัดแก้ไขบริเวณส่วนต้นของกระดูกขานอกข้อเข่า
  • แนวของขาและเข่าถูกแก้ไขให้กลับมาตรงเหมือนขาปกติตามธรรมชาติ
  • อาการบาดเจ็บจากการผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วกว่าปกติ
  • ไม่มีการผ่าตัดเข้าไปในข้อเข่า จึงทำให้โอกาสในการติดเชื้อหรือการกระทบกระเทือนของข้อมีน้อยกว่า สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ออกกำลังได้ กลับไปวิ่ง เล่นกีฬาได้เหมือนเดิม
  • กระดูกผิวข้อสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ เพราะเป็นผิวข้อตามธรรมชาติ มีโอกาสฟื้นฟูสภาพได้เนื่องจากแรงกดเสียดสีที่เกิดขึ้นได้ถูกย้ายไปยังจุดอื่น
  • หากเกิดความเสื่อมขึ้นใหม่ในอนาคต สามารถทำการรักษาโดยเปลี่ยนข้อเทียมได้ไม่ยุ่งยาก

ข้อจำกัดของการผ่าตัดแบบ High Tibial Osteotomy

  1. คนไข้ที่มีอายุมาก อาจมีปัญหาเรื่องของกระดูกบาง ทำให้การยึดเกาะของวัสดุหรือโลหะที่นำมาใช้ยึด อาจไม่แข็งแรงเท่ากับคนไข้ที่อายุน้อย และมุมที่ดัดเอาไว้อาจลดลงในภายหลัง ถ้าเป็นคนไข้กลุ่มนี้ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด แต่อายุไม่ได้เป็นข้อจำกัดที่แท้จริง ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของกระดูกของแต่ละคนมากกว่า บางคนอายุมากแต่กระดูกแข็งก็สามารถทำได้ผลดี บางคนอายุน้อยแต่กระดูกอ่อน นิ่ม ไม่เหมาะกับการรักษาด้วยวิธีนี้ก็มี
  2. คนไข้ที่มีภาวะกระดูกพรุน เพราะกระดูกบางแตกหักง่าย การยึดด้วยโลหะจะไม่แข็งแรง
  3. คนไข้ที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือคนอ้วน บางครั้งเหล็กไม่สามารถยึดกระดูกให้อยู่ได้ อาจต้องหาวิธีการรักษาหรือวิธีการยึดอย่างอื่นช่วย
  4. คนไข้ที่เป็นโรคบางอย่างซึ่งมีผลกระทบต่อการเชื่อมติดของกระดูก ทำให้กระดูกติดยาก หรือคนที่สูบบุหรี่จัด ดื่มกาแฟมาก หรือคนที่รับประทานยาบางอย่างแล้วมีผลทำให้การเจริญเติบโตของกระดูกหยุดชะงัก เช่น ยากดภูมิต้านทาน หรือคนที่เคยเปลี่ยนไต เป็นต้น
  5. ผู้ที่ชื่นชอบมังสวิรัติ เพราะร่างกายขาดโปรตีนและแคลเซียม ส่งผลให้กระดูกพรุน หักง่าย

“ร่างกายของมนุษย์ คือ สิ่งมหัศจรรย์ สามารถสร้างเกราะป้องกันตัวเองได้ตลอดเวลา แต่บางครั้งการสร้างเกราะดังกล่าวก็ทำให้ร่างกายมีปัญหา อย่างเช่นกระดูกงอก หรือบางครั้งเกราะคุ้มกันของร่างกายก็หดหายไปเพราะการกระทำของเราเอง โปรตีนและแคลเซียมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกระดูก ใครที่ชื่นชอบทานมังสวิรัติควรศึกษาให้ดี บางคนคิดว่าทานผักอย่างเดียวแหละดีจะได้ผอม ทำให้ผู้ที่ทานมังสวิรัติมักขาดโปรตีนและแคลเซียม แกนของกระดูกเป็นโปรตีนให้แคลเซียมไปเกาะ เมื่อโปรตีนไม่พอ ร่างกายจะดึงเอาโปรตีนจากกระดูกที่เป็นทุนเดิมออกมาใช้ บางคนกินแคลเซียมเสริมคิดว่ากระดูกจะได้แข็งแรง แต่ร่างกายไม่มีโปรตีนต่อให้กินแคลเซียมเท่าไหร่ก็ไม่เกิดผล เพราะแคลเซียมไม่มีที่ให้เกาะ ร่างกายต้องการสารอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ออกกำลังกายให้พอเหมาะ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด แบบนี้ก็ส่งผลดีเป็นไหนๆ แล้วครับ”

ปรึกษาหมอออนไลน์ ผ่าน Video Call เรื่องการผ่าตัดแบบ HTO คลิกที่นี่

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?