TICS ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกติกส์ในเด็ก

TICS ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกติกส์ในเด็ก

Highlight:

  • Tics หรือ Tic disorder คืออาการกระตุกของกล้ามเนื้อในร่างกายส่วนต่างๆ แบบไม่ได้ตั้งใจ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย หรือ สารสื่อประสาทในสมอง  
  • เด็กๆ ส่วนมากมักจะมีอาการกล้ามเนื้อกระตุกในช่วงวัย 3 – 7 ปี อาการจะมากขึ้นเมื่อเด็กมีความเครียด อดนอน ร่างกายอ่อนแอ เหนื่อยและล้า หรืออาจเกี่ยวกับการอยู่ในสถานที่ที่แตกต่างกันไป มีอุณหภูมิร้อนหนาวมากเกินไป  
  • เด็กที่เป็นโรคกล้ามเนื้อกระตุก มักจะตรวจเจอโรคอื่นเพิ่มด้วย เช่น โรคสมาธิสั้น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า แพทย์จะรักษาร่วมกับโรคหรืออาการอื่นๆ เพราะความเครียดในตัวเด็กจะส่งผลให้โรคกล้ามเนื้อกระตุกมีอาการเพิ่มขึ้น 

TICS คืออะไร

ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกติกส์ (Tic disorder) คือการกระตุก ตามที่ต่างๆ ในร่างกาย โดยเกิดขึ้นแบบไม่ได้ตั้งใจ และควบคุมลำบาก ที่พบบ่อยคือ กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ลำคอ ไหล่ บางครั้งมีการออกเสียงที่ผิดปกติร่วมด้วย ในผู้ป่วยบางรายพบทั้งกล้ามเนื้อกระตุกและออกเสียงผิดปกติทั้งสองอย่างร่วมกัน อันจะส่งผลต่อบุคลิกภาพและความเชื่อมั่น หากโดนเพื่อนหรือคนรอบข้างล้อเลียน 

สาเหตุของภาวะกล้ามเนื้อกระตุกติกส์ (TICS)

ภาวะกล้ามเนื้อกระตุก ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย หรือ สารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง

ประเภทของกล้ามเนื้อกระตุกติกส์ มี 2 แบบ

  1. กล้ามเนื้อกระตุก (Motor tics) พบได้บ่อยในเด็ก เป็นการกระตุกที่เริ่มจากใบหน้า อาทิ กระพริบตารัวและถี่ ยักคิ้ว ย่นจมูก ทำปากขมุบขมิบ โดยมักจะเปลี่ยนที่กระตุกไปเรื่อยๆ ซ้ายบ้างขวาบ้าง ไม่เฉพาะเจาะจง บางคนถึงกับลามไปกระตุกที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น 
    • คอ โดยมักพบอาการ สะบัดคอ เอียงศีรษะ 
    • ไหล่/แขน มักพบอาการแขนที่แกว่งไปมา 
    • ขา มักพบอาการแกว่งขา หรือมีการกระดิกเท้า  
       
  2. อาการส่งเสียงผิดปกติ (Vocal tics) อาการนี้จะพบได้น้อยกว่าแบบแรก ที่กล้ามเนื้อตามร่างกายกระตุก มักพบเป็นอาการแบบกระแอม ไอ ส่งเสียงเหมือนอึกอักในคอ สะอึก มีอาการแบบสูดน้ำมูก หรือกระทั่งเด็กบางคนอาจส่งเสียงมาเป็นคำ ทั้งคำที่มีความหมายหรืออาจไม่มีความหมายใดๆ ก็ได้ 

เด็กอายุเท่าไหร่ ที่มักพบว่าเป็นภาวะกล้ามเนื้อกระตุกติกส์

เด็กๆ ส่วนมากมักจะมีอาการกล้ามเนื้อกระตุกในช่วงวัย 3 – 7 ปี โดยเด็กกลุ่มนี้จะมีทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัวว่ามีกล้ามเนื้อกระตุกหรือมีการเปล่งเป็นเสียงออกมา แต่อาการดังกล่าวไม่ได้เกิดลักษณะเดิมในทุกครั้ง จะเปลี่ยนตำแหน่งกล้ามเนื้อที่กระตุกหรือเปล่งเสียงไปเรื่อยๆ  โดยพบว่ามีอาการมากขึ้นเมื่อเด็กคนนั้นมีความเครียด อดนอน ร่างกายอ่อนแอ เหนื่อยและล้า หรืออาจเกี่ยวกับการอยู่ในสถานที่ที่แตกต่างกันไป มีอุณหภูมิร้อนหนาวมากเกินไป และมีอาการแบบเป็นๆ หายๆ  

พอเด็กโตเข้าสู่วัยรุ่นก็จะเริ่มจับอาการนำก่อนที่จะเกิดอาการกระตุกต่างๆ ดังกล่าวได้ โดยบางคนก่อนที่กล้ามเนื้อกระตุกหรือเปล่งเสียง จะมีสัญญาณบางอย่างบอกว่ากำลังจะมีอาการ เด็กจะสามารถควบคุมหรือกลั้นอาการกระตุกหรือส่งเสียงได้ แต่จะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก โดยทั่วไปเมื่ออายุเพิ่มขึ้นอาการของโรคจะค่อยๆ หายไปหรือลดลง ส่วนน้อยที่จะเป็นจนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่ไม่สามารถบอกช่วงอายุได้อย่างชัดเจน 

เด็กที่เป็นโรคกล้ามเนื้อกระตุกจะพบว่าเป็นโรคอื่นร่วมด้วยหรือไม่?

จากการศึกษาพบว่าเด็กที่เป็นโรคกล้ามเนื้อกระตุก จะตรวจเจอโรคอื่นเพิ่มด้วย เช่น โรคสมาธิสั้น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า 

การรักษาโรค TICS และการช่วยเหลือเด็กที่เป็นโรคกล้ามเนื้อกระตุก

  1. ปรับพฤติกรรม ฝึกและควบคุมอาการ  
    การรักษานี้ถือว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีในเด็กโต ที่มีอาการนำ แต่ต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมมือของผู้ปกครองและตัวเด็กเอง 
    • ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและบุคคลรอบข้าง อาการกล้ามเนื้อกระตุกหรือการส่งเสียงออกมาแบบไม่ตั้งใจนี้ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจหรือแกล้งทำ พ่อแม่หรือคนรอบตัวเด็กต้องเปิดใจให้กว้าง ไม่ต่อว่าตำหนิ ไม่ล้อเลียน ไม่ทักหรือห้ามใดๆ จนทำให้เด็กเครียด เพราะอย่างที่บอกว่าถ้ายิ่งเครียดอาการยิ่งเพิ่มมากขึ้น  
      ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติตัวต่อเด็กกลุ่มนี้ คือ อย่าแสดงกริยาต่างๆ ไม่ทัก ไม่ล้อ ไม่ต่อว่า เมื่อเด็กมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก แต่ให้หาสาเหตุที่อาจทำให้เด็กเครียดแล้วช่วยแก้ไข เช่น ถ้าเห็นเด็กมีอาการ ควรหาทางให้เด็กได้พักผ่อนหรือเบี่ยงเบนให้น้องทำกิจกรรมผ่อนคลาย ที่สำคัญควรปรึกษากุมารแพทย์  
      หากเด็กมีอาการที่โรงเรียน คุณครูก็ต้องทำความเข้าใจโรคนี้ด้วยเช่นกัน พ่อแม่อาจหาวิธีบอกหรือแจ้งผู้ปกครองในเบื้องต้น ว่าอาการของเด็กนั้นไม่ร้ายแรง ไม่ได้ติดต่อ ขอความร่วมมือว่าห้ามทัก ล้อเลียน กลั่นแกล้ง หรือกีดกันไม่ให้เข้ากลุ่ม หากพบว่าเด็กมีอาการ ให้พาเด็กไปพักผ่อน หรือหากิจกรรมผ่อนคลายให้เด็กทำ 
    • พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ให้เด็กทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายหนักและเหนื่อยเกินไป  
    • ขจัดความเครียดให้เด็ก ข้อนี้เป็นสิ่งแรกที่สำคัญที่สุด พยายามไม่ให้เด็กกลุ่มนี้เกิดความเครียด เพราะความเครียดมีผลต่ออาการกล้ามเนื้อกระตุก และที่สำคัญที่สุด ควรพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อหาแนวทางดูแลป้องกัน ที่มีประสิทธิภาพ 
  2. การรักษาด้วยยา  
    โดยปกติแล้วตัวโรคกล้ามเนื้อกระตุกจะมีอาการแบบเป็นๆ หายๆ อาการจะมาเป็นระยะ อาจไม่ต้องรักษาโดยใช้ยา แต่ถึงแม้ไม่ได้ส่งผลเสียกับร่างกาย ก็อาจส่งผลเสียและผลกระทบทางจิตใจ เพราะเพื่อนและคนรอบข้างล้อเลียนจนทำให้ต้องอาย  
    เด็กบางคนมีอาการมือสั่นหรือสะบัด จนเขียนหนังสือไม่ได้ หรือกระตุกและส่งเสียงจนเสียบุคลิกมากจนเกินไป เช่น อาการกระตุกหรือส่งเสียงออกมามากจนกลายเป็นการรบกวนชีวิตประจำวัน การกินยาจะเป็นการช่วยลดอาการกระตุกหรือส่งเสียงได้ โดยกินเป็นช่วงๆ ตามความรุนแรงของอาการตามแพทย์พิจารณา ไม่ต้องกินไปตลอด 
  3. รักษากับโรคที่ตรวจพบร่วม  
    การรักษาส่วนนี้ แพทย์จะรักษาร่วมกับโรคหรืออาการอื่นๆ เช่น เด็กที่พบโรคสมาธิสั้น โรควิตกกังวล โรคบกพร่องทักษะการเรียนเฉพาะด้าน เพราะเด็กกลุ่มที่พบโรคอื่นร่วม ความเครียดในตัวเด็กจะส่งผลให้โรคกล้ามเนื้อกระตุกมีอาการเพิ่มขึ้น 
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?