อาหารเสริมภูมิคุ้มกันเด็ก สารอาหารที่ช่วยให้ลูกสุขภาพดี

อาหารเสริมภูมิคุ้มกันเด็ก สารอาหารที่ช่วยให้ลูกสุขภาพดี

HIGHLIGHTS:

  • เด็กๆ จำเป็นต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพราะช่วยให้ร่างกายมีสารตั้งต้น เพื่อนำไปผลิตแอนติบอดีและเซลล์ต่างๆ สร้างภูมิต้านทานในร่างกาย อย่างไรก็ตาม หลังจากให้ลูกๆ ลองรับประทานอาหารใหม่ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการอย่างน้อย 3-5 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าลูกไม่แพ้อาหารชนิดนั้นๆ 
  • เด็กแรกเกิด – อายุ 6 เดือน อาหารที่สร้างภูมิต้านทานได้ดีที่สุด คือ นมแม่ 
  • อาหารเสริมภูมิคุ้มกันเด็ก ควรมีสารอาหารที่สร้างภูมิต้านทานให้กับเด็ก ได้แก่ สังกะสี วิตามินดี วิตามินซี วิตามินเอ ซีลีเนียม โปรตีน และธาตุเหล็ก 

เด็กหลายคนเจ็บป่วยง่าย โดยเฉพาะเมื่อเข้าโรงเรียน ขณะที่บางคนมีภูมิต้านทานโรคสูง ไม่ค่อยป่วย วิ่งเล่นออกกำลังกายได้เต็มที่ หนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเจริญเติบโตสมวัย คือ ภูมิคุ้มกันของเด็ก ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ การเจริญเติบโต ความแข็งแรง รวมถึงพัฒนาการและการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน  เพราะระบบภูมิต้านทาน เป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกาย ทำหน้าที่ต่อต้านและป้องกันเชื้อโรค  การมีภูมิคุ้มกันที่ดี จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อและการเจ็บป่วยได้ 

ภูมิต้านทาน หรือ ภูมิคุ้มกัน ทำงานอย่างไร

ภูมิคุ้มกัน หรือ ภูมิต้านทาน (Immune) คือ ระบบการทำงานของร่างกาย มีหน้าที่ปกป้องเซลล์ทุกส่วนให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ การอักเสบและการถูกทำลาย โดยกำจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย  ระบบภูมิคุ้มกัน เกิดจากการทำงานร่วมกันของหลายระบบภายในร่างกาย ทั้งอวัยวะ เซลล์  สารเคมี และโปรตีนชนิดต่างๆ  หากภูมิคุ้มกันอ่อนแอเนื่องจากระบบร่างกายทำงานผิดปกติ หรือมีพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับการติดเชื้อภายนอก จะเกิดการเจ็บป่วยและติดเชื้อได้ง่าย ต้องใช้ระยะเวลารักษานานกว่าปกติ รวมถึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายในอนาคต 

อาหารสร้างภูมิต้านทานให้เด็กๆ อย่างไร

วัยเด็ก เป็นช่วงวัยที่เกิดภาวะเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบภูมิต้านทานยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ การเสริมสร้างภูมิต้านทานในเด็กที่สำคัญ คือ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ จะช่วยให้ร่างกายมีสารตั้งต้น เพื่อนำไปผลิตแอนติบอดีและเซลล์ต่างๆ ในระบบภูมิต้านทานได้อย่างมีศักยภาพสมวัย 

อาหารที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย

เด็กควรรับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน ได้รับพลังงาน เสริมสร้างความแข็งแรง การเจริญเติบโตตามวัย  พัฒนาการ ความเข้าใจ และการเรียนรู้  โดยควรได้รับอาหารตามวัย ดังนี้

  • แรกเกิด- 6 เดือน ให้เด็กดื่มนมแม่เท่านั้น 
  • 6 เดือนขึ้นไป เริ่มให้เด็กทานอาหารอ่อนตามวัย  
  • 1-5 ปี 
    เด็กสามารถร่วมรับประทานกับครอบครัว  โดยเริ่มให้เด็กรับประทานอาหารที่หยาบขึ้น ข้าวมื้อละ 1 ทัพพีหรือ 5 ช้อนโต๊ะ เนื้อสัตว์ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะหรือไข่ 1 ฟอง สามารถรับประทานไข่ครึ่งฟองและเนื้อสัตว์ 1 ช้อนโต๊ะ 
    เด็กเล็กควรเริ่มหัดรับประทานผัก โดยเลือกผักสีอ่อน  เช่น ผักกาดขาว กวางตุ้ง บรอกโคลีประมาณครึ่งช้อนโต๊ะ เพิ่มน้ำมัน ในเด็กที่มีความจำเป็นต้องใช้พลังงาน  เพื่อสร้างเซลล์เส้นประสาทและสมอง แนะนำน้ำมันรำข้าวเพราะมีกรดไขมันจำเป็น คือ โอเมกา 3 และโอเมกา 6 ในอัตราส่วนที่นำไปใช้ได้สร้างเซลล์ประสาทและเซลล์สมอง 
    อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการ 3-5 วัน หลังจากให้ลูกๆ ลองรับประทานอาหารใหม่ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าลูกไม่แพ้อาหารชนิดนั้นๆ โดยสังเกตว่าลูกมีผื่นขึ้น หรือถ่ายเป็นมูกเลือดหรือไม่ 
  • 6 ปีขึ้นไป เป็นวัยเข้าเรียน สามารถรับประทานอาหารในโรงเรียนที่มีนักโภชนาการคอยดูได้

อาหารเสริมภูมิคุ้มกันเด็ก

นอกจากการรับประทานอาหารจะช่วยให้เด็กเจริญเติบโตตามวัยแล้ว  สารอาหารที่จำเป็นยังช่วยกระตุ้นภูมิต้านทาน ป้องกันเด็กๆ จากภาวะเจ็บป่วย โดยเฉพาะเด็กๆ วัยเรียนที่มักได้รับเชื้อโรคจากการไปพบเจอเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน โดยสารอาหารเสริมภูมิต้านทาน และ วิตามินเสริมภูมิคุ้มกันเด็ก   มีดังนี้

สังกะสี

สังกะสี เป็นแร่ธาตุที่สำคัญ เป็นตัวช่วยในเอนไซม์ต่างๆ ที่ใช้ในร่างกาย ช่วยในการทำงานของเม็ดเลือดขาว ถ้าขาดสังกะสีทำให้ภูมิคุ้มกันไม่ดี สังกะสีพบมากในสัตว์เนื้อแดง อาหารทะเล ไข่แดง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาว่าการเสริมสังกะสีหรือซิงค์ในเด็ก ทำให้เด็กสูงขึ้นได้ แต่ความสูงของเด็กไม่ได้ขึ้นกับสังกะสีอย่างเดียว ต้องขึ้นกับแคลเซียมและอะมิโนแอซิดหรือโปรตีนด้วย 

วิตามินดี 

วิตามินดี ช่วยควบคุมการทำงานของเม็ดเลือดขาว พบในแสงแดด สำหรับในอาหารมีในกลุ่มปลาทะเลน้ำลึก ไข่แดง ตับ เป็นต้น การให้เด็กวิ่งเล่นเป็นวิธีที่ทำให้เด็กได้รับวิตามินดีอีกทางหนึ่งเช่นกัน

วิตามินซี 

วิตามินซี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้ร่างกายแข็งแรง พบในผักใบสีเขียว และผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม ฝรั่ง สตรอว์เบอร์รี เนื่องจากวิตามินซีจะสูญเสียได้ง่าย เมื่อโดนความร้อนหรือแช่ในตู้เย็นเป็นเวลานาน ดังนั้น การปรับกระบวนการปรุง โดยนึ่งหรือผัดที่ใช้ระยะเวลาสั้นๆ  

วิตามินเอ

วิตามินเอช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยแหล่งอาหารที่ดีที่ร่างกายสามารถดูดซึมและใช้ประโยชน์ได้สูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง นม ผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น

ซีลีเนียม 

ซีลีเนียมช่วยต้านอนุมูลอิสระ ที่สำคัญกว่าวิตามินซี พบในธัญพืช สัตว์เนื้อแดง

โปรตีน 

โปรตีนช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย เสริมภูมิคุ้มกันการทำงานของเม็ดเลือดขาว ถ้าขาดโปรตีนเด็กมักป่วยบ่อย  เมื่อป่วยจะมีอาการรุนแรงและหายช้า 

ธาตุเหล็ก 

สัตว์เนื้อแดงที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ เนื้อหมู เนื้อไก่

เคล็ดลับ รับมือเด็กกินยาก

  • คุณพ่อคุณแม่หลายครอบครัวอาจกำลังประสบปัญหาเด็กเลือกกินหรือกินยาก ทำให้ร่างกายไม่สามารถได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอ  วิธีรับมือกับลูกกินยาก ควรทำดังนี้
  • อย่าให้ดื่มนมมากเกินไป เมื่อเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป อาหารหลัก คือข้าว ไม่ใช่นมอีกต่อไป เด็กๆ ควรรับประทานข้าวให้ครบ 3 มื้อ นมเสริมประมาณวันละ 2-3 กล่อง การดื่มแต่นมกล่องอาจทำให้ขาดวิตามินซี  เนื่องจากนมผ่านความร้อนสูง ซึ่งจะแสดงอาการคือเดินไม่ได้ เนื่องจากมีเลือดออกในข้อเข่า  
  • จัดระเบียบมื้ออาหารให้ดี มื้อแรกหลังตื่นนอน ควรให้เด็กรับประทานข้าว เว้นระยะสักพักจึงดื่มนม รวมถึงไม่ควรให้ดื่มนมหรือทานขนมก่อนมื้ออาหาร 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้หิวและพร้อมรับประทานข้าวมื้อต่อไป
  • จำกัดเวลาต่อมื้อ ไม่ควรปล่อยให้เด็กรับประทานอาหารเกินครึ่งชั่วโมง
  • ให้เด็กเรียนรู้พฤติกรรมการกินที่ดีต่อสุขภาพ เด็กใช้เวลาปรับตัวได้ไม่เท่ากัน บางคนใช้เวลา 3-4 สัปดาห์ ขณะที่บางคนอาจต้องใช้เวลานานถึง 1-2 เดือน 
  • ใจเย็นและให้เวลาเด็กเรียนรู้ คุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็นและให้เวลากับลูกกลุ่มเด็กเลือกกิน ลองป้อนสิ่งที่เด็กไม่ชอบซ้ำๆ 10-15 ครั้ง เนื่องจากเป็นธรรมชาติของเด็กที่ไม่คุ้นกับผิวสัมผัสหรือกลิ่นของอาหารใหม่ๆ 
  • สังเกตความชอบของลูก กรณีเด็กที่รับประทานแต่อาหารที่ชอบ คุณพ่อคุณแม่อาจให้ลองอาหารที่ไม่เคยรับประทานใน 10 นาทีแรก อีก 20 นาที หลัง จึงปล่อยให้รับประทานอาหารที่ชอบ
  • ให้เด็กดื่มน้ำเปล่า การดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำอัดลม จะทำให้เด็กติดหวาน เมื่อโตขึ้นอาจมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน 
  • ปรับพฤติกรรมครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นตัวอย่างให้ลูก หากไม่อยากให้ลูกกินหรือดื่มสิ่งใด คุณพ่อคุณแม่ก็ควรงดด้วยเช่นกัน หรือไม่มีอาหารชนิดนั้นติดบ้าน  
  • เลือกของว่างให้มีประโยชน์  จากขนมหวาน คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกเป็นขนมจีบ ซาลาเปา หรือเยลลี่ ลูกอมให้เปลี่ยนเป็นผลไม้ ไอศกรีมเปลี่ยนเป็นโยเกิร์ต ผลไม้แช่แข็ง หรือสมูทตี้แทน
  • มีข้อตกลง เช่น คุณพ่อคุณแม่อาจทำข้อตกลงกับลูกว่า หลังมื้ออาหาร สามารถกินขนมได้เล็กน้อย
  • อาหารแลกเปลี่ยน เพื่อลดความเบื่อหน่าย คุณพ่อคุณแม่สามารถปรับเปลี่ยนอาหารให้มีทางเลือกมากขึ้น เช่น คาร์โบไฮเดรต ข้าว 1 ทัพพี = ขนมปัง 1 แผ่น = ข้าวเหนียว ½ ห่อ มักกะโรนี บะหมี่ 1 ฝ่ามือ โปรตีน หมู ไก่ ปลา เต้าหู้
  • ชื่นชมเมื่อลูกรับประทานอาหารได้ดี ด้วยคำพูด หรือให้สติกเกอร์ เป็นรางวัล
  • เด็กโตให้มีส่วนร่วมในมื้ออาหาร เช่น ถือจาน จัดโต๊ะ 
  • ตกแต่งจานให้ดึงดูดเด็ก 
  • รับประทานอาหารบนโต๊ะกับครอบครัว พร้อมบรรยากาศที่ดี 
  • กรณีรับประทานอาหารนอกบ้าน ควรเลือกร้านที่สะอาด อาหารปรุงสด สุก สะอาด ปลอดภัยสำหรับเด็ก
     

อาหารเป็นสิ่งสำคัญ การมีโภชนาการที่ถูกต้องเหมาะสมจะทำให้เด็กมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เติบโตสมส่วน สมวัย พัฒนาได้เต็มศักยภาพ ถ้าเด็กได้รับพลังงานน้อย ขาดวิตามิน แร่ธาตุ คุณพ่อคุณแม่ควรปรับอาหารและพฤติกรรม กรณีไม่สามารถทำได้หรือเป็นกังวล คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกมาพบแพทย์ ตรวจร่างกายเพิ่มเติม หรือรับคำแนะนำที่เหมาะสม

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?