หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในนักกีฬา

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในนักกีฬา

HIGHLIGHTS:

  • ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติ ส่งผลต่อการบีบตัวและการเต้นของหัวใจ ทำให้ไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เพียงพอ จึงทำให้เกิดอาการเป็นลม หมดสติ
  • สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นในนักกีฬานักที่อายุน้อยกว่า 35 ปี ส่วนใหญ่มักเกิดจากความผิดปกติของหัวใจ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว ภาวะที่มีการนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ หรือความผิดปกติของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
  • สิ่งสำคัญที่ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คือ การตรวจคัดกรองโรคหัวใจอยู่เสมอ และการเตรียมความพร้อมในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งในส่วนของการซักซ้อมแผนการช่วยชีวิตและการทำ CPR รวมไปถึงอุปกรณ์ช่วยชีวิตอย่างเครื่องกระตุกหัวใจ AED

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (13 มิถุนายน 2021)  มีเรื่องช็อกวงการลูกหนังที่เกิดขึ้นในการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 ระหว่างทีมชาติเดนมาร์กกับฟินแลนด์ ซึ่งในระหว่างที่มีการแข่งขันอยู่ นักฟุตบอลกองกลางของทีมเดนมาร์ค Christian Eriksen หมดสติล้มลงกลางสนาม เรียกได้ว่ากรีดแทงความรู้สึกของแฟนบอลทั้งสองฝ่าย แต่โชคดีที่ Eriksen ก็ฟื้นมีสติขึ้นมาได้อีกครั้งจากการช่วยเหลือเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในสนาม และเจ้าหน้าที่ได้นำตัวส่งโรงพยาบาลในทันที

จะบอกว่าโชคดีก็ไม่น่าจะถูกต้องนัก แต่น่าจะเป็นผลของการตระเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดีของเจ้าหน้าที่และผู้จัดการแข่งขันเสียมากกว่า เรื่องนี้ก็ได้มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ในทางการแพทย์นั้น นายแพทย์นรศักดิ์ สุวจิตตานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจในนักกีฬา หรือ Sports Cardiologist มีคำอธิบายถึงเรื่องดังกล่าวไว้ ดังนี้

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คืออะไร

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติ จนทำให้หัวใจบีบตัวแบบไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่บีบตัว หรือหยุดเต้นโดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนโดยไม่จำเป็นต้องมีโรคประจำตัวอื่นๆ มาก่อน ภาวะนี้ส่งผลให้หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เพียงพอ จึงทำให้เกิดอาการเป็นลม หมดสติ

ในนักกีฬาที่กำลังเล่นกีฬาแล้วเกิดเป็นลม หมดสติกระทันหันนั้น มักเกิดจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นภาวะเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก ตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1:100,000 ซึ่งตัวเลขนี้ก็แตกต่างกันไปในงานวิจัยที่แตกต่างกัน

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

สาเหตุของภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อาจเกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวที่ส่งผลให้การนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ หรือมีความผิดปกติของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น ทั้งนี้ สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มตามช่วงอายุของนักกีฬา ดังนี้

1.กลุ่มนักกีฬาที่อายุน้อยกว่า 35 ปี

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นในนักกีฬากลุ่มนี้ ส่วนใหญ่มักเกิดจากความผิดปกติของหัวใจที่มีมาแต่กำเนิด ซึ่งอาจจะถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่ก็ได้ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว ภาวะที่มีการนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ หรือความผิดปกติของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น ในอดีตนั้นพบว่า สาเหตุหลักนั้นเกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว ซึ่งสุดท้ายแล้วจะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้การนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ส่งผลให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้

แต่ในการศึกษาในช่วงหลังพบสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นจากหัวใจหนาตัวน้อยลง อาจเป็นเพราะการตรวจคัดกรองโรคหัวใจในนักกีฬาถูกบรรจุเป็นภาคบังคับสำหรับนักกีฬาอาชีพที่แพร่หลายมากขึ้น ทำให้สาเหตุของการเสียชีวิตของนักกีฬาอายุน้อยในช่วงหลังๆ ตรวจไม่พบความผิดปกติของโครงสร้างของหัวใจ จึงถูกสรุปว่าการเสียชีวิตนั้นมีสาเหตุมาจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเฉียบพลัน (Sudden Arrhythmic Death Syndrome; SADS) มากขึ้นแทน

2.กลุ่มนักกีฬาที่อายุมากกว่า 35 ปี

สาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันที่อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ในคนกลุ่มนี้ จะมาจากเรื่องของเส้นเลือดหัวใจตีบมากกว่าความผิดปกติของโครงสร้างของหัวใจ ซึ่งสาเหตุของเส้นเลือดหัวใจตีบที่พบบ่อยนั้น ได้แก่ การมีภาวะไขมันในเลือดสูง หรือมีโรคร่วมอื่นๆ เช่น เบาหวาน หรือมีภาวะไตเสื่อม หรืออาจเกิดจากอุปนิสัยส่วนตัว เช่น สูบบุหรี่มาเป็นระยะเวลานานๆ การใช้สารเสพติด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สาเหตุอย่างภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเฉียบพลันก็ยังคงพบได้อยู่ แต่พบได้ในอัตราส่วนที่น้อยลงเมื่อเทียบกับกลุ่มนักกีฬาที่อายุน้อยกว่าข้างต้น

การป้องกันการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันขณะออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา

การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ มีส่วนที่สำคัญหลักๆ อยู่ 2 ประการ คือ

1.การตรวจคัดกรองโรคหัวใจ

ในวงการนักกีฬาอาชีพ การตรวจร่างกายนักกีฬาแบบละเอียดจะถูกตั้งไว้เป็นมาตรฐานของทีมที่ต้องทำเสมอ โดยเฉพาะช่วงก่อนเข้าฤดูกาลแข่งขัน ช่วงเวลาซื้อขายนักเตะ หรือนักกีฬาประเภทอื่นๆ โดยทั้งหมดมีขั้นตอนคร่าวๆ ดังนี้

1.1การซักประวัติ - ประวัติที่สำคัญที่จะต้องทราบเกี่ยวกับนักกีฬา ได้แก่

  • นักกีฬาเหล่านั้นเคยมีปัญหาหน้ามืด วูบ เป็นลมหมดสติ หรือใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจลำบากมาก่อนหรือไม่ ทั้งในเวลาปกติ เวลาออกกำลังกาย หรือช่วงหลังการออกกำลังกาย
  • ประวัติครอบครัว มีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือเสียชีวิตตั้งแต่อายุน้อยๆ (น้อยกว่า 50 ปี) หรือไม่
  • นักกีฬาเหล่านั้นเคยตรวจพบความผิดปกติด้านหัวใจจากการตรวจร่างกายจากที่อื่นมาก่อนหรือไม่

1.2การตรวจร่างกาย - หลังจากซักประวัติเรียบร้อยแล้ว เพื่อตรวจดูสภาวะต่างๆ ดังนี้

  • ตรวจดูความผิดปกติของความดันโลหิต และเสียงลิ้นหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจว่ามีลักษณะที่ชี้นำให้สงสัยภาวะหัวใจหนาตัว หรือการนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติหรือไม่
  • การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจเพื่อดูว่าการทำงานของหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test – EST) หรืออาจตรวจ CPET/VO2 max ว่ามีความผิดปกติของการเต้นของหัวใจขณะออกกำลังกายหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ยังไม่สามารถคัดกรองโรคหัวใจได้ 100% ดังนั้น การตรวจคัดกรองเป็นระยะๆ จึงยังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกรณีที่มีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้นร่วมด้วย ซึ่งอาจจะต้องทำซ้ำเร็วกว่าปกติ

ในกรณีของ Eriksen เนื่องจากเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพระดับชาติ มีแพทย์ประจำทีม ซึ่งน่าจะได้รับการตรวจร่างกายแล้วเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในทางการแพทย์ไม่มีอะไรแม่นยำ 100% จึงยังมีโอกาสเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้ หรือในบางกรณีที่ถึงแม้ว่าจะตรวจพบความผิดปกติแล้ว ตัวนักกีฬาเองก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าจะเลิกเล่นไปตลอดชีวิต หรือเล่นต่อไป ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวนักกีฬาเองก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้บนพื้นฐานการตัดสินใจของตัวเองและผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าของสโมสร หมอประจำทีม เป็นต้น

2.การเตรียมความพร้อมในสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Response Planning)

ทีมกีฬาอาชีพ สนามกีฬาในยุโรปส่วนมากจะมีแผนการ รองรับในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉินเสมอ ไม่ว่าจะเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ดังเช่นในกรณีนี้ หรือภาวะฉุกเฉินอื่นๆ เช่น สนามถูกวางระเบิด หรือไฟไหม้ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการเตรียมความพร้อมในกรณีนี้นั้นอยู่ในระดับที่ดีมาก เมื่อ Eriksen ล้มลง มีเพื่อนซึ่งเป็นกัปตันทีมเข้าไปประเมินอาการทันที พร้อมกับเรียกทีมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ให้เข้ามาถึงตัวและทำ CPR (Cardiopulmonary Resuscitation) รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมของเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) และถูกนำมาใช้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราการรอดชีวิตเพิ่มสูงขึ้น นอกจากการที่มีแผนการช่วยฟื้นคืนชีวิตที่ดีแล้วนั้น การซักซ้อมตามแผนเป็นประจำจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเอง และทำหน้าของตัวเองได้อย่างคล่องแคล่วและดีที่สุดเมื่ออยู่ในสถานการณ์จริง

จากเหตุการณ์นี้ จะเห็นได้ว่า 1) การคัดกรองโรคหัวใจนั้นมีความสำคัญ การที่เราออกกำลังกายอยู่เสมอไม่ได้หมายความว่าเราจะปลอดภัยจากโรค แต่การพบแพทย์เพื่อซักประวัติและตรวจร่างกาย ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ นั้นมีประโยชน์เสมอ หากตรวจเจอล่วงหน้าแต่เนิ่นๆ โรคบางโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถึงแม้ว่าบางโรคจะรักษาไม่ได้ แต่ก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงขึ้นมาได้ อีกข้อที่เห็นได้ชัดคือ 2) การเรียนรู้หลักการช่วยฟื้นคืนชีวิตเบื้องต้น (Basic Life Support:  BLS) นั้น มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากคนส่วนใหญ่สามารถประเมินและให้การช่วยเหลือเบื้องต้นได้ โอกาสที่คนที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจะรอดชีวิตได้ก็มีมากขึ้น

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?