คันยุบยิบตามผิวหนัง เรื่องเล็กๆ ที่ห้ามละเลย

คันยุบยิบตามผิวหนัง เรื่องเล็กๆ ที่ห้ามละเลย

 Highlight: 

  • อาการคันส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน  การนอน  ซึ่งการเกาเป็นเพียงวิธีบรรเทาอาการคันได้ระยะหนึ่ง แต่หากเกาอย่างรุนแรงหรือเกาเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิว รวมถึงอาจส่งผลต่อบุคลิกภาพได้  
  • อาการคันยุบยิบตามผิวหนังนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคทางผิวหนัง โรคภูมิแพ้ โรคหรือภาวะเจ็บป่วยบางชนิด โรคทางจิต หรือแม้แต่ภาวะผิวแห้ง แตก เป็นขุย ก็สามารถทำให้เกิดอาการคันได้ 
  • การบรรเทาอาการคันเบื้องต้น สามารถทำได้โดยการประคบเย็น หรือทายาเพื่อบรรเทาอาการคัน หากยังไม่หาย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินอาการ หาสาเหตุและรักษาอย่างถูกต้อง 

อาการคันสามารถเกิดขึ้นได้ตามผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย อาจคันเพียงบริเวณเล็กๆ หรือคันทั่วร่างกาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่นๆ  เช่น ผิวแห้ง ผิวแตก เป็นขุย มีผื่นแดง ผื่นนูน หรือตุ่ม แผลพุพอง  

แม้การเกาจะช่วยบรรเทาอาการคันได้บ้าง แต่หากเกาต่อเนื่องรุนแรงก็อาจส่งผลให้ผิวหนังระคายเคือง เป็นแผล และติดเชื้อได้ การหาสาเหตุจะช่วยแก้ปัญหาอาการ “คัน” ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด  

สาเหตุของอาการคัน

อาการคันตามผิวหนังอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนี้ 

  • โรคทางผิวหนัง เช่น ลมพิษ กลาก เกลื้อน สะเก็ดเงิน หิด อีสุกอีใส ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ภาวะผิวแห้ง โรคผื่นระคายสัมผัส เป็นต้น 
  • โรคทางระบบประสาท เช่น โรคเบาหวาน  โรคงูสวัด  โรคเส้นประสาทอักเสบ เป็นต้น 
  • โรคหรือภาวะเจ็บป่วยบางชนิด  เช่น โรคตับอักเสบเรื้อรัง ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ  ไตวายเรื้อรัง  โลหิตจาง มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง  หรือการมีพยาธิบางชนิดในร่างกาย 
  • โรคทางจิต เช่น  โรคซึมเศร้า  โรคย้ำคิดย้ำทำ   
  • ระคายเคืองจากแมลงสัตว์กัดต่อย 
  • ระคายเคืองจากภูมิแพ้ เช่น แพ้สารเคมี แพ้สารประกอบในสบู่ ผงซักฟอก และเครื่องสำอาง   
  • ผลจากการใช้ยาบางชนิด เช่น  ยาปฏิชีวนะ  ยากันชัก ยาแก้ปวดบางชนิด  
  • การตั้งครรภ์ อาการคันมักเกิดบริเวณหน้าท้องหรือต้นขา กรณีผู้ป่วยโรคผิวหนัง อาจส่งผลให้อาการคันแย่ลงในช่วงตั้งครรภ์  

อาการคันที่ควรพบแพทย์

  • อาการคันยุบยิบตามตัว ไม่มีผื่น คันทั่วทั้งร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ   
  • อาการคันไม่ดีขึ้นนานกว่า 2 สัปดาห์   
  • คันมากจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน   
  • พบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด  

การวินิจฉัยและการรักษาอาการคัน

การวินิจฉัยอาการคัน แพทย์เริ่มจากการตรวจร่างกายและซักประวัติเพื่อหาสาเหตุและสาเหตุร่วมด้านอื่นๆ ก่อน เช่น การมีผื่นแดงนูนร่วมด้วย จากนั้นอาจมีการส่งตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจภูมิแพ้ผิวหนัง หรือตรวจการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ     

การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ  กรณีอาการคันไม่รุนแรง สามารถบรรเทาอาการคันได้เอง  ดังนี้ 

  • กดหรือตบเบาๆ บริเวณที่มีอาการคันแทนการเกา 
  • ประคบเย็น บริเวณที่มีอาการคัน  
  • รับประทานยาแก้แพ้   
  • ทายาบรรเทาอาการคัน 

การป้องกันอาการคัน

อาการคันอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุสามารถป้องกันได้ และบางสาเหตุเกิดจากผลกระทบของโรคและความเจ็บป่วย ซึ่งต้องพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี   

สำหรับอาการคันที่ไม่ได้เกิดจากโรคหรือความเจ็บป่วยร้ายแรง อาจป้องกันได้ ดังนี้ 

  • หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดอาการคัน เช่น สารเคมี สบู่หรือผงซักฟอกบางชนิด   
  • ไม่อาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน ซึ่งส่งผลให้ผิวแห้ง 
  • ทาครีมบำรุงผิว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น และช่วยให้ผิวไม่แห้งจนเกินไป  อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง 
  • พยายามหลีกเลี่ยงการเกา เนื่องจากอาจทำให้หนังถลอกหรือเกิดการติดเชื้อ  
  • ผู้ป่วยโรคต่างๆ ควรรับประทานยาและปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำ 

ภาวะคันจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง  (Atopic Dermatitis) เป็นโรคผิวหนังที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใหญ่ 2-5% และเด็กมากถึง 10-20% ทั่วโลก เป็นภาวะเรื้อรังในระยะยาว โดยมีลักษณะเฉพาะเริ่มจากผิวแห้ง เป็นขุย ระคายเคือง แม้ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ การดูแลผิวอย่างสม่ำเสมอก็ยังสามารถปกป้องผิวพรรณของเราได้เช่นกัน 

อาการของภาวะคันจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

 โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง  เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่ส่งผลต่อผิวหนังบนใบหน้าและร่างกายของคนทุกวัย ทั้งทารก เด็ก และผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็กวัยก่อน 5 ปี และอาจคงอยู่ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่  

 อาการคันจากภาวะผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยทั่วไปคืออาการผิวแห้ง เป็นขุย และระคายเคือง บางรายอาจมีอาการเรื้อรังเป็นๆ หายๆ หรืออาจหายไปหลายปีแล้วกลับมาเป็นอีกได้   

นอกจากนี้ อาจมีอาการแสดงอื่นๆ ได้ ดังนี้ 

  • ผิวเป็นสะเก็ด  หรือตุ่มพองขนาดเล็ก อาจติดเชื้อรอบแผล   
  • คันตามผิวหนัง โดยเฉพาะช่วงกลางคืน 
  • ทารกต่ำกว่า 1 ปี มักเป็นผื่นบริเวณแก้ม แขน  ขา  และในบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อม   
  • เด็กวัยหัดเดินและก่อนวัยเรียน ส่วนใหญ่มีผื่นขึ้นบริเวณข้อต่อกระดูก เช่น ข้อมือ ข้อศอก หัวเข่า ข้อเท้า รวมถึงอวัยวะเพศ อาจมีลักษณะแข็ง หนา หยาบ และทำให้รู้สึกไม่สบายตัว     
  • เด็กวัยเรียน มักปรากฎผื่นหนาบริเวณข้อศอกและหัวเข่า รวมถึงเปลือกตา ใบหู และศีรษะ มักพบรอยเกา ซึ่งผื่นผิวหนังในช่วงวัยเรียนอาจหายได้เองเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น   
  • ผู้ใหญ่ พบผื่นผิวหนังหลายรูปแบบ อาจเกิดขึ้นเฉพาะส่วนหรือทุกส่วนพร้อมกัน ส่วนใหญ่เป็นผื่นแห้ง หนา และแข็ง

สาเหตุของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

จจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้ สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากพันธุกรรมโรคภูมิแพ้ เช่น โรคหืด และภูมิแพ้อากาศ โดยมีปัจจัยร่วม เช่น ภูมิต้านทานโรคต่ำ หรือภาวะร่างกายขาดโปรตีนที่ช่วยให้ผิวหนังกักเก็บน้ำ จนเกิดผิวหนังแห้ง แดง คัน ระคายเคือง และเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในที่สุด   

ทั้งนี้ อาการคันและผื่นแดงอาจถูกกระตุ้นจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ดังนี้ 

  • สารเคมีในโลชั่นหรือสบู่ 
  • สารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสร เชื้อรา และขนสัตว์ 
  • อากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่อากาศแห้ง 
  • การอาบน้ำร้อน ทำให้ผิวแห้ง คัน และระคายเคือง  
  • อาหารบางชนิด เช่น ไข่ ถั่วลิสง นม เป็นต้น 
  • ความเครียด 

การป้องกันโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

  • ทาครีมบำรุงผิว  ให้ความชุ่มชื้นผิว ช่วยให้ผิวไม่แห้งจนเกินไป   
  • เลือกใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว ไม่มีน้ำหอม (No Perfumed) ไม่ใส่สาร Preservative หรือมีคำว่า No Preservative/For Sensitive Skin 
  • เมื่อกลับจากข้างนอก ควรอาบน้ำล้างเหงื่อหรือฝุ่นออก เปลี่ยนเสื้อใหม่  
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น   
  • ใส่เสื้อผ้าที่นุ่มสบาย  ไม่รัดรูปจนเกินไป   
  • ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ และปิดบริเวณที่เป็นผื่นด้วยผ้าพันแผล  รวมถึงสวมถุงมือก่อนนอน เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการเผลอเกาขณะนอนหลับ 
  • หลีกเลี่ยงสารก่ออาการแพ้ต่างๆ ที่อาจทำให้อาการแย่ลง 
  • ผ่อนคลายความเครียด เพราะความเครียดอาจส่งผลให้อาการแย่ลง 
  • ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นภายในบ้าน 
  • หากพบอาการไม่ทุเลาลง  ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการรักษา   

อาการคันสามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน  การนอน  ซึ่งการเกาเป็นเพียงวิธีบรรเทาอาการคันได้ระยะหนึ่ง แต่หากเกาอย่างรุนแรงหรือเกาเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิว เกิดอาการรุนแรงแทรกซ้อน รวมถึงอาจส่งผลต่อบุคลิกภาพได้  ดังนั้น หากรู้สึกคันโดยไม่ทราบสาเหตุ และแก้ไขเบื้องต้นแล้วแต่ไม่ได้ผล ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุ และรักษาอย่างถูกต้อง ไม่ควรซื้อยารับประทานเองเด็ดขาด

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?