เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์และลดการแท้งบุตรด้วย Uterine Receptivity Test

เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์และลดการแท้งบุตรด้วย Uterine Receptivity Test

ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายที่นำมาใช้ในการรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยรวมแล้วนั้นเราเรียกเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในเรื่องนี้ว่า เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์หรือ ART (Assisted Reproductive Technology)

ซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ช่วยให้คู่สมรสได้มีบุตรสมดังความปรารถนา โดยเอาเชื้ออสุจิมาผสมกับไข่ข้างนอก เพื่อสร้างตัวอ่อนและย้ายกลับเข้าไปที่มดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ แต่การจะตั้งครรภ์นี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องของตัวอ่อนเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญไม่แพ้กันด้วยนั่นคือ ความพร้อมของเยื่อบุโพรงมดลูก ที่จะใช้เป็นที่ฝังตัวของตัวอ่อน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเยื่อบุโพรงมดลูกมีความพร้อม ครั้งนี้เราจึงขอพาทุกคนมาพบกับเทคนิคที่จะช่วยวิเคราะห์ความพร้อมของเยื่อบุโพรงมดลูกก่อนการฝังตัวที่เรียกว่า Uterine Receptivity Test มีอะไรน่ารู้บ้างไปเริ่มกันเลย

มาทำความรู้จักกับ Uterine Receptivity Test กัน

Uterine Receptivity Test คือ การตรวจความพร้อมของเยื่อบุโพรงมดลูกก่อนที่จะย้ายตัวอ่อนเข้ามาฝังตัวอยู่ที่โพรงมดลูก โดยการทดสอบนี้จะเป็นการดูความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก และวิเคราะห์ยีนที่เกี่ยวกับความพร้อมในการฝังตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกทั้ง 238 ยีนไปพร้อมๆ กัน

Uterine Receptivity Test มีกระบวนการอย่างไร

ก่อนที่จะทำความเข้าใจกระบวนการของ Uterine Receptivity Test ต้องทำความเข้าใจกระบวนการในเรื่องของเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์กันก่อนจะได้เข้าใจมากขึ้น ในกระบวนการของเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (ART) ที่มีการเอาเชื้ออสุจิมาผสมกับไข่ข้างนอก เพื่อสร้างตัวอ่อนและย้ายกลับเข้าไปที่มดลูกนั้น ระยะของตัวอ่อนที่นิยมย้ายกลับเข้าโพรงมดลูกคือ ระยะวันที่ 3 หรือวันที่ 5 หลังการเก็บไข่ ซึ่งทั้ง 2 ระยะนี้สามารถตั้งครรภ์ได้เช่นกัน แต่ถ้าสามารถเลี้ยงตัวอ่อนได้ถึงวันที่ 5 ซึ่งเป็นระยะที่เรียกว่า blastocyst คือระยะที่ตัวอ่อนสามารถฝังตัวได้เลยและเอาตัวอ่อนนี้ใส่กลับไปที่มดลูก โอกาสของการตั้งครรภ์สูงขึ้นจากเดิมถึงแม้จะย้ายเพียงหนึ่งตัวก็ตาม แต่การย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกแล้วจะเกิดการตั้งครรภ์หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ตั้งแต่เรื่องของความสมบูรณ์ของตัวอ่อน ความพร้อมของเยื่อบุโพรงมดลูก และอาจมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมอีก ในส่วนของความสมบูรณ์ของตัวอ่อนนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จะใช้วิธีใดในการคัดเลือกตัวอ่อน อาจเป็นการดูรูปร่างความผิดปกติของตัวอ่อน การตรวจโครโมโซมของตัวอ่อนทั้ง 24 คู่ หรือ ดูตัวสร้างพลังงานของตัวอ่อนว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ปานกลางหรือสูง ส่วนการตรวจความพร้อมของเยื่อบุโพรงมดลูกนั้น ปัจจุบันแพทย์เราจะใช้วิธีการทดสอบประเมินแบบ Uterine Receptivity Test โดยกระบวนการจะเริ่มพิจารณาตั้งแต่ความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก หากเยื่อบุโพรงมดลูกมีความหนามากกว่า 7 – 8 มิลลิเมตร ถือว่าเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกที่มีความสมบูรณ์ และจะพิจารณาควบคู่ไปกับลักษณะเฉพาะที่เป็นลักษณะพิเศษของเยื่อบุโพรงมดลูกด้วย ซึ่งการพิจารณาลักษณะเฉพาะนี้จะมีการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อของเยื่อบุโพรงมดลูกและนำเอาไปจัดเก็บไว้ในอุณหภูมิที่ต่ำประมาณ 4 – 8 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 4 ชั่วโมง จากนั้นก็จะมีการส่งต่อเนื้อเยื่อที่เก็บไว้นี้ไปทำการทดสอบที่ห้องแล็บต่อไป

Uterine Receptivity Test ดีอย่างไร

การตรวจความพร้อมของเยื่อบุโพรงมดลูก หรือ Uterine Receptivity Test นี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้น ซึ่งเราพบว่าผู้ที่ทำการตรวจดังกล่าว พบว่า Uterine Receptivity Test ผลผิดปกติ จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียงแค่ 10 – 15 % เท่านั้น แต่สำหรับผู้ที่เข้ารับการตรวจดังกล่าวพบว่า Uterine Receptivity Test ผลปกติ โอกาสในการตั้งครรภ์จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 50 % หรือมากกว่านั้นทันที และที่สำคัญมากกว่าคือเรื่องของการแท้ง การตรวจผลผิดปกติจะมีอัตราการแท้งบุตร100 % เลยทีเดียว

ใครบ้างที่ควรเข้ารับการตรวจแบบ Uterine Receptivity Test

ผู้ที่เหมาะสมที่จะเข้ารับการตรวจแบบ Uterine Receptivity Test ควรมีลักษณะดังนี้

  1.  ไม่ประสบผลสำเร็จในการรักษาภาวะการมีบุตรยากมาแล้ว ทั้งๆ ที่ตัวอ่อนมีความสมบูรณ์ คือทำการใส่ตัวอ่อนมาหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่ตั้งครรภ์
  2.  เป็นคู่สมรสที่มีอายุมาก เพราะคนที่มีอายุมากตัวอ่อนนั้นเริ่มมีจำกัด ดังนั้นการจะใส่ตัวอ่อนแต่ละครั้งก็จึงต้องพิจารณาความพร้อมของเยื่อบุโพรงมดลูกให้พร้อมที่สุดจริงๆ ก่อนแล้วจึงค่อยทำการใส่ตัวอ่อน ซึ่งตรงจุดนี้ Uterine Receptivity Test เข้ามาช่วยในเรื่องนี้ได้ดีมากทีเดียว
  3. ไม่ต้องการรักษานานและบ่อยครั้ง เพราะการเดินทางมารักษาแต่ละครั้งนั้นคนไข้มักจะมาพร้อมความกังวลใจและความเครียด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการรักษาเรื่องการมีบุตรยากแน่นอน อีกทั้งความเครียดมีผลต่อการตั้งครรภ์ด้วย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การตรวจความพร้อมของเยื่อบุโพรงมดลูกก่อนการฝังตัว หรือ Uterine Receptivity Test นี้ เป็นเทคนิคที่มีประโยชน์มาก ไม่น่ากลัวไม่ยุ่งยากซับซ้อน คุณจึงไม่ต้องวิตกกังวลใดๆ การตรวจทดสอบนี้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจหากคุณกำลังมีปัญหาเรื่องของการมีบุตรยาก ซึ่งคุณอาจรับไว้พิจารณาเป็นอีกหนึ่งทางในการแก้ปัญหาของคุณก็ได้

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?