“PGS” เทคโนโลยีใหม่ เพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ ลดเสี่ยงแท้ง

“PGS” เทคโนโลยีใหม่ เพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ ลดเสี่ยงแท้ง

HIGHLIGHTS:

  • การตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมก่อนการฝังตัว (PGS) ช่วยคลายกังวลเรื่องการแท้ง และช่วยให้ลูกน้อยในครรภ์แข็งแรงสมบูรณ์ ปลอดภัยจากโรคทางพันธุกรรม
  • การตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมก่อนการฝังตัว (PGS) ช่วยเพิ่มโอกาสให้คู่สมรสที่มีอายุมากและมีบุตรยากมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์สูงขึ้น

ด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หนุ่มสาวรุ่นใหม่จึงเลือกที่จะแต่งงานกันช้าลง

รวมถึงมีการวางแผนครอบครัวกันอย่างรอบคอบ ทำให้คู่สมรสหลายคู่พร้อมมีบุตรเมื่ออายุมาก ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้นจะทำให้การมีบุตรเป็นเรื่องยากขึ้น รวมถึงการตั้งครรภ์ในแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีจะส่งผลต่อความสมบูรณ์แข็งแรงของทารก ตลอดจนปัญหาระหว่างตั้งครรภ์อื่นๆ ที่อาจเกิดตามมา

ปัญหามีบุตรยากถูกแก้ด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted Reproductive Technology- ART) โดยนำเชื้ออสุจิจากคุณพ่อมาผสมกับไข่ของคุณแม่ภายนอกร่างกาย เพื่อสร้างตัวอ่อน จากนั้นจึงย้ายกลับเข้าไปที่มดลูกของคุณแม่อีกครั้งให้เกิดการตั้งครรภ์

ตรวจโครโมโซมก่อนตั้งครรภ์ คืออะไร

ทั้งนี้ด้วยเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้ามากขึ้น ยังมีนวัตกรรมการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมก่อนการฝังตัว (Preimplantation Genetic Screening : PGS) เพื่อช่วยให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่คลายกังวลเรื่องการแท้งระหว่างตั้งครรภ์ รวมถึงลูกน้อยในครรภ์จะแข็งแรงสมบูรณ์และปลอดภัยจากโรคทางพันธุกรรม

PGS คือการตรวจดูว่าเซลล์ของตัวอ่อนมีจำนวนโครโมโซมครบและมีความผิดปกติหรือไม่ เป็นการตรวจคัดกรองหาตัวอ่อนที่มีจำนวนโครโมโซมปกติก่อนใส่กลับไปที่โพรงมดลูกของคุณแม่เพื่อการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์ อีกทั้งยังสามารถตรวจดูเพศและความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อนได้อีกด้วย

PGS ดีอย่างไร

โดยปกติโครโมโซมของมนุษย์มีอยู่ 46 โครโมโซม (23 คู่) แบ่งเป็นโครโมโซมร่างกาย 22 คู่และโครโมโซมเพศ 1 คู่ ซึ่งในผู้หญิงที่มีอายุมากประสิทธิภาพการแบ่งตัวของเซลล์จะลดลง และมีอัตราการผลิตไข่ที่มีจำนวนโครโมโซมผิดปกติเพิ่มขึ้น จึงทำให้ประสบปัญหามีบุตรยาก ด้วยร่างกายมีกลไกธรรมชาติเพื่อป้องกันการฝังตัวของตัวอ่อนที่มีความผิดปกติของโครโมโซม ตัวอ่อนที่มีความผิดปกติมาก เช่น มีโครโมโซมเกินหรือขาดไป หรือทั้งเกินทั้งขาด ส่วนใหญ่จะไม่สามารถเจริญพัฒนาได้จนถึงระยะฝังตัว และถึงแม้จะเจริญจนฝังตัวเข้ากับมดลูกได้ก็ตามมักจะหยุดเจริญในขั้นต่อมา และแท้งไปในที่สุด

อย่างไรก็ตามความผิดปกติของโครโมโซมคู่สั้นๆ อาจไม่ทำให้เด็กในครรภ์เสียชีวิต และสามารถมีการพัฒนาจนคลอดออกมาได้ แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นดาวน์ซินโดรม (Down syndrome) ซึ่งการตรวจ PGS จะทำให้ทราบว่าโครโมโซมตัวไหนบ้างที่ผิดปกติ ซึ่งแพทย์สามารถคัดกรองได้ จึงช่วยเพิ่มโอกาสให้คู่สมรสที่มีอายุมากและมีบุตรยากมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์สูงขึ้น และช่วยให้เด็กที่จะคลอดออกมาแข็งแรงสมบูรณ์

PGS ตรวจอย่างไร

ในการตรวจ PGS จะใช้เทคนิคดึงเซลล์ตัวอ่อนออกมาวิเคราะห์ความผิดปกติของโครโมโซม การดึงเซลล์ตัวอ่อน ในปัจจุบันสามารถทำได้สองระยะคือ
1.เมื่อตัวอ่อนอายุได้ 3 วัน
2.เมื่อตัวอ่อนอายุได้ 5 วัน
ซึ่งจริงๆ แล้ว PGS สามารถนำมาพิจารณาวิเคราะห์โครโมโซมของตัวอ่อนได้ทุกคู่ แต่หลักๆ แล้ว จะพิจารณาไปที่โครโมโซม 3 คู่ คือ โครโมโซมคู่ที่ 21 คู่ที่ 18 และคู่ที่ 13 เมื่อทราบว่าโครโมโซมตัวอ่อนไหนบ้างที่ผิดปกติก็จะทำการคัดกรองออกไป ให้คงเหลือไว้แต่ตัวอ่อนโครโมโซมที่ดี จากนั้นก็จะใส่กลับไปที่โพรงมดลูกของคุณแม่อีกครั้ง เพื่อให้คุณแม่สามารถคลอดลูกที่เป็นปกติได้

ใครบ้างเหมาะสมที่จะตรวจ PGS

  • คู่แต่งงานที่มีบุตรยาก
  • สตรีที่มีอายุมากกว่า 35 ปี และต้องการมีบุตร
  • คู่แต่งงานที่มีประวัติการแท้งบุตรหลายครั้งโดยไม่ทราบสามาเหตุ
  • คู่แต่งงานที่เคยทำเด็กหลอดแก้วย้ายตัวอ่อน 2 ครั้ง ไม่ประสบผลสำเร็จ
  • คู่แต่งงานที่เคยมีประวัติการตั้งครรภ์บุตรหรือเนื้อเยื่อจากการแท้งที่โครโมโซมผิดปกติ

การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์มีความสำคัญมาก ซึ่งข้อมูลทางพันธุกรรมของคนไข้ที่ได้มาจะช่วยวางแผนเพื่อประเมินความเสี่ยงของการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมมายังลูก โดยเฉพาะในยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่แต่งงานช้าลง ทำให้ลูกเป็นโรคทางพันธุกรรมเพิ่มมากขึ้น หรือหากคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงและต้องการมีบุตรที่สมบูรณ์แข็งแรง และได้รับการตรวจแล้วว่าไม่มีโรคทางพันธุกรรม การเข้ารับการตรวจ PGS ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรพิจารณา อย่างน้อยก็ทำให้คุณมั่นใจได้มากขึ้นว่า อนาคตของเจ้าตัวน้อยที่กำลังจะเกิดมา จะมีโครโมโซมปกติอย่างที่คุณตั้งใจไว้

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?