อาการลองโควิด (Long COVID) ที่อาจคาดไม่ถึง เหนื่อยเพลีย ผื่นแพ้ ผมร่วง หลงลืม

อาการลองโควิด (Long COVID) ที่อาจคาดไม่ถึง เหนื่อยเพลีย ผื่นแพ้ ผมร่วง หลงลืม

Highlight:

  • ผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 ร้อยละ 10-20 อาจมีภาวะลองโควิดได้ โดยอาการลองโควิดที่พบได้บ่อย เช่น เจ็บหน้าอกหรือใจสั่น หายใจไม่อิ่มหรือหายใจลำบาก ไอ ปวดศีรษะ สูญเสียการได้กลิ่นหรือรับรส ปวดตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ ปวดท้อง ท้องเสีย เจ็บคอ 
  • เชื้อโควิด-19 อาจทำลายเนื้อเยื่อตาข่ายป้องกันของสมอง ทำให้สารสื่อประสาทต่าง ๆ ผ่านเข้าออกสมองได้มากกว่าปกติ การแข็งตัวของเลือดที่เปลี่ยนแปลงทำให้เสี่ยงต่อการเกิดสมองขาดเลือดทำให้เกิดการหลงลืมได้ 
  • ภาวะลองโควิดยังไม่มีการรักษาแบบจำเพาะ แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ  โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นและหายได้ในช่วง 4-6 เดือน   

หลังการติดเชื้อโควิด-19 นอกจากอาการของระบบทางเดินหายใจที่พบได้บ่อยแล้ว หากมีอาการอื่น ๆ เช่น ผมร่วง ผื่นแพ้ หลงลืม ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจเป็นอาการของโรคโควิด-19 ในระยะยาว หรือที่เรียกว่า ลองโควิด  (Long COVID, Post-COVID conditions, Post-COVID syndromes, long-haul COVID-19)  

ลองโควิดคืออะไร?

ภาวะลองโควิด (Long COVID) คือ ภาวะที่ผู้ป่วยยังคงมีอาการผิดปกติหลังจากหายจากโรคโควิด-19 แล้ว โดยอาการมักเกิดหลังการติดเชื้อโควิด-19 4-12 สัปดาห์ขึ้นไป และยังคงมีอาการต่อเนื่อง โดยอาการและผลกระทบจากลองโควิดไม่สามารถอธิบายหรือวินิจฉัยด้วยภาวะอื่นได้ ภาวะลองโควิดอาจพัฒนาตั้งแต่ยังมีการติดเชื้อโควิด-19 หรือหลังจากหายจากโรค และสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้

ภาวะลองโควิดเกิดจากอะไร?

ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดเกี่ยวกับสาเหตุของภาวะลองโควิด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากรอยโรคที่หลงเหลือจากการติดเชื้อต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำงานผิดปกติไป หรือจากชิ้นส่วนของเชื้อไวรัสที่ยังตกค้างอยู่ในร่างกาย แม้จะไม่แสดงอาการแต่อาจกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เกิดการต่อต้านเชื้อ จนแสดงอาการอื่น ๆ ได้

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อภาวะลองโควิด?

ผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 ร้อยละ 10-20 อาจมีภาวะลองโควิดได้ ในบางงานวิจัยพบว่าผู้ป่วยถึงครึ่งหนึ่งมีอาการของภาวะลองโควิดอย่างน้อยหนึ่งอาการ โดยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อภาวะลองโควิดมากขึ้นได้แก่ 

  • ผู้ป่วยที่อยู่รักษาตัวในโรงพยาบาล 
  • ผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย 
  • ผู้ป่วยสูงอายุ 
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด เบาหวาน ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก 
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวด้านจิตใจ 

อาการลองโควิด

อาการลองโควิด ที่พบได้บ่อย เช่น  

  • เจ็บหน้าอก หรือ ใจสั่น  
  • หายใจไม่อิ่ม หรือ หายใจลำบาก  
  • อาการไอ  
  • ปวดศีรษะ  
  • สูญเสียการได้กลิ่น หรือ รับรส  
  • ปวดตัว  
  • ปวดกล้ามเนื้อ  
  • ปวดตามข้อ  
  • ปวดท้อง  
  • ท้องเสีย  
  • เจ็บคอ 

อาการลองโควิด อื่น ๆ ที่อาจพบได้ และอาจดูไม่สัมพันธ์กับการติดเชื้อโควิด-19

1. อาการเหนื่อยเพลีย  

สาเหตุ อาการเหนื่อยเพลียในผู้ป่วยลองโควิด อาจเกิดจากการที่ร่างกายมีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันมากขึ้นเพื่อตอบสนองกับเชื้อไวรัสในช่วงที่ติดเชื้อและยังคงมีผลต่อเนื่องในระยะยาว  

การที่เชื้อไวรัสมีผลโดยตรงต่อระบบกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการอักเสบและการทำลายกล้ามเนื้อบางส่วนจนทำให้เกิดการเหนื่อยเพลียได้ รวมไปถึงการที่ไม่ค่อยมีกิจกรรมทางสังคมและการออกกำลังในช่วงการระบาดของโรค ก็เป็นสาเหตุของการเหนื่อยเพลียที่มากขึ้นได้ 

อาการ ผู้ป่วยถึงครึ่งหนึ่งที่หายจากโรคโควิด-19 ยังคงมีอาการเหนื่อยเพลียเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจเหนื่อยง่าย  อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลียมากจนไม่สามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันตามปกติได้ หรือไม่สามารถออกแรงได้เท่าเดิม แม้การตรวจสมรรถภาพทางร่างกายจะเป็นปกติ 

การดูแลรักษา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกภาวะทางร่างกาย เช่น การติดเชื้อในระบบประสาทที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือรอยโรคในระบบทางเดินหายใจและหัวใจออกก่อน  

ภาวะเหนื่อยเพลียยังไม่มีการรักษาโดยวิธีจำเพาะ แนะนำให้ผู้ป่วยเลือกทำกิจกรรมที่อาจใช้แรงมาก ในช่วงเวลาที่ร่างกายสดชื่นและมีกำลังที่สุดของวัน ทำกิจกรรมเท่าที่สามารถทำได้ ไม่ฝืนออกแรงมากไปและค่อย ๆ ทำกิจกรรมหรือออกแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับเพื่อให้เวลาแก่ร่างกายในการฟื้นตัวต่อโรค  

2. ปัญหาด้านความจำ สมาธิ อาการหลงลืม 

สาเหตุ การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจมีผลต่อระบบประสาทและสมองได้ เชื้อไวรัสอาจทำลายเนื้อเยื่อตาข่ายป้องกันของสมอง ทำให้สารสื่อประสาทต่าง ๆ ผ่านเข้าออกสมองได้มากกว่าปกติ การแข็งตัวของเลือดที่เปลี่ยนแปลงทำให้เสี่ยงต่อการเกิดสมองขาดเลือด ซึ่งถ้าหากเกิดในบริเวณที่ไม่ใหญ่มากนัก อาจมีอาการไม่ชัดเจนนอกจากการหลงลืม ส่งผลถึงความจำ หรือสมาธิ  

การต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในหอผู้ป่วยวิกฤต ไม่ได้ติดต่อกับสังคมหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย หรือเกิดภาวะความเครียดจากการผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-traumatic stress disorder) ซึ่งส่งผลต่อความคิด ความจำ และมีอาการหลงลืมเพิ่มมากขึ้นได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ 

อาการ ผู้ป่วยอาจมีปัญหาด้านความคิด ความจำ คิดได้ช้า รู้สึกเหมือนสมองตื้อ อาการหลงลืม ขาดสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่เคยทำได้นาน ๆ อาจมีปัญหาด้านการนอน เช่น การนอนไม่หลับ 

การดูแลรักษา ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณารักษาร่วมกับจิตแพทย์และนักจิตบำบัด ในต่างประเทศพบว่าผู้ป่วยบางรายมีอาการดีขึ้นหลังการใช้การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นไฟฟ้าอย่างอ่อน  

3. ผมร่วงหลังโควิด 

สาเหตุ อาการผมร่วมหลังติดเชื้อโควิด-19 อาจเกิดจากการติดเชื้อโดยตรง โดยเชื้อจะทำปฏิกิริยากับร่างกายทำให้เกิดการปล่อยสารก่อการอักเสบมากขึ้น ส่งผลต่อระบบภายในร่างกาย ทำให้เส้นผมหลุดร่วงได้ หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความเครียดทั้งจากการติดเชื้อและการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ผลข้างเคียงจากการใช้ยา หรือการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอในช่วงที่มีการติดเชื้อ 

อาการ มีผมร่วงโดยจะร่วงทั่วบริเวณศีรษะ โดยไม่มีแผลเป็น โดยจะร่วงมากกว่า 100 เส้นต่อวัน ในผู้ป่วยบางรายอาจร่วงมากถึง 1,000 เส้นต่อวัน 

การดูแลรักษา ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดูแลสุขภาพ ลดปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ อาจปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้การรักษา เช่น ยาไมน็อกซิดิล (Minoxidil) 

4. ผื่น หรือ สัมผัสผิดปกติที่ผิวหนัง 

อาการ รู้สึกผิดปกติที่ผิวหนัง โดยอาจมีอาการคล้ายเข็มเล็ก ๆ ทิ่ม ชา คัน ตามผิวหนัง โดยเป็นมากที่บริเวณที่รับน้ำหนักนาน ๆ หรือปลายมือ ปลายเท้า อาจมีผื่นซึ่งมีลักษณะเป็นผื่นแดง คล้ายเส้นใยเล็ก ๆ หรือตาข่าย อาจบวมแดง มีตุ่มน้ำ หรือมีอาการคันคล้ายผื่นลมพิษ มักพบมากที่บริเวณนิ้วเท้า มือ เท้า 

การดูแลรักษา ควรรักษาความสะอาด ล้างมือบ่อย ๆ ทาครีมบำรุงผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อแยกโรคทางระบบประสาทและผิวหนัง รวมถึงผลข้างเคียงของโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่นเบาหวาน หรือเมื่อมีอาการหายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก  ร่วมด้วย 

อาการลองโควิดในเด็ก และวัยรุ่น

อาการลองโควิดสามารถพบได้ในเด็กและวัยรุ่น แม้จะเกิดได้น้อยกว่าในวัยผู้ใหญ่ โดยอาการที่พบได้บ่อยคือเหนื่อยเพลีย ปวดศีรษะ ปัญหาด้านการนอน ไม่มีสมาธิ ปวดกล้ามเนื้อและปวดตามข้อ ไอ ในเด็กอาจเกิดภาวะ Multisystem Inflammatory Syndrome in Children Associated with COVID-19 (MIS-C) ซึ่งทำให้มีการอักเสบทั่วร่างกาย อาจมีอาการคล้ายไข้คาวาซากิ ซึ่งมีอาการไข้สูง ผื่นตามร่างกาย ตาแดง ปากแดง อีกภาวะหนึ่งที่ควรระวังเป็นพิเศษคือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เด็กหรือวัยรุ่นที่เป็นนักกีฬาควรได้รับการตรวจอย่างละเอียดหลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 ก่อนกลับไปเล่นกีฬาอย่างหนัก 

อาการลองโควิด จะหายหรือไม่

อัตราและระยะเวลาการหายจากภาวะลองโควิดยังอยู่ในระหว่างการศึกษา เนื่องจากผู้ป่วยหลายรายที่มีอาการไม่ได้ปรึกษาแพทย์ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นและหายได้ในช่วง 4-6 เดือน

ลองโควิดรักษาอย่างไร

การรักษาภาวะลองโควิดยังไม่มีการรักษาแบบจำเพาะ แพทย์จะให้การรักษาตามอาการร่วมกับการปรึกษาสหสาขาวิชาชีพ เช่น นักกายภาพบำบัด นักอาชีวบำบัด นักจิตบำบัด รวมถึงการวินิจฉัยหาโรคหรือภาวะอื่นที่อาจเป็นสาเหตุ ในบางงานวิจัยพบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยที่มีภาวะลองโควิดทำให้อาการของลองโควิดลดลงได้ 

การป้องกันภาวะลองโควิด

วิธีการป้องกันภาวะลองโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดคือการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยการฉีดวัคซีนป้องกัน สวมใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง เลี่ยงบริเวณแออัด รวมถึงดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล 

ควรทำอย่างไรหากมีอาการลองโควิด

หากเคยติดเชื้อโควิด-19 แล้วยังมีอาการดังกล่าวที่สงสัยว่าจะเป็นภาวะลองโควิด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ให้การวินิจฉัย และรักษา บรรเทาอาการได้

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?