รู้จักโรคปลายประสาทอักเสบ และ 6 วิธี ลดอาการปวดปลายประสาท

รู้จักโรคปลายประสาทอักเสบ และ 6 วิธี ลดอาการปวดปลายประสาท

Highlight

  • โรคเบาหวาน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคปลายประสาทที่พบได้บ่อยที่สุด  ผู้ป่วยโรคเบาหวานมากกว่า 50% มีโอกาสเป็นโรคปลายประสาทอักเสบ 
  • ผู้ที่เป็นโรคปลายประสาทอักเสบมักบรรยายความเจ็บปวดว่าคล้ายถูกเข็มแทง แสบร้อน หรือคล้ายแมลงไต่ ส่วนใหญ่อาการดีขึ้นเมื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง  
  • อาการของโรคปลายประสาทอักเสบ ดูเหมือนไม่รุนแรง แต่หากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้เกิดแผลโดยไม่รู้ตัว มีการติดเชื้อ รวมถึงการพลัดตกหกล้ม จากภาวะการทรงตัวผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บได้   

 ภาวะปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathy) เป็นโรคทางระบบประสาทส่วนปลาย ซึ่งเป็นผลมาจากความเสียหายต่อเส้นประสาทที่อยู่นอกสมองและไขสันหลัง อาจเกิดจากการบาดเจ็บ การติดเชื้อ ปัญหาการเผาผลาญ   การสัมผัสสารพิษ และสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือโรคเบาหวาน  ทำให้เกิดอาการอ่อนแรง ชา และปวด ซึ่งมักเกิดขึ้นที่มือและเท้า นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะและการทำงานของร่างกาย เช่น ระบบย่อยอาหาร การขับถ่ายปัสสาวะ และการไหลเวียนของเลือด

ผู้ที่เป็นโรคปลายประสาทอักเสบมักบรรยายความเจ็บปวดว่าคล้ายถูกเข็มแทง แสบร้อน หรือคล้ายแมลงไต่ ส่วนใหญ่อาการดีขึ้นเมื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง  
 

อาการของโรคปลายประสาทอักเสบ

เส้นประสาทส่วนปลายมีหน้าที่เฉพาะ ดังนั้นอาการจะขึ้นอยู่กับประเภทของเส้นประสาทที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้ 

  1. เส้นประสาทรับความรู้สึก (Sensory nerves)  เส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับผิวหนัง ที่ทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความเจ็บปวด การสั่นสะเทือน หรือการสัมผัส  
  2. เส้นประสาทสั่งการ (Motor nerves)  เส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อ ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ
  3. เส้นประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nerves) เส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับอวัยวะภายใน ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ความดันโลหิต การขับเหงื่อ อัตราการเต้นของหัวใจ การย่อยอาหาร และการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ
     

ปลายประสาทอักเสบ อาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • เริ่มมีอาการชา เหน็บ หรือรู้สึกเสียวที่เท้าหรือมือ ซึ่งสามารถลุกลามไปถึงขาและแขนได้
  • รู้สึกคล้ายถูกของมีคมทิ่มแทง หรือปวดแสบปวดร้อน
  • ไวต่อการสัมผัสมาก
  • รู้สึกปวดระหว่างทำกิจกรรมที่ไม่ควรทำให้เกิดอาการปวด เช่น ปวดเท้าเมื่อลงน้ำหนักหรือเมื่ออยู่ใต้ผ้าห่ม
  • เสียการทรงตัว และหกล้มง่าย
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • รู้สึกเหมือนสวมถุงมือหรือถุงเท้าทั้ง ๆ ที่ไม่ได้สวม 
  • เป็นอัมพาตหากเส้นประสาทสั่งการ ได้รับบาดเจ็บรุนแรง
  • แพ้ความร้อน
  • เหงื่อออกมาก หรือไม่สามารถขับเหงื่อได้
  • มีปัญหาลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ หรือระบบย่อยอาหาร
  • ความดันโลหิตลดลงทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืด

สาเหตุของโรคปลายประสาทอักเสบ

ภาวะปลายประสาทอักเสบ  เป็นความเสียหายของเส้นประสาทที่เกิดจากเงื่อนไขต่างๆ  ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงโรค ได้แก่ 

  • โรคภูมิต้านตนเอง  รวมถึงกลุ่มอาการของ โรคโจเกรน (Sjogren's syndrome) ลูปัส (Lupus) โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) กลุ่มโรคกิลแลง-บาร์เร (Guillain-barre syndrome) โรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง (Chronic inflammatory demyelinating polyneuropathy) และการอักเสบของผนังหลอดเลือด (Necrotizing vasculitis)
  • โรคเบาหวาน เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด  ผู้ป่วยโรคเบาหวานมากกว่า 50% มีโอกาสเป็นโรคปลายประสาทอักเสบ 
  • การติดเชื้อ ทั้งเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด เช่น โรคไลม์ (Lyme disease) โรคงูสวัด การติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-barr  virus) ไวรัสตับอักเสบบีและ ซี โรคเรื้อน โรคคอตีบ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี  
  • พันธุกรรม เช่น โรค Charcot-Marie-Tooth ซึ่งเป็นโรคทางระบบประสาทที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • เนื้องอกและมะเร็ง  ที่กระจายไปยังเส้นประสาทหรือกดทับเส้นประสาท  
  • ความผิดปกติของไขกระดูก รวมถึงโรคที่เกิดจากการสะสมโปรตีนในเลือดที่ผิดปกติ (monoclonal gammopathies)  โรคมะเร็งกระดูก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง  
  • โรคอื่นๆ ได้แก่ โรคไต โรคตับ ความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป(Hypothyroidism)
  • พิษสุราเรื้อรัง อาจนำไปสู่การขาดวิตามิน
  • การสัมผัสกับสารพิษ เช่น ตะกั่วและปรอท
  • ยาบางชนิด โดยเฉพาะยาที่ใช้รักษามะเร็ง (เคมีบำบัด)  
  • ภาวะบาดเจ็บที่กดทับเส้นประสาท จากอุบัติเหตุ หกล้ม หรือการเล่นกีฬา ที่สามารถทำลายเส้นประสาทส่วนปลาย  นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากแรงกดจากการเข้าเฝือกหรือใช้ไม้ค้ำยัน  
  • ภาวะขาดวิตามินบี 1 วิตามินบี  6 วิตามินบี 12 วิตามินอี และไนอาซิน ซึ่งมีความสำคัญต่อเส้นประสาท

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคปลายประสาทอักเสบ

  • เกิดบาดแผลบริเวณผิวหนัง เนื่องจากผู้ป่วยรู้สึกชา ส่งผลให้ไม่รู้สึกเจ็บจนเกิดแผลรุนแรงได้  
  • การติดเชื้อ  เมื่อเกิดบาดแผล อาจนำไปสู่การติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นผู้ป่วยควรดูแลบริเวณที่รู้สึกชาเป็นประจำและรักษาภาวะบาดเจ็บเล็กน้อยก่อนที่จะติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน
  • หกล้ม ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงและการสูญเสียความรู้สึกอาจส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุล หกล้มง่าย

การตรวจวินิจฉัยโรคปลายประสาทอักเสบ

แพทย์จะซักประวัติและอาการ จากนั้นตรวจร่างกายโดยเฉพาะบริเวณที่มีอาการ   รวมถึงการตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุ นอกจากนี้อาจมีการส่งตรวจเพิ่มเติม ดังนี้

  • ตรวจการทำงานของเส้นประสาท (NCV)  ด้วยการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า โดยนำขั้วไฟฟ้า (Electrode) ติดไว้บนผิวหนัง เพื่อวัดค่าสัญญาณความเร็วและความแข็งแรงของเส้นประสาท 
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG) โดยการสอดเข็มเข้าไปทางผิวหนัง เพื่อวัดค่าคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ อาจทำควบคู่ไปกับการตรวจการทำงานของเส้นประสาท  
  • เอกซเรย์ (X-Ray)
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์  (CT-Scan) 
  • เอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)  
  • ตรวจการทำงานของระบบประสาทอื่น ๆ  

การรักษาโรคปลายประสาทอักเสบ

การรักษาภาวะปลายประสาทอักเสบ มีเป้าหมายเพื่อบรรเทาอาการ โดยการรักษาโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุ ดังนี้

  • ยาบรรเทาปวด เช่น ยาลดการอักเสบ (NSAIDs) กรณีอาการไม่รุนแรง 
  • ยารักษาโรคที่มีส่วนประกอบของโอปิออยด์ (Opioid) ซึ่งเป็นยาที่สั่งโดยแพทย์เท่านั้น  ใช้รักษาในกรณีรักษาด้วยวิธีอื่น ไม่ได้ผล  
  • ยาใช้เฉพาะที่ เช่น ยาทาหรือยาแปะ เพื่อลดอาการปวด  
  • ใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเส้นประสาทผ่านทางผิวหนัง  (Transcutaneous  electrical nerve stimulation) เพื่อลดความเจ็บปวด โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 30 นาทีต่อวัน เป็นระยะเวลา 1 เดือน
  • การเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง (Plasmapheresis) เป็นการนำแอนติบอดี้และโปรตีนออกจากเลือด และนำเลือดที่ถูกกรองแล้วกลับเข้าไปในร่างกาย (บางกรณีอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย) 
  • การให้อิมมูโนโกลบูลิน (Intravenous immunoglobulin)   ผู้ป่วยจะได้รับโปรตีนในระดับสูงที่ทำหน้าที่เหมือนกับแอนติบอดี้ เพื่อยับยั้งระบบภูมิคุ้มกัน กรณีผู้ป่วยมีปัญหาการอักเสบ (บางกรณีอาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย)  
  • การผ่าตัด เพื่อลดแรงกดทับ กรณีผู้ป่วยมีสาเหตุจากการกดทับเส้นประสาท เช่น การกดทับจากเนื้องอก  
  • กายภาพบำบัด  เพื่อช่วยพัฒนาการเคลื่อนไหวของร่างกาย  รวมถึงใช้เครื่องช่วยพยุง ไม้เท้า นั่งรถเข็น  หรือเครื่องช่วยเดิน

6 วิธี ลดอาการปวดปลายประสาท

  1. รับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามิน เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืชไม่ขัดสี และโปรตีนไขมันต่ำ เพื่อให้เส้นประสาทแข็งแรง     
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  อย่างน้อย 30 -60 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์
  3. อาบน้ำอุ่น ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ลดอาการชา และความเจ็บปวดได้
  4. งดเว้นการเคลื่อนไหวบริเวณที่มีอาการ เพื่อลดอาการปวดเส้นประสาท  หากกลัวว่าจะเผลอ อาจใช้ผ้าพันแผลพันส่วนที่ปวด 
  5. เปลี่ยนท่าบ่อยๆ เนื่องจากปัญหาการกดทับของเส้นประสาท มีสาเหตุมาจากการเคลื่อนไหวท่าเดิมซ้ำๆ  
  6. หากอาการปวดรุนแรง ไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยวิธีอื่น อาจรับประทานยาแก้ปวด  ที่สามารถซื้อได้ตามร้านขายยา  เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพราะยาอาจส่งผลต่อร่างกายหรือโรคที่เป็นอยู่   

ภาวะปลายประสาทอักเสบ เป็นโรคยอดนิยมของคนในยุคดิจิทัล ที่ใช้เวลากับการนั่งท่าเดิมๆ ไปกับสมาร์ทโฟนมากถึงวันละ 7-8 ชั่วโมง  ด้วยพฤติกรรมการนั่งและใช้งานข้อมือซ้ำๆ อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดและชาตามมือ เท้า อาการของโรคปลายประสาทอักเสบ  ดูเหมือนไม่รุนแรง แต่หากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้เกิดแผลโดยไม่รู้ตัว มีการติดเชื้อ รวมถึงการพลัดตกหกล้ม จากภาวะการทรงตัวผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บได้

หากมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปลายประสาทอักเสบ ควรรับการตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา เพื่อลดความเสียหายของเส้นประสาทส่วนปลายที่อาจมีมากขึ้น

สำคัญที่สุด คือการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจส่งผลให้มีการกดทับเส้นประสาท   

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?