โรคสมองเสื่อมในคนอายุน้อย

โรคสมองเสื่อมในคนอายุน้อย

HIGHLIGHTS:

  • ภาวะสมองเสื่อมในคนอายุน้อยมักพบในผู้ป่วยวัยทำงาน สาเหตุมาจากความเครียดหรือภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน มักคิดว่าไม่อันตรายจนกลายเป็นภัยเงียบที่ไม่รู้ตัว
  • ผู้มีภาวะสมองเสื่อมอาจจะไม่ได้มีเพียงแค่การหลงลืมเท่านั้น แต่ยังมีภาวะเครียด ซึมเศร้า แยกตัวออกจากสังคม ไม่ว่าจะครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน
  • การบำบัดด้วยศิลปะ การฝึกสมาธิ การเล่นดนตรีช่วยลดภาวะสมองเสื่อมลงได้

ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) คือความเสื่อมประสิทธิภาพของสมองลดลงเรื่อยๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางความคิด ความจำ การใช้เหตุผล และการสื่อสาร รวมถึงบุคคลิกภาพเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติ ในบางกรณีอาจมีอารมณ์แปรปรวน เครียด ซึมเศร้า รู้สึกแปลกแยก ต่อต้าน และแยกตัวออกจากสังคม โดยปกติมักเกิดในคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตามภาวะสมองเสื่อมก็สามารถเกิดในผู้อายุน้อยตั้งแต่ 30-65 ปี

ภาวะสมองเสื่อมในคนอายุน้อย (Dementia in younger) เริ่มพบมากขึ้นถึง 6.9% ของจำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั้งหมด ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน จึงมักถูกมองว่าเป็นเพียงเรื่องของความเครียด หรือภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน เลยไม่ได้สังเกตความผิดปกติ ละเลยคิดว่าไม่อันตราย จนกลายเป็นภัยเงียบที่ไม่รู้ตัว

สาเหตุของโรคสมองเสื่อมในคนอายุน้อย

อาจเกิดจาก

  • คนในครอบครัวมีประวัติว่าเป็นภาวะสมองเสื่อมตอนอายุน้อยๆ
  • ภาวะเส้นเลือดสมองตีบ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยอายุน้อยที่มีภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ทำให้เส้นเลือดฝอยในสมองตีบ ส่งผลให้เซลล์สมองตาย
  • ฮอร์โมนผิดปกติ โดยเฉพาะฮอร์โมนไทรอยด์ที่มีระดับต่ำกว่าปกติ
  • ภาวะร่างกายขาดวิตามินบี 12 หากขาดเป็นเวลานานอาจส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อม
  • สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ซึ่งบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดสมองตีบ ส่วนแอลกอฮอล์จะไปยับยั้งการดูดซึมของวิตามินบี12 ทั้งนี้การดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นระยะเวลานานหรือดื่มในปริมาณมากอาจทำลายสมองส่วนต่างๆได้
  • การติดเชื้อในสมอง เช่น เอชไอวี ซิฟิลิส และไวรัสอื่นๆ
  • ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือเนื้องอกสมอง

การสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคสมองเสื่อมในคนอายุน้อย

  • ลืมเรื่องง่ายๆ เช่น วัน เดือน ปี สถานที่ที่เพิ่งไปมา ลืมนัดสำคัญหรือบางคนถึงขั้นลืมวันเกิดตัวเอง มักจะต้องใช้ตัวช่วย เช่น สมาร์ทโฟน หรือสมุดโน้ตมาช่วยจำ
  • บุคลิกภาพเปลี่ยน เช่น พูดไม่ได้ใจความ บางครั้งพูดติดๆ ขัดๆ หรือพูดซ้ำๆ ทำให้ประสิทธิภาพในการสื่อสารกับคนรอบข้างถดถอยลง
  • การตัดสินใจแย่ลง การตัดสินใจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ หรือต้องใช้เวลานานในการตัดสินใจ
  • มักเกิดความผิดพลาดในการกะระยะ การบอกสี บอกความแตกต่าง ซึ่งเป็นปัญหามากถ้าผู้ป่วยต้องขับรถ
  • ภาวะเครียด ซึมเศร้า แยกตัวออกจากสังคม ไม่ว่าจะครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน
  • ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ไม่มีสมาธิ กระวนกระวาย ย้ำคิดย้ำทำ

ผู้มีภาวะสมองเสื่อมอาจจะไม่ได้มีเพียงแค่การหลงลืมเท่านั้น จะต้องอาศัยอาการอื่นๆ ตามที่กล่าวไปข้างต้นประกอบการวินิจฉัย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัว ต้องใช้การสังเกตโดยคนรอบข้าง สำหรับผู้ที่ไม่แน่ใจว่ากำลังเผชิญภาวะสมองเสื่อมอยู่หรือไม่ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการทดสอบและวินิจฉัย ซึ่งมีวิธีการตรวจหลายอย่างดังนี้

  •  ทำแบบทดสอบ เพื่อประเมินภาวะสมองเสื่อม และแบบประเมินภาวะทางอารมณ์และจิตใจ
  •  ตรวจสมองด้วยเครื่องสแกนแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูความผิดปกติของเส้นเลือดในสมอง เนื้อสมองตายจากการขาดเลือดหรือเนื้องอกในสมอง
  •  เจาะน้ำไขสันหลังไปตรวจ ในกรณีสงสัยการติดเชื้อเช่น เอชไอวี ไวรัส หรือซิฟิลิส
  •  ตรวจวัดระดับวิตามินบี12 ในร่างกาย
  •  ตรวจความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์

การรักษาโรคสมองเสื่อมในคนอายุน้อย จะเริ่มจากการรักษาสาเหตุของภาวะที่นำไปสู่ภาวะเซลล์สมองเสื่อมหรือตาย หากพบภาวะสมองเสื่อมจากสาเหตุขาดวิตามิน(B12) หรือจากปัญหาฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ แพทย์จะให้การรักษาโดยการให้วิตามินทดแทนหรือใช้ฮอร์โมนเสริม บางสาเหตุสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด เช่น เนื้องอกในสมองบางชนิด ควบคุมโรคประจำตัวที่ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง หรือรักษาภาวะติดเชื้อ หากตรวจพบเชื้อจากน้ำไขสันหลัง

การรักษาด้วยยา มักพิจารณาให้สำหรับผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นของโรค เพื่อประคองระดับของอาการไม่ให้แย่ลงเร็ว หรือใช้วิธีการบำบัดทางจิตใจและพฤติกรรม โดยการส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้มีการพูดคุย ร่วมกิจกรรม หรือเข้าร่วมกลุ่มบำบัด (Group therapy) เป็นการพาผู้ป่วยกลับเข้าสังคมอีกครั้ง บำบัดด้วยศิลปะ การฝึกสมาธิ การเล่นดนตรี

การลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบเช่น ควบคุมน้ำหนักเพื่อลดระดับความดันโลหิต ทานผักหลากชนิด ลดแป้ง ลดอาหาร fast food หรืออาหารที่มีไขมันทรานส์ ควบคุมโรคเบาหวาน รวมถึงงดสูบหรี่ ลดหรือเลิกดื่มแอลกอฮอล์ก็มีส่วนช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้

ปัจจุบันแม้จะยังไม่สามารถรักษาโรคสมองเสื่อมให้หายขาดได้ ดังนั้นหากรู้สึกว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีภาวะสมองเสื่อม ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษา โดยเฉพาะภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากโรคติดเชื้อเช่น HIV หรือซิฟิลิส หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงทีอาจส่งผลให้อาการแย่ลงหรือเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนในระบบอื่นๆ ของร่างกายซึ่งอาจเสียชีวิตได้

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?